คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
--------------------------------------------------------------------------------
ในขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ เมื่อเวลาประมาณ 11.10 น. ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 สถานการณ์การชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ก็เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก โดยโฆษกรัฐบาลได้ออกมาแถลง 3 ข้อ คือ (1) นายกรัฐมนตรีเข้าใจ และเห็นใจผู้คัดค้านที่รักจังหวัดกระบี่ (2) จากการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน สรุปว่า พี่น้องกระบี่ไม่ได้กังวลว่าจะใช้ไฟฟ้าชนิดใด (อันนี้ผมยังสงสัย) แต่กังวลเรื่องกระบวนการจัดทำอีไอเอ และอีเอชไอเอ และ (3) ให้ กฟผ.จัดทำกระบวนการในข้อที่สองใหม่ ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้แถลงต่อในที่เดียวกันว่า ถือเป็นการ “Set Zero” และคณะรัฐมนตรีจะประกาศยกเลิกอีไอเอเดิมที่ทำมาแล้ว (แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้ชำนาญการ) ในวันอังคารถัดไป การชุมนุมก็สลายตัวไป
นี่เป็นสถานการณ์ล่าสุด อย่างไรก็ตาม ผมยังมีข้อสงสัยในข้อสรุปการหารือของผู้บริหารกระทรวงพลังงานที่บอกว่า ชาวบ้านไม่กังวลในตัวเชื้อเพลิง (ผมยังจับคำพูดไม่ตรงนัก) ซึ่งประเด็นนี้เป็นหัวใจหลักบทความของผมในวันนี้ และผมก็ขอเขียนต่อไปจากที่ได้เริ่มต้นเขียนไปบ้างแล้วครับ
ในที่สุดคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก็ได้มีมติให้เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ (17 ก.พ.2560) ผมเองในฐานะที่ได้ติดตามเรื่องพลังงานอย่างใกล้ชิดมานานร่วม 20 ปี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการไตรภาคีที่ท่านนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ศึกษาเรื่องดังกล่าว ผมได้ข้อสรุปว่า รัฐบาลนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านหัวหน้ารัฐบาลเองได้ทำให้ประเด็นข้อเรียกร้องของ “กลุ่มปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” ให้เกิดความสับสนในความเข้าใจของสาธารณะเข้าลักษณะ “ถามไปไหนมา ตอบสามวาสองศอก” โดยผมมีเหตุผล และรูปธรรม 2 ข้อดังต่อไปนี้ครับ
หนึ่ง กลุ่มปกป้องอันดามันจากถ่านหิน หรือชาวบ้านไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า แต่เขาคัดค้านตัวเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ คือ ถ่านหินซึ่งก่อมลพิษ ทำลายอาชีพการประมง ทำลายการท่องเที่ยว ตลอดจนก่อให้เกิดโลกร้อนที่ท่านนายกฯ ได้ลงนามกับประชาคมโลกว่าจะช่วยกันลดอุณหภูมิของโลกลงมาไม่ให้สูงเกิน 1.5-2.0 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
แต่ท่านนายกฯ ได้ชี้แจงหลังการประชุม กพช.ว่า เป็นการตัดสินใจ “เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะผลประโยชน์ของประชาชนในภาคใต้ ซึ่งเคยมีปัญหาไฟฟ้าดับมากสุด 3 ชั่วโมง... แล้ววันหน้าไม่มีใครรับผิดชอบตนก็ต้องรับผิดชอบ ถ้า 20 ปีข้างหน้ามีปัญหาเรื่องไฟฟ้าแล้วตนไม่คิดจะเดินหน้าต่อรัฐบาลก็จะลำบาก จึงขอร้องบรรดามวลชนที่ต่อต้านให้เข้าใจด้วย สื่อมวลชนก็ต้องช่วยตนด้วย บางเรื่องจะติติงตนก็ว่ามาเถอะ แต่ยืนยันว่าชี้แจงได้หมด” (โพสต์ทูเดย์)
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วนะครับว่า ชาวบ้านเขาคัดค้านตัวเชื้อเพลิงที่เป็นถ่านหินที่ประเทศเราไม่ได้มีเป็นของตนเอง ต้องเสียเงินไปซื้อข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากต่างประเทศ แต่ท่านนายกฯ ไปตอบเรื่องไฟฟ้าดับ ไฟฟ้าไม่พอใช้
เหตุการณ์ไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ที่ท่านนายกฯ กล่าวถึงนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่ท่านไม่ได้บอกว่ามันดับเพราะอะไร ความจริงแล้วเกิดขึ้นจากมีการซ่อมบำรุงระบบสายส่งที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระหว่างที่กำลังซ่อมอยู่ได้เกิดฟ้าผ่าสายส่งอีกวงจรหนึ่ง ทำให้ไฟฟ้าจากภาคกลางไม่สามารถไหลไปสู่ภาคใต้ได้ (ซึ่งประเทศไทยเราก็มีสายส่งในลักษณะนี้เชื่อมต่อถึงกันทุกภาค ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และจำเป็นในการจัดการระบบไฟฟ้า ภาคไหนๆ ก็ต้องรับไฟฟ้าจากอื่นทั้งนั้น แต่มาอ้างกันเฉพาะกรณีภาคใต้เท่านั้น)
หลังจากเกิดฟ้าผ่าแล้ว กว่าไฟฟ้าจะดับทั้งภาคใต้ก็ใช้เวลานานถึง 1 ชั่วโมง 28 นาที ซึ่งนานพอที่พนักงานการไฟฟ้าฯ จะแก้ปัญหาได้ เช่น เตือนให้ประชาชนช่วยกันลดการใช้ไฟฟ้าลง หรือตัดไฟฟ้าให้ดับเป็นหย่อมๆ ได้ แต่ด้วยกฎระเบียบที่รวมศูนย์อยู่ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จึงไม่สามารถจะทำได้
ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น จังหวัดสงขลา ในวันนั้นมีกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ (วันนี้มี 1,600 เมกะวัตต์) ทั้งๆ ที่ชาวสงขลาใช้อยู่เพียง 350 เมกะวัตต์ แต่ต้องดับหมดทั้งจังหวัด เพราะกฎระเบียบของทางราชการ ไม่ใช่เพราะว่าไฟฟ้าไม่พอใช้
นอกจากนี้ ท่านยังได้กล่าวในต่างกรรมต่างวาระว่า “ภาคใต้ไฟฟ้าติดๆ ดับๆ” ซึ่งก็เป็นความจริงอีกเช่นกัน แต่มันดับเพราะสาเหตุหลัก 3 ประการ คือ (1) ต้นไม้ล้มทับ ภาคใต้มีต้นไม้มากและลมแรง (2) งูเขียวเลื้อยขึ้นหม้อแปลงไฟฟ้า และ (3) อุปกรณ์โดนน้ำเค็มกัดกร่อน
ท่านนายกฯ บอกว่า “ยืนยันว่าชี้แจงได้หมด” แต่ที่ท่านชี้แจงมามันไม่ตรงประเด็นที่ชาวบ้านเรียกร้อง และมันก็ไม่ถูกต้องตามหลัก “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” นะครับ
เรียนตามตรงว่า ผมเห็นใจ และเข้าใจท่านนายกฯ เพราะท่านไม่จำเป็นต้องรู้ละเอียดทุกเรื่อง แต่ท่านไม่รู้ตัวหรือครับว่า คนที่ป้อนข้อมูลให้ท่านเป็นใคร มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไร และท่านควรจะเลือกฟังใคร
ท่านเคยพูดผ่านสื่อว่า “ถ้าไม่ให้ผมฟังพวกข้าราชการแล้วจะให้ผมฟังใคร”
ผมว่าถ้าท่านแก้ปัญหาตรงนี้ไม่ได้และยังมีความคิดแบบนี้อีก “เราก็จบเห่กันแล้ว”
สอง ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ได้รับรายงานจากคณะกรรมการไตรภาคีว่าอย่างไร
ผมเองนอกจากจะเป็นกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ที่ท่านนายกฯ แต่งตั้งแล้ว ยังเป็นอนุกรรมการในชุดศึกษาศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนในจังหวัดกระบี่ด้วย ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังครับ
ข้อสรุปของคณะอนุฯ ได้ความว่า จังหวัดกระบี่มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 1,700 เมกะวัตต์ ในขณะที่ทั้งจังหวัดมีความต้องการเพียงประมาณ 140 เมกะวัตต์เท่านั้น
คณะกรรมการชุดใหญ่ได้นำคณะศึกษาข้อมูลจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งหนึ่งในจังหวัดกระบี่ พบว่า โรงงานแห่งนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 58 ล้านหน่วยต่อปี โดยสามารถผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมงติดต่อกัน 300 วันหรือ 82% ของเวลาทั้งปี ผมเข้าใจว่าสูงกว่าโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะเสียอีก แต่ถูกทางราชการจัดให้เป็นประเภทไม่มั่นคง
ผมถามถึงจุดคุ้มทุน ผู้จัดการโรงงานบอกว่า “ประมาณ 5-7 ปี หากเกินกว่านี้ทางธนาคารเขาไม่ให้กู้หรอก” นอกจากนี้ เขายังบอกว่า สามารถแบ่งรายได้จากการผลิตไฟฟ้ามาซื้อผลผลิตปาล์มในราคาสูงกว่าท้องตลาดถึง 10 สตางค์ต่อกิโลกรัม
เท่าที่ผมทราบ และจากรายงานของรายการ “เปิดปม” ของไทยพีบีเอส บอกว่ายังมีโรงงานในลักษณะนี้อีกเกือบ 20 โรง บางโรงสร้างเสร็จแล้ว แต่ทางการไฟฟ้าฯ ไม่รับซื้อไฟฟ้าจนต้องเผาก๊าซมีเทนทิ้งคิดเป็นมูลค่าปีละกว่า 2 พันล้านบาท
ราคาค่าไฟฟ้าที่โรงงานนี้ได้รับก็เท่ากับราคาค่าไฟฟ้าขายปลีกบวกกับอีก 50 สตางค์ต่อหน่วย รวมแล้วก็ประมาณ 4 บาทกว่าต่อหน่วย เท่าที่ผมศึกษาเพิ่มเติมหากมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของหม้อน้ำ ด้วยเชื้อเพลิงที่เท่ากันก็สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้อีก
จากรายงานเรื่อง “Rethinking Energy 2017” ซึ่งจัดทำโดยองค์กรที่มีชื่อเสียงระดับผู้ก่อตั้งได้รับรางวัลโนเบลทางเลือกบอกว่า ในประเทศบราซิลไฟฟ้าที่ผลิตจากชีวมวล ราคาหน่วยละ 2.34 บาท (ดูรูปประกอบพร้อมราคาไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นราคาที่ชนะการประมูล และชนะโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วย)
ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าปริมาณไฟฟ้าจะเพียงพอเหรอ เอาอย่างนี้ครับ ประเทศเยอรมนี โรงไฟฟ้าชีวมวลมีขนาดเล็กๆ รวมกันประมาณ 7 พันเมกะวัตต์ ในปี 2016 ผลิตไฟฟ้าได้ 51,700 ล้านหน่วย คิดเป็นประมาณ 3 เท่าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะทั้งหมดรวมกัน
มาถึงเรื่องกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ หลังจากการทำงานมาได้ 9 เดือน ประธานในที่ประชุมได้บอกว่า “เราไม่มีเวลา เราจำเป็นต้องสรุปแล้ว” พร้อมกับแจกกระดาษให้คนละแผ่น เพื่อให้กรรมการติ๊กว่าจะเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ แล้วส่งให้ประธานไปสรุปเอง
กรรมการท่านหนึ่งตั้งคำถามเชิงไม่เห็นด้วยว่า “จะให้กรรมการมาสรุปร่วมกันไหม” ประธานตอบว่า “ไม่ ผมจะสรุปเองแล้วนำเสนอท่านนายกฯ หลังจากนั้นจะมาเรียนให้คณะกรรมการทราบ”
จนป่านนี้คณะกรรมการไตรภาคีก็ยังไม่ได้ทราบว่า ประธานคณะกรรมการฯ สรุปว่าอย่างไร
ท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาเอาเองนะครับว่า เรื่องสำคัญขนาดนี้คนที่ท่านนายกฯ แต่งตั้งมาแก้ปัญหาของชาติบ้านเมืองเขาทำงานกันอย่างนี้เหรอ ผมเองได้เขียนบทความเรื่องนี้ และได้ฝากเรียนถึงท่านนายกฯ แล้วด้วย ไม่ทราบว่าได้ถึงมือท่านหรือไม่
โดยสรุป ชาวบ้านเขาคัดค้านเรื่องถ่านหิน (แต่ล่าสุด ผู้บริหารของกระทรวงพลังงานยังบอกว่าชาวบ้านไม่ได้กังวลเรื่องนี้ ซึ่งผมเห็นต่างครับ) แต่กระบวนการตอบสนองของรัฐบาลได้ถูกบิดประเด็นไปให้สังคมสับสน เบลอ และพร่ามัวไปหมด ผมเข้าใจว่าวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่ปลาหมึกยักษ์ใช้ในการต่อสู้ และหลบหนีศัตรูด้วยการพ่นสารพิษสีดำออกมาเพื่อการอำพรางตนเองแล้วหลบหนี
ผมพอใจระดับหนึ่งกับการตัดสินใจครั้งล่าสุดของรัฐบาลที่ให้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เริ่มต้นศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกันใหม่
เพื่อนอาจารย์ผมท่านหนึ่งที่เคยศึกษาในประเทศอังกฤษ เคยเล่าให้ฟังเมื่อหลายสิบปีก่อน ว่า ในประเทศอังกฤษเขาให้ฝ่ายคัดค้านเป็นผู้คัดเลือกคนที่จะมาทำอีไอเอเองโดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินสนับสนุนให้ โดยฝ่ายเจ้าของโครงการก็ยังคงทำเองด้วย เรื่องนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจครับต้องศึกษาให้ชัดเจนอีก
แต่ผมแน่ใจว่า จากประสบการณ์ที่เพื่อนผมหลายคนได้เล่าให้ฟังว่า ถ้าผู้ศึกษาเขียนรายงานไม่ถูกใจเจ้าของโครงการ เจ้าของโครงการก็ไม่จ่ายค่าศึกษาให้ หรือบางครั้งได้ส่งผลการศึกษาไปแล้ว แต่เจ้าของโครงการไม่นำไปใส่ในรายงาน ถ้าเขาไม่ถูกใจ เรื่องราวในวงการนี้มันเป็นเช่นนี้แหละครับ
เรื่องนี้ต้องใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรมของนักวิชาการ และของท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อร่วมกันปฏิรูปกระบวนการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพกันใหม่ครับ