xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ถกรับประชุมไทย-เขมร มีลงนามเอกสาร 4 ฉบับ ก่อนพบ ผช.รมต.มะกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
นายกรัฐมนตรีถกเตรียมพร้อมประชุมร่วมไทย-กัมพูชา กระชับความร่วมมือ วันแรกถกทวิภาคี วันที่ 2 ประชุม ครม. ลงนามเอกสาร 4 ฉบับ ก่อนมีคิวพบผู้ช่วย รมต.มะกัน หารือความสัมพันธ์ที่กำลังปรับตัวดีขึ้น ประเด็นที่มีบทบาทร่วมกัน

วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมเตรียมพร้อมให้การต้อนรับ และจัดการประชุมร่วมไทย-กัมพูชา อย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างวันที่ 18-19 ธ.ค.นี้ โดยสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะนำคณะเดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐบาล ถือเป็นการเยือนประเทศไทยครั้งที่ 2 ในรอบ 15 ปี เพื่อเป็นการกระชับความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง โดยในวันแรกจะเป็นการประชุมหารือระดับทวิภาคี และ การประชุมหารือกับนักธุรกิจไทยและกัมพูชาทั้งคณะ ส่วนในวันที่ 2 จะเป็นประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 2 โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามเอกสาร 4 ฉบับ ได้แก่ แถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้นในด้านสำคัญต่างๆ บันทึกความเข้าใจเพื่อการพัฒนาจุดผ่านแดนแห่งใหม่ที่บ้านหนองเอี่ยน จ.สระแก้วในฝั่งไทย และที่สตึงบท จ.บันเตียเมียนเจย ในฝั่งกัมพูชา บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการ ความร่วมมือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน และความร่วมมือด้านการจ้างงาน และข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงาน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้การจ้างงานมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ขจัดปัญหาการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์

จากนั้นเวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรีเปิดโอกาสให้นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าเยี่ยมคารวะที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสนำคณะผู้แทนสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมหารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 5 ในวันนี้ ภายใต้บริบทความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกาที่กำลังปรับตัวดีขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายต้องการเพิ่มปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในกรอบทวิภาคี เช่น การทหารและความมั่นคง การค้าและการลงทุน การศึกษา วิทยาศาสตร์ และพลังงาน รวมทั้งประเด็นความร่วมมือไทย-สหรัฐอเมริกาที่ขยายผลออกไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ เช่น ด้านสาธารณสุข การต่อต้านการค้ามนุษย์และการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ การป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ และการรักษาสันติภาพ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะได้หารือในประเด็นในภูมิภาคที่ไทยและสหรัฐอเมริกาสนใจและสามารถมีบทบาทร่วมกัน เช่น ประเด็นทะเลจีนใต้ ความร่วมมือในเวทีอาเซียน ความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และพัฒนาการในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น