รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย “สมเด็จฯ ฮุน เซน” มาเยือนประเทศไทย ประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย - กัมพูชา อย่างไม่เป็นทางการ 18 - 19 ธ.ค. นี้ พร้อมเตรียมลงนามเอ็มยู ก่อสร้างสะพานและถนนพรมแดนบ้านหนองเอี่ยน - สตึงบท สร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และความร่วมมือด้านแรงงาน ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน และขจัดปัญหาค้ามนุษย์
วันนี้ (15 ธ.ค.) พล.ต.วีรชน สุคนธปฎิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย - กัมพูชา อย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างวันที่ 18 - 19 ธ.ค. นี้ โดยสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ในฐานะแขกของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการเยือนประเทศไทยครั้งที่สองในรอบ 15 ปี เพื่อเป็นการกระชับความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยในวันแรกจะเป็นการประชุมหารือระดับทวิภาคี กับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี และในวันเดียวกัน สมเด็จฮุน เซน จะประชุมหารือกับนักธุรกิจไทยและกัมพูชาทั้งคณะ และในวันที่สองจะเป็นประชุม ครม. ร่วมกัน โดยจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจสำคัญ 4 ฉบับ
ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. รับทราบ เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก สะพานข้ามพรมแดนและถนนเชื่อมโยง ณ จุดผ่านแดนบ้านหนองเอี่ยน - สตึงบท และเห็นชอบ เรื่อง ขออนุมัติลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย - กัมพูชา ครั้งที่ 2 สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นการระบุข้อริเริ่ม ประเด็นผลักดันและแนวทางความร่วมมือในอนาคตระหว่างไทย กับกัมพูชา โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำร่างแถลงการณ์ ซึ่งประกอบด้วย 1. ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง 2. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ 3. ความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม และการศึกษา รวมถึงการจัดตั้งกลไกต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าว
นอกจากนี้ ครม. เห็นชอบ เรื่อง บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และ (ร่าง) ข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และอนุมัติให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงานเป็นผู้ลงนามของผู้แทนฝ่ายไทยในการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement)ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งกัมพูชา อีกทั้ง ครม. เห็นชอบ ร่าง MOU และ ร่าง Agreement ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา มีสาระสำคัญดังนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับเดิม ซึ่งได้มีการลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2546 ให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน อำนวยความสะดวกในการจ้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส คำนึงถึงสิทธิของแรงงาน และขจัดปัญหาการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน