xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.แย้มโมเดลเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อม 3 ขั้น จากอำเภอสู่จังหวัดแล้วไประดับประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุดม รัฐอมฤต
โฆษก กรธ.เผยอาจใช้โมเดลเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อม 3 ระดับ จากอำเภอสู่จังหวัดแล้วไประดับประเทศ พร้อมเริ่มเกราะป้องกันองค์กรอิสระ ห้าม ครม.เสนอแก้กฎหมายองค์กรอิสระฝ่ายเดียว

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะ กรธ.ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการได้มาซึ่ง ส.ว.ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เบื้องต้นมีข้อเสนอว่าการเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อมจะดำเนินการเป็นระดับ คือ 1. ระดับอำเภอ 2. ระดับจังหวัด และ 3. ระดับประเทศ โดยการเลือก ส.ว.จะเริ่มการเลือกกันในอำเภอต่างๆ เมื่อได้รายชื่อมาแล้วจะมาเลือกกันในระดับจังหวัด ก่อนส่งรายชื่อเข้าส่วนกลางและให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกมาทำการเลือกกันเอง

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนของการเลือกกันเองมีความคิดกันว่าควรมีมาตรการไม่ให้เกิดการฮั้วกันของผู้สมัคร โดยอาจจะให้ผู้สมัครไม่สามารถเลือกบุคคลที่อยู่ในกลุ่มสังคมเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ผู้สมัคร ส.ว.ในกลุ่มสตรีจะเลือกผู้สมัครในกลุ่มตัวเองไม่ได้ แต่ต้องเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่น เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ถือว่าเป็นข้อสรุปของคณะ กรธ. เพราะต้องนำมาหารือกันอีกครั้ง

“ส่วนตัวคิดว่าการให้เลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอขึ้นมา ไม่ได้เป็นการทำให้เป็น ส.ว.เลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญในอดีต เพราะในขั้นตอนสุดท้ายของการเลือกกันเอง ไม่มีทางที่จะได้รู้ว่าบุคคลที่มาจากจังหวัดไหนบ้างจะได้เป็น ส.ว.”

โฆษก กรธ.กล่าวว่า ขณะเดียวกัน คณะ กรธ.ได้พิจารณาเพิ่มหลักการเกี่ยวกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทั้งนี้คณะ กรธ.เห็นว่าควรให้ ส.ว.มีอำนาจกลั่นกรองและยับยั้งร่างกฎหมายเท่านั้น หลักการลักษณะนี้จะทำให้ขั้นตอนการพิจารณากฎหมายในวุฒิสภาจะลดลง เหลือเพียง 2 วาระ จากเดิมที่วุฒิสภาจะพิจารณาร่างกฎหมาย 3 วาระ โดย 2 วาระดังกล่าว คือ การพิจารณาเป็นรายมาตราภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว และ การให้ความเห็นชอบ ซึ่งเท่ากับว่า ส.ว.ไม่ต้องลงมติในวาระที่ 1 ว่าจะรับหลักการหรือไม่ นอกจากนี้ ส.ว.ยังคงมีอำนาจแก้ไขถ้อยคำตามในร่างกฎหมายตามเดิม แต่จะไม่สามารถแก้ไขเกินกว่าหลักการที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบมาได้

“เราเชื่อว่าจะช่วยให้การทำงานของ ส.ว.เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะเท่าที่ผ่านมาวุฒิสภาจะดำเนินการตรวจสอบล่วงหน้าก่อนอยู่แล้วจะมีร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาบ้าง ก่อนมอบหมายให้คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาไปดำเนินการศึกษาและทำความเห็นส่งมาให้วุฒิสภาพิจารณา จึงเห็นว่าวุฒิสภาไม่มีความจำเป็นที่ต้องพิจารณาในวาระที่ 1”

นายอุดมกล่าวว่า ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ คณะ กรธ.เห็นว่าหากจะมีการดำเนินการแก้ไขกฎหมายขององค์กรใด ผู้เสนอร่างกฎหมายจะต้องเป็นคณะรัฐมนตรี(ครม.) ร่วมกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวเท่านั้น โดย ครม.จะไม่สามารถเสนอร่างกฎหมายนั้นได้เพียงลำพัง เพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงองค์กรอิสระ จากนั้นจะดำเนินการส่งให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ แต่เมื่อทั้งสองสภาพิจารณาเสร็จแล้ว องค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะต้องทำความเห็นว่ามีประเด็นใดในร่างกฎหมายบ้างที่อาจเป็นอุปสรรคในการทำงาน หากเห็นว่ามีปัญหาจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป แต่ถ้าไม่มีประเด็นปัญหาก็ไม่จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การลดขั้นตอนของการพิจารณากฎหมายในวุฒิสภาเหลือแค่ 2 วาระ จะมีผลให้วุฒิสภาเป็นตรายางหรือไม่ นายอุดม กล่าวยืนยันว่าวุฒิสภาจะไม่ได้มีสภาพเป็นตรายาง เพราะอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายยังมีอยู่ เช่น หากเกิดกรณีที่วุฒิสภาเห็นว่าร่างกฎหมายใดมีความบกพร่องก็ดำเนินการแก้ไข หรือลงมติไม่ให้ความเห็นชอบในขั้นตอนสุดท้ายได้

ต่อข้อถามว่าหากเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ หมายความว่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ให้ความเห็นและวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ นายอุดมกล่าวว่า หากเป็นกรณีของการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ กรธ.ยังไม่ได้มีข้อสรุปว่าจะให้องค์กรใดมาเป็นผู้วินิจฉัยในขั้นตอนสุดท้าย แต่จะไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น