การประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เสนอสโลแกน “ร่วมคิด ร่วมร่าง ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญใหม่” พิจารณาหลักการศาลปกครองและศาลทหาร ส่วนศาลรัฐธรรมนูญให้อำนาจชี้แจงข้อขัดแย้งทุกเรื่อง ไม่เขียนข้อห้ามกรรมการรัฐวิสาหกิจในองค์กรอัยการ แต่ไม่ทราบไปอยู่ในกฎหมายลูกหรือไม่ อีกด้านไม่ตั้งองค์กรใหม่ถอดถอนแทน ส.ว. คาดคดีทุจริตให้ ป.ป.ช. และคุณสมบัติให้ศาลรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (20 พ.ย.) ที่รัฐสภา นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าในการประชุม กรธ. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาสโลแกนของการร่างรัฐธรรมนูญโดยภาษาไทยใช้คำว่า “ร่วมคิด ร่วมร่าง ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญใหม่” โดยใช้ถ้อยคำเป็นภาษาอังกฤษ คือ “Thinking, Drafting and Building the new Constitution together” เพื่อเผยแพร่ต่อไป
ประการต่อมา ยังได้พิจารณาในหมวดของศาล ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลรัฐธรรมนูญ โดยในส่วนของศาลปกครองและศาลทหาร ได้มีการพิจารณาหลักการ การแต่งตั้งโยกย้าย การเลื่อนเงินเดือนหรือตำแหน่ง รวมถึงการบริหารงานบุคคลและตุลาการปกครอง ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกกำหนด ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กรธ. ซึ่งเบื้องต้นจะให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการชี้แจงข้อขัดแย้งทุกเรื่อง ดังนั้น กรธ. เห็นว่า ควรจะมีการเพิ่มคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้เข้มข้นขึ้น
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม กรธ. ยังได้พิจารณาหลักการของหมวด องค์กรอัยการ เพื่อให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้พนักงานอัยการกระทำ หรือดำรงตำแหน่งใด ซึ่งขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม หรือทำให้มีส่วนได้เสียในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ในร่างฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่มีการเขียนล็อกเอาไว้ว่า ห้ามอัยการเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ดังเช่นรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เขียนกำหนดเอาไว้ แต่ข้อห้ามดังกล่าวจะไปปรากฎอยู่ในกฎหมายลูกหรือไม่ ยังไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของอัยการที่จะไปเป็นผู้ออกแบบเพื่อให้หน่วยงานของตัวเองมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการพูดถึงเรื่ององค์กรที่จะเข้ามาทำหน้าที่ถอดถอนแทน ส.ว. ชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการตั้งองค์กรใหม่ แต่จะใช้กลไกที่มีอยู่เดิมในรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ ซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบ และตัดสินในเรื่องคุณสมบัติของนักการเมืองที่เข้าข่ายพ้นจากตำแหน่ง โดย กรธ. จะไปกำหนดว่าคดีในลักษณะใดที่จะเข้าข่ายให้องค์กรใดเป็นผู้พิจารณาให้พ้นจากตำแหน่ง ตัวอย่างเช่น หากเป็นคดีทุจริต ก็เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. พิจารณาให้พ้นจากตำแหน่ง ถ้าเป็นคุณสมบัติ ก็อาจให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย เป็นต้น