อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เสนอบรรจุสภาพลเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งเป็นอำนาจอธิปไตยที่ 4 กำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจน เชื่อแก้ปัญหาวิกฤตบ้านเมืองได้ ฉะ สปช.-สปท.ความคิดวนในอ่างไม่เป็นรูปธรรม
วันนี้ (27 พ.ย.) คณะกรรมการเสริมสร้างและพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ในสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) จัดสัมมนา เรื่อง “การส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้วยการจัดตั้งสภาพลเมืองทุกจังหวัดทั่วประเทศ” โดยนายประนอม เชิมชัยภูมิ สมาชิก สพม. จ.เชียงราย กล่าวว่า จากประสบการณ์การจัดตั้งสภาพลเมือง จ.เชียงราย มีการรวบรวมผู้คน เป้าหมายเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชน ใช้กลไกสภาวัฒนธรรม และกลไกสภาผู้สูงอายุ เป้าหมายใหญ่ของเราคือตอบโจทย์พลเมือง จ.เชียงราย พบว่าคน จ.เชียงรายมีรายได้ต่ำเป็นอันดับ 2 ของประเทศ แนวโน้มรายได้ลดลง ขณะเดียวกัน มีการใช้พื้นที่ จ.เชียงรายตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตนจึงไปถามส่วนราชการว่าพิเศษอย่างไร ตรงไหน แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าคืออะไร ตนจึงได้เสนอว่าจำเป็นต้องมีกลไกองค์กรประชาชนทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่อุปสรรคใหญ่คือมีกลุ่มคนเดียวขับเคลื่อน คนข้างบนข้างล่างไม่มาเข้าร่วมซึ่งต้องมีการพูดคุยหารือกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อสนับสนุนกระบวนการแก้ไขปัญหาสังคม เราต้องสร้างพื้นที่การทำงานให้ครบทุกตำบล ประชาชนจำเป็นต้องพูดถึงทิศทางอนาคตข้างหน้า
นายปริญญา อุดมทรัพย์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า บทบาทของสภาพลเมืองควรจะมีฐานะเหมือนอำนาจอธิปไตย 3 ส่วน ต้องเป็นอำนาจที่ 4 เพราะทางความคิดทางการเมือง รื้อทฤษฎีการเมืองรัฐศาสตร์ จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ใหญ่ แต่ดูร่างแล้วไม่ใหญ่ตรงไหน ถ้าจะให้ใหญ่ต้องยกฐานะ ตนจึงขอวิงวอนให้กรรมการร่างรัฐธรรนูญฉบับนี้ให้ทบทวน เพราะที่ผ่านมายังไม่พูดชัดเจน ขอให้ส่งผลการสัมมนาส่งไปยังกระทรวงมหาดไทยเพราะคำสั่งในการพัฒนาจังหวัดมาจากกระทรวงมหาดไทย
นอกจากนี้ ขอยกตัวอย่างว่าภาคราชการยังมีจุดอ่อนในการแก้ปัญหาของประเทศ คือ พูดคนละภาษากับประชาชน ตนคิดว่าก่อนจะให้เขายอมรับต้องมีตัวบังคับราชการด้วย สิ่งที่ควรจะทำต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเลยว่าสภาพลเมืองมีบทบาทอย่างไรไม่ต้องอ้อมแอ้ม เพราะรัฐธรรมนูญ 40, 50 ยังไม่ชัดเจน ขณะเดียวกัน กฎหมายลูกนำ พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง 2552 ที่เรามีอยู่แล้ว แก้ไขบรรจุเรื่องพลเมืองให้ชัด ครอบคลุมไปถึงการเมืองการปกครองให้เต็มที่ อำนวยความสะดวก ทั้งการอนุมัติและการเบิกจ่ายงบประมาณ เป็นต้น ทั้งนี้ตนเชื่อว่าหากมีสภาพลเมืองแห่งชาติจะเป็นตัวที่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติของบ้านเมืองได้ แต่ไม่มีอำนาจดังนั้นจึงขอให้ระบุที่มาและอำนาจของสภาพลเมืองให้ชัดเจน
“ผมติดตามสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คิดว่ายังวนๆอยู่ในอ่าง ไม่ได้ไปไหน ไม่มีความคิดที่เป็นรูปธรรม ไม่เห็นปัญหาที่เป็นจริงของประชาชนที่ต้องเอาไปแก้ไข การตั้งสภาพลเมืองได้ประโยชน์ ในฐานะคนอาวุโสแล้วจะบอกเลยว่าด้วยวิธีสภาพลเมืองทำให้ประเทศเจริญได้ภายใน 2-10 ปี สอดคล้องกับประชาธิปไตยไทย”
นายประหยัด ทานะราช เลขาธิการสภาวัฒนธรรม จ.สกลนคร กล่าวว่า เราให้พี่น้องประชาชนรวบรวมความคิดกันเต็มที่ จ.สกลนคร ใช้วิถีวัฒนธรรมนำสู่สภาพลเมือง ซึ่งขณะนี้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์พร้อมเข้าสู่สภาพลเมือง ปัญหาคือทวงคืนผืนป่า ทุกคนยินดีถ้าเขาไม่สิทธิ แต่บางครั้งการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิพลเมือง วิถีวัฒนธรรม ของชาวบ้าน