xs
xsm
sm
md
lg

สภาพลเมืองพัทลุงชี้ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญด้วย “ความกลัว” ปิดพื้นที่ไม่ให้ ปชช.มีส่วนร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
พัทลุง - เวทีสภาพลเมืองที่เมืองลุง ชี้ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญด้วย “ความกลัว” แถมมีเพียง 3 คนที่นั่งเขียน เขียนแบบปกปิดไม่ยอมบอกข้อมูลประชาชน เหตุไม่ต้องการให้โต้แย้ง คาดจะนำไปสู่การผ่านประชามติเพราะทุกฝ่ายอยากเลือกตั้ง
 
ที่สถานีวิทยุชุมชนบ้านสวนป่าห้วยพูด หมู่ 7 ต.โคกสัก อ.บางแก้ว จ.พัทลุง วันนี้ (9 พ.ย.) ได้มีการประชุมเสวนาเรื่องแนวโน้มรัฐธรรมนูญฉบับกำลังยกร่าง และเรื่องการขับเคลื่อนข้อบัญญัติจังหวัด สภาพลเมือง ประกอบด้วย ประชาชนกลุ่มต่างๆ และสภาองค์กรชุมชน ครอบคลุมหลายพื้นที่ จ.พัทลุง โดยมี นายวิวัฒน์ หนูมาก สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองจังหวัดพัทลุง (สพม.) เป็นประธาน โดยในที่ประชุมได้มีการนำเสนออย่างกว้างขวางเพื่อเสนอถึงคณะกรรมการร่างธรรมนูญ (กรธ.) นำไปบัญญัติไว้ เช่น ให้ผู้ที่เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ลงนามทำสัญญากับประชาชนเมื่อได้ เป็น ส.ส.ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายบริหาร โดยมีพยานด้วย ทั้งนี้ ให้มีการออกแบบอย่างเหมาะสมต่อทุกฝ่าย ประเด็นขายเสียงซื้อเสียงตั้งแต่ระดับผู้ใหญ่บ้าน และการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น เป็นต้น
 

 
นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานอนุกรรมการประสานงานสภาองค์กรชุมชนสถาบันพัฒนาชุมชน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันขอให้ประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจะออกมาในเดือน ม.ค.2559 นี้ แต่ได้มีการปกปิดไม่ยอมบอกถึงการยกร่าง เพราะหวั่นวิตกจะเกิดการโต้แย้ง จึงไม่ทราบได้ว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างจะปิดพื้นที่ หรือเปิดพื้นที่ให้อย่างไร เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ที่ยกฐานะของประชาชน และการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง
 
“มีอคติต่อการเมือง นักการเมือง การเลือกตั้ง และการเข้าสู่อำนาจ การเขียนรัฐธรรมนูญจึงเต็มไปด้วยความหวาดกลัว มีการพูดว่า ประชาธิปไตยสอดคล้องต่อสังคมไทย นั่นคืออะไร และมีการพูดถึงการสรรหา กับการการเลือกตั้งสมาชิกวุฒสภา มันจะแตกต่างกันอย่างไร และการจัดสรรปันส่วนคือ ทุกเสียงต้องมีค่าของการใช้สิทธิเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ตลอดจนถึงการกีดกันการเข้าสู่การเมืองของนักการเมืองที่ลงโทษด้วย เป็นอย่างไร”
 
นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า การร่างรัฐธรรมนูญหนนี้ไม่รู้ว่า กรธ.จะปิดพื้นที่ หรือเปิดพื้นที่ถึงสิทธิเสรีภาพจะถูกตัดทอนหรือไม่ และกลไกอำนาจจะถูกเปิดพื้นที่อย่างไร โดยเฉพาะองค์กรอิสระนั้น จะต้องมีบุคคลที่หลากหลาย และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทราบว่ามีคนเขียนอยู่ 3 คน จากจำนวน กรธ.ทั้งหมด และร่างเสร็จในเดือน ม.ค.2559 ก็จะมีการรณรงค์ทำประชามติ และในการทำประชามติก็จะผ่าน เพราะประชาชนต้องการจะให้มีการเลือกตั้ง
 
“ถึงข้อขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ นั้นจะต้องเปิดพื้นที่ให้ โดยจะต้องระดมผู้เชี่ยวชาญระดมประเด็นการขัดแย้ง แล้วทำประชามติ พร้อมนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วในต่างประเทศ   83 ปีประชาธิปไตยไทย  เราได้สัมผัสประชาธิปไตย ได้ศึกษาเรียนรู้ประชาธิปไตยจริงๆ ไม่เกิน 10 ปีเท่านั้น”
 

 
นายสุวัตต์ คงแป้น ผู้จัดการภาคสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า ได้เดินทางเข้าพบ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ปรากฏว่า ท่านได้รับปากว่าจะมีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า แผนพัฒนาทุกระดับของราชการจะต้องประกอบด้วยแผนของประชาชนด้วย ดังนั้น ต่อไปสภาองค์กรชุมชน สภาพลเมือง จึงมีบทบาทที่สำคัญในการยกร่างแผนพัฒนา
 
“รัฐธรรมนูญฉบับกำลังยกร่างที่มีแนวโน้มว่าจะมีการยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล และจะมีเทศบาลจังหวัด เทศบาลตำบล”
 
นายวิวัฒน์  หนูมาก สมาชิก สพม.กล่าวว่า สำหรับสภาพลเมืองจังหวัดพัทลุง นั้นจะดำเนินการรวบรวมข้อมูลกลุ่มต่างๆ ได้ทุกกลุ่มในจังหวัดให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ประมาณเดือน ธ.ค.2558 แล้วจะมีการสรรหากรรมการคณะทำงานขึ้นมา เพื่อยกร่างข้อบัญญัติจังหวัด คณะทำงานยกร่างข้อบัญญัติจังหวัดจะมีรูปแบบโมเดลเดียวกันกับ กรธ.
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น