xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.เล็งติดดาบ ม.7 ศาล รธน.ผ่าทางตัน ปรับสัดส่วนคณะตุลาการดันเลือก ส.ส.แบบใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษก กรธ. เผย พิจารณาหลักที่เกี่ยวศาล รธน. เตรียมติดดาบ ม.7 ให้ศาล รธน. ไว้ใช้ผ่าทางตัน ปรับสัดส่วนองค์คณะตลก. เคาะแล้วเลือก ส.ส. แบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ส่วน ส.ว. เลือกตั้งทางอ้อม ทั้งหมด ไม่เกิน 200 คน แต่ยังไม่มีข้อยุติจากลุ่มใดบ้าง



วันนี้ (25พ.ย.) ที่รัฐสภา นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าการประชุม ว่า กรธ. ได้พิจารณาหลักที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีหน้าที่วินิจฉัย ในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ รายละเอียดให้เป็นไปตามที่ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนหลักการเกี่ยวกับองค์คณะตุลาการในการวินิจฉัย ก็ยึดไปตามเดิมที่กำหนดให้ต้องใช้เสียง 5 ใน 9 นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ตุลาการถูกกล่าวหา ด้วยการตั้ง คณะกรรมการอิสระ ที่มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เป็นผู้พิจารณา

นายอุดม กล่าวว่า สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยังไม่พ้นวาระ ก็จะยังดำรงตำแหน่งนี้ต่อไป เมื่อรัฐธรรมนูญบังคับใช้ แต่ทั้งนี้ ก็ได้มีการกำหนดสัดส่วนองค์คณะตุลาการใหม่ คือ จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน จากที่ประชุมศาลปกครองสูงสุด 2 คน จากผู้ทรงคุณวุฒิระดับอธิบดี 2 คน จากศาสตราจารย์ของสถาบันการศึกษาด้านนิติศาสตร์ 1 คน จากศาสตราจารย์ของสถาบันการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ 1 คน จากนั้นก็ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา ที่ประกอบด้วย ตัวแทนจากศาลฎีกา ศาลปกครอง คณะกรรมการองค์กรอิสระ และรัฐสภา เหมือนหลักของรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ก็จะกำหนดคุณสมบัติของผู้จะมาเป็นกรรมการองค์กรอิสระด้วยว่า หากเคยเป็นกรรมการองค์กรใดแล้ว จะไม่สามารถเป็นกรรมการองค์กรอื่นได้อีก เช่น เคยเป็น กกต. แล้ว ก็จะมาเป็น ผู้ตรวจการแผ่นดิน อีกไม่ได้

“สำหรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะให้วินิจฉัยเมื่อเกิดวิกฤตินั้น เดิมมาตรา 7 ที่ถูกเสนอให้ใช้เมื่อเกิดวิกฤตการเมือง มักจะเป็นปัญหาเรื่องการตีความ กรธ. ส่วนใหญ่เห็นว่า อำนาจนี้ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ยังไม่ได้ข้อยุติว่า จะนำความแบบมาตรา 7 มาใส่ไว้เลย หรือควรจะปรับถ้อยคำก่อนโดยฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่า เวลาเกิดปัญหา ศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถตีความเจตนารมย์ตามเนื้อหาของมาตรา 7 ได้ แต่ฝ่ายที่เห็นต่างมองว่า จะเป็นการแอบอ้างสถาบันฯ” นายอุดมกล่าว

นายอุดม กล่าวว่า กรธ. ยังได้มอบหมายให้ อนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ไปจัดทำร่างในส่วนของบททั่วไป และหมวดรัฐสภา ตามที่ได้พิจารณาไปแล้ว ทั้ง ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม การคิดคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ทั้ง 150 คน โดยไม่มีเศษส่วนเกิน และอำนาจหน้าที่ของ ส.ส. ส่วนใหญ่ก็จะยึดไปตามหลักการเดิม ส่วนที่มา ส.ว. ก็ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า จะไม่มาจากการสรรหา ผสมกับการเลือกตั้งทางตรงเหมือนที่ผ่านมา แต่จะมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม จากทั้งองค์กรที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และกลุ่มทางสังคมทั้งหมดที่ไม่ได้จดทะเบียน ไม่เกิน 200 คน ซึ่งที่ประชุมยังไม่มีข้อยุติว่า กลุ่มเหล่านั้นจะมีอะไรบ้าง เพราะเราระหว่างการหารือมีการนำเสนอองค์กรนิติบุคคลและกลุ่มทางสังคมที่สมควรมีตัวแทนเป็น ส.ว. กว่า 20 กลุ่ม จึงมอบให้อนุฯโครงสร้างอำนาจนิติบัญญัติไปศึกษา


กำลังโหลดความคิดเห็น