xs
xsm
sm
md
lg

เคาะเลือกตั้งจัดสรรปันส่วน ส.ว.เลือกโดยอ้อมไม่เกิน200

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (25 พ.ย.) ที่รัฐสภา นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่า ที่ประชุมกรธ.ได้พิจารณาหลักที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีหน้าที่วินิจฉัยในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้รายละเอียดให้เป็นไปตามที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ และวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญกำหนด
ส่วนหลัการการเกี่ยวกับองค์คณะตุลาการในการวินิจฉัย ก็ยึดไปตามเดิมที่กำหนดให้ต้องใช้เสียง 5 ใน 9 นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ตุลาการถูกกล่าวหา ด้วยการตั้งคณะกรรมการอิสระ ที่มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เป็นผู้พิจารณา
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยังไม่พ้นวาระ ก็จะยังดำรงตำแหน่งนี้ต่อไป เมื่อรัฐธรรมนูญบังคับใช้ แต่ทั้งนี้ก็ได้มีการกำหนดสัดส่วนองค์คณะตุลาการใหม่ คือ จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน จากที่ประชุมศาลปกครองสูงสุด 2 คน จากผู้ทรงคุณวุฒิระดับอธิบดี 2 คน จากศาสตราจารย์ของสถาบันการศึกษาด้านนิติศาสตร์ 1 คน จากศาสตราจารย์ของสถาบันการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ 1 คน จากนั้นก็ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา ที่ประกอบด้วย ตัวแทนจากศาลฎีกา ศาลปกครอง คณะกรรมการองค์กรอิสระ และรัฐสภา เหมือนหลักของรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ก็จะกำหนดคุณสมบัติของผู้จะมาเป็นกรรมการองค์กรอิสระด้วยว่า หากเคยเป็นกรรมการองค์กรใดแล้ว จะไม่สามารถเป็นกรรมการองค์กรอื่นได้อีก เช่น เคยเป็น กกต.แล้ว ก็จะมาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินอีกไม่ได้
"สำหรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะให้วินิจฉัยเมื่อเกิดวิกฤตินั้น เดิม มาตรา 7 ที่ถูกเสนอให้ใช้เมื่อเกิดวิกฤตการเมือง มักจะเป็นปัญหาเรื่องการตีความ กรธ.ส่วนใหญ่เห็นว่า อำนาจนี้ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะนำความแบบ มาตรา 7 มาใส่ไว้เลย หรือควรจะปรับถ้อยคำก่อน โดยฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่า เวลาเกิดปัญหา ศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถตีความเจตนารมย์ตามเนื้อหาของ มาตรา 7 ได้ แต่ฝ่ายที่เห็นต่างมองว่า จะเป็นการแอบอ้างสถาบันฯ" นายอุดม กล่าว
นอกจากนี้ กรธ.ยังได้มอบหมายให้ อนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ไปจัดทำร่างในส่วนของบททั่วไป และหมวดรัฐสภา ตามที่ได้พิจารณาไปแล้ว ทั้งระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม การคิดคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้ง 150 คน โดยไม่มีเศษส่วนเกิน และอำนาจหน้าที่ของส.ส. ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะยึดไปตามหลักการเดิม
ส่วนที่มาส.ว. ก็ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะไม่มาจากการสรรหาผสมกับการเลือกตั้งทางตรงเหมือนที่ผ่านมา แต่จะมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม จากทั้งองค์กรที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และกลุ่มทางสังคมทั้งหมดที่ไม่ได้จดทะเบียน ไม่เกิน 200 คน ซึ่งที่ประชุมยังไม่มีข้อยุติว่า กลุ่มเหล่านั้นจะมีอะไรบ้าง เพราะระหว่างการหารือ มีการนำเสนอองค์กรนิติบุคคล และกลุ่มทางสังคมที่สมควรมีตัวแทนเป็นส.ว. กว่า 20 กลุ่ม จึงมอบให้อนุฯโครงสร้างอำนาจนิติบัญญัติไปศึกษา
** เรียกแม่น้ำ 5 สายถกกรอบปฏิรูป

ในวันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เป็นประธานการประชุม เพื่อวางกรอบการปฏิรูป โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม
ทั้งนี้ เนื่องจากในที่ประชุมครม. ที่ผ่านมา นายกฯได้สั่งการเรื่องการปฏิรูป มอบหมายให้รองนายกฯ ทั้ง 6 คน ทำเรื่องการปฏิรูป 8 ด้าน และให้ประสานกับสปท.ด้วย โดย สปท.ได้ทำกรอบในส่วนของตัวเอง ขณะที่ ครม.ได้ทำในส่วนของครม. เป็นการมาจัดลำดับความสำคัญ และมาคุยกันว่าจะทำการปฏิรูปเรื่องอะไร อย่างไรบ้าง รวมถึงแม่น้ำแต่ละสาย ได้มารายงานความคืบหน้างานที่ตัวเองรับผิดชอบให้นายกฯฟัง แต่ไม่ได้หารือเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญ แม้ว่านายมีชัย จะเข้าประชุมด้วย ซึ่งนายมีชัย มาเตรียมข้อกฎหมายหากมีการปฏิรูปด้านต่างๆ เช่น หากปฏิรูปการศึกษา ในรัฐธรรมนูญ ก็ควรมีเรื่องนี้ด้วยเป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น