ที่ประชุม กรธ. ถกหลักการว่าด้วยบททั่วไปของศาล เปิดช่องนักการเมืองยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาภายใน 30 วันได้ ส่วนถก ส.ว. ไม่คืบ บอกเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แย้มเลือกโดยตรงเป็นหนทางสุดท้าย แจงผุดสโลแกนตอกย้ำคนไทยร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ด้าน “วันชัย” เผย กมธ. การเมือง เตรียมเคาะเลือกตั้งวันแมนโหวต ประชาชนเสียค่าสมาชิกพรรคการเมือง “สมพงษ์” ชงสัดส่วน ส.ว. เลือกตั้ง 120 แต่งตั้ง 80 บอกขอพบกันครึ่งทาง “สุชน” หนุนไม่ให้ ส.ว. แต่งตั้งถอดถอน โยนให้ตุลาการดีแล้ว
วันนี้ (18 พ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.30 น. มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ทำหน้าที่ประธาน วาระพิจารณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในส่วนของศาลยุติธรรม และรับฟังผลการศึกษาประเด็นที่มาของวุฒิสภา (ส.ว.) จากอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มี นายประพันธ์ นัยโกวิท เป็นประธานอนุกรรมการ
ทั้งนี้ ก่อนการประชุมเริ่มขึ้น เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง นำโดย นายชำนาญ จันทร์เรือง เข้ายื่นหนังสือเพื่อเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นและการจัดการตนเองต่อนายมีชัย เพื่อนำไปประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ มีสาระสำคัญ เช่น ขอให้ท้องถิ่นหรือจังหวัดใดที่มีลักษณะที่จะจัดการตนเองได้ ย่อมมีสิทธิได้รับจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องทำเท่าที่จำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่ต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม โดยต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าท้องถิ่นจะกระทำการใดไม่ได้ เช่น การทหาร การต่างประเทศ การเงินการคลังระดับชาติ การศาล เป็นต้น นอกเหนือจากนั้นให้ท้องถิ่นสามารถกระทำการได้ ขอให้สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และขอให้มีการจัดตั้งสภาพลเมืองที่มีฐานะเท่าเทียมกับผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น เป็นต้น
ต่อมาเวลา 15.15 น. นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. และอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ แถลงว่า ที่ประชุม กรธ. ได้มีการกำหนดหลักการว่าด้วยบททั่วไปของศาล อาทิ การพิจารณาพิพากษาคดี การจัดตั้งศาลการแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่ง การถวายสัตย์ปฏิญาณ และการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เป็นต้น โดยมุ่งเน้นว่าการทำหน้าที่ของศาลต้องมีความอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติ ส่วนหลักการเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม กำหนดให้การแต่งตั้ง การโยกย้าย การเลื่อนเงินเดือนหรือตำแหน่ง และการบริหารงานบุคคล ควรต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ทั้งนี้ เพื่อประกันความอิสระของผู้พิพากษา ปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
นอกจากนี้ เราได้บัญญัติให้มีแผนกศาลฎีกาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเลือกผู้พิพากษาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 9 คน มาเป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาเป็นรายคดี และกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องจะสามารถอุทธรณ์ได้เฉพาะคดีที่เป็นข้อกฎหมายหรือหากจะอุทธรณ์กรณีที่เป็นข้อเท็จจริงต้องมีข้อเท็จจริงอันเป็นหลักฐานใหม่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น แนวทางนี้จึงเป็นการให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถอุทธรณ์ได้
ส่วนการพิจารณาประเด็นที่มาและจำนวนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากประเด็น ส.ว. เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่หลักการ ทาง กรธ. ต้องการให้ ส.ว. เป็นผู้รู้ มีสติปัญญามาช่วยกลั่นกรองกฎหมาย ให้ความเห็นชอบคณะกรรมการองค์กรอิสระต่าง ๆ ส่วนอำนาจถอดถอนนั้นเราเห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของตุลาการ สิ่งสำคัญของการออกแบบ ส.ว. คือ ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับ ส.ว. ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง เบื้องต้น จำนวน ส.ว. ทาง กรธ. ได้มีการนำตัวเลขจากรัฐธรรมนูญปี 2540 จำนวน 200 คน ปี 2550 จำนวน 150 คน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ จำนวน 200 คน มาพูดคุยแต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะกำหนดจำนวนเท่าใด ส่วนวิธีการได้มาของ ส.ว. นั้น ก็มีด้วยกันหลายสูตรด้วยกันทั้งแบบการสรรหา การเลือกตั้งทางอ้อม และการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งในส่วนของการเลือกตั้งโดยตรงนั้น ทาง กรธ. เห็นว่า คงเป็นแนวทางสุดท้ายที่จะเลือกเพราะหากให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็จะมีที่มาไม่แตกต่างจาก ส.ส. เลย
“ส่วนการที่ กรธ. ตั้งสโลแกน “ร่วมคิด ร่วมร่าง ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญใหม่” เนื่องจาก กรธ. ต้องการเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ของคนจำนวน 21 คน แต่เป็นของประชาชนไทยทุกคน ดังนั้น ความคิดเห็นต่าง ๆ ของประชาชนมีความหมายและมีความสำคัญ ส่งมาให้ กรธ. ได้เลย เราพร้อมนำไปประกอบการพิจารณา เพื่อประมวลและหาทางออกของประเทศร่วมกัน” นายชาติชาย กล่าวและว่า ทั้งนี้ ในวันที่ 21 - 22 พ.ย. ทางอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะก็จะไปรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ จากตัวแทนกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ จำนวน 17 จังหวัด ที่ จ.เชียงรายด้วย ทั้งนี้เชื่อว่าจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำมาประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแน่นอน
ด้าน นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เผยความคืบหน้าการประชุม กมธ. ว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า การปฏิรูปการเมืองที่สำคัญที่สุด คือ รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการวางโครงสร้างประเทศ ดังนั้น การทำงานของคณะกรรมาธิการจึงต้องประสานภายในกับ กรธ. เพื่อขอนำประเด็นสำคัญเข้าสู่การพิจารณาของ กรธ. และบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เบื้องต้นที่ประชุมเห็นพ้องว่า ให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ไม่ผูกขาดอำนาจโดยนายทุน พร้อมให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดด้วยการเสียค่าสมาชิกรายปีให้กับพรรคการเมืองด้วย นอกจากนี้ ในประเด็นที่มา ส.ส. มีแนวโน้มว่าอาจกำหนดให้มี ส.ส. จำนวน 400 คน มาจากการเลือกตั้งระบบเขตอย่างเดียว เนื่องจากระบบบัญชีรายชื่อเป็นการเปิดโอกาสให้มีนายทุนสอดแทรกเข้ามาโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน รวมทั้งอาจให้เป็นระบบเลือกตั้งแบบวันแมน วันโหวต อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้แขวนประเด็นระบบเขตเลือกตั้งไว้ก่อน
นายวันชัย กล่าวต่อว่า ยอมรับว่า บรรยากาศในห้องประชุมเป็นไปอย่างดุเดือด แต่ละประเด็นใช้เวลาถกเถียงกันค่อนข้างมาก จึงต้องใช้วิธีการโหวตหาข้อยุติ ซึ่ง กมธ. เสียงข้างน้อยที่ส่วนใหญ่เป็นสัดส่วนพรรคการเมือง ได้ขอให้ที่ประชุมบันทึกไว้อย่างละเอียด แต่ทั้งหมดยังคงเป็นเพียงผลเบื้องต้นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป และน่าจะมีความชัดเจนออกมาในวันที่ 20 พ.ย. นี้ ตนจึงไม่อยากแถลงก่อน เพราะเกรงว่าอาจเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น พร้อมยอมรับด้วยว่า กมธ. การเมือง ถือเป็นคณะเดียวใน 11 คณะ ที่ต้องประสานทุกประเด็นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ กรธ. ด้วย
ขณะที่ นายสมพงษ์ สระกวี สมาชิก สปท. กล่าวกรณีการกำหนดสัดส่วน และที่มาสมาชิกวุฒิสภาของ กรธ. ว่า กรณี กรธ. มีแนวคิดว่า การให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จะเป็นแนวทางสุดท้ายที่ กรธ. จะเลือกว่า ตนในฐานะเคยเป็น ส.ว. เลือกตั้ง อยากให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งมากกว่าแต่งตั้ง ในสัดส่วน 120 ต่อ 80 จะเป็นสัดส่วนที่ค่อยดูยึดโยงประชาชนมากกว่า ที่พูดเช่นนี้ ไม่ใช่รังเกียจ ส.ว. แต่งตั้ง แต่หากใช้สัดส่วนที่เสนอ จะก้าวไปสู่ประชาธิปไตยได้มากกว่า อยากให้ ส.ว. มาจากเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 ด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ขอพบกันครึ่งทาง ไม่สูดโต่งทางใดทางหนึ่ง
ด้าน นายสุชน ชาลีเครือ สมาชิก สปท. กล่าวว่า การกำหนดสัดส่วนและที่มา ส.ว. อยู่ที่ให้อำนาจมากแค่ไหน ถ้า ส.ว. มาจากแต่งตั้งทั้งหมด ควรให้กลั่นกรองกฎหมายอย่างเดียว ไม่ควรมีอำนาจถอดถอน แต่ถ้ามาจากเลือกตั้งทั้งควรให้อำนาจถอดถอน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา เคยใช้ทั้งหมด ทั้ง ส.ว. แต่งตั้งทั้งหมด เลือกตั้งทั้งหมด หรือเลือกตั้งผสมกับแต่งตั้ง ไหน ๆ จะปฏิรูปการเมืองของประเทศกันแล้ว ก็ให้สุดโต่งไปเลย โดยให้ใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่งระหว่าง ส.ว. เลือกตั้งทั้งหมด กับ ส.ว. แต่งตั้งทั้งหมด อย่าไปลอกของเก่า ๆ กันมาก แต่ต้องดูเรื่องอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะการถอดถอน ที่ กรธ. มีแนวคิดให้ อำนาจการถอดถอน ไปอยู่ที่ตุลาการนั้นถูกต้องแล้ว เพราะที่ผ่านมามีข้อครหาว่าถอดถอนใครไม่ค่อยได้ มาตรฐานไม่ค่อยมี ใช้แต่อารมณ์เล่นพวก