xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” ฉุน! ตอกนักการเมือง อยากกลับไปอยู่จุดเดิมหรือ? - “มูลนิธิเทือก” นัดแจงจุดยืนร่าง รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม
มาแล้ว “มูลนิธิเทือก” นัดแจงจุดยืน “ร่าง รธน. ฉบับบวรศักดิ์ ” ระบุเป็นข้อเสนอให้ “สปช.” ตัดสินใจใช้โหวต ด้าน “บิ๊กต๊อก” ฉุน! ตอกกลับ “นักการเมือง” อยากกลับไปอยู่จุดเดิมเหรอไง? ถาม รธน. ใหม่ ไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน ซัด พวกท่านไม่ใช่หรือที่เกิดปัญหา ถ้ามองว่า “คสช. จะแก้ปัญหาไม่เรียบร้อย” ก็เรื่องของคุณ

วันนี้ (26 ส.ค.) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาก่อนลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น กรรมการมูลนิธิฯ จะใช้เวลาในช่วงนี้ศึกษา และพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างกับข้อเสนอที่มวลมหาประชาชนเคยเสนอไปก่อนหน้านี้ โดยในสัปดาห์นี้ คณะกรรมการมูลนิธิฯ นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิฯ จะหารือเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งเห็นว่าต้องเร่งพิจารณา เพราะหลายเรื่องเป็นข้อเสนอที่แปลกใหม่

เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว กรรมการก็จะต้องพิจารณาว่าข้อสรุปของกรรมการมูลนิธิฯเป็นไปในทิศทางใด หากจำเป็นต้องมีข้อเสนอเพื่อให้มีผลต่อการพิจารณารับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิก สปช. เพื่อให้มีผลไปในทางใดทางหนึ่ง มูลนิธิฯก็คงจะต้องมีข้อเสนอก่อนที่สปช. จะลงมติ แต่หากพิจารณาภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมีข้อเสนอที่มีผลต่อการพิจารณารับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิก สปช. มูลนิธิฯ คงจะมีข้อเสนอหลังจากที่ สปช. ลงมติแล้ว

“การทำหน้าที่ของกรรมการมูลนิธิฯ เพื่อเป็นตัวแทนของมวลมหาประชาชน และเพื่อผลักดันการปฏิรูปตามข้อเสนอของมวลมหาประชาชน ดังนั้น การมีข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่การมีอคติต่อร่างรัฐธรรมนูญ หรือเป็นไปตามข้อเสนอของหน่วยงานใด หรือกลุ่มใด โดยการศึกษาพิจารณาเปรียบเทียบเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญกับข้อเสนอของมวลมหาประชาชน ก็เพื่อมีข้อเสนอที่มีผลต่อการพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิก สปช. และให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางส่วน จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ควรจะไปถามคนที่เห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย มันไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน โดยส่วนตัวตนพูดเสมอว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาเป็นรัฐบาลเพื่อปฏิรูป เพราะที่ผ่านมาประเทศชาติเดินหน้าไม่ได้ ซึ่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญก็เพื่อไปตอบสนองในสิ่งเหล่านั้น

“เมื่อ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ท่านอย่ามาพูดถึงการเป็นประชาธิปไตย เพราะมันไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่ท่านต้องไปมองว่ารัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นมา มันแก้ไขปัญหาและบทเรียนช่วงก่อนรัฐประหารได้หรือไม่ด้วย ไม่ใช่มองว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย” รมว.ยุติธรรม กล่าว

ส่วนประเด็นที่มา ส.ส. และนายกรัฐมนตรีคนนอก นั้น กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็พยายามที่จะแก้ไข ถ้าท่านอยากกลับไปสู่ที่เดิม โดยไม่มีการแก้ไข มันก็จะเป็นเหมือนเดิมไม่ใช่หรือ ถ้าปฏิรูปไม่สำเร็จมันก็จะเห็นภาพเดิมอยู่ดี นั้นแหละคือสิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ไข เพราะแก้ปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนในรัฐบาลก่อนได้หรือไม่ ตนอยากให้มองตรงนี้ มันอาจจะไม่ถูกใจคนทุกคน บางคนอาจจะพูดถึงความไม่ถูกใจ เพราะไม่เป็นประชาธิปไตยในความคิดของเขา ดังนั้น ตนอยากถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน แต่ในมุมมองของตนมองว่ามันนำไปสู่การสนับสนุนปฏิรูปและแก้ไขปัญหาในช่วงก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 ได้หรือไม่

“ผมถามว่า แล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันตอบสนองการแก้ไขปัญหาหรือไม่ เมื่อก่อนมีการเลือกตั้งก็มีปัญหา เพราะนักการเมืองที่ออกมาแสดงความเห็นไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ไม่ใช่หรือ พวกท่านทำไม่ใช่หรือที่เกิดปัญหาช่วงก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 ทำไม ส.ส. ชุดรัฐบาลก่อนจึงไม่แก้ปัญหา จนต้องทำให้ คสช. เข้ามาแก้ปัญหาประเทศ” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้ การเข้ามาของ คสช. คือ การเข้ามาปฏิรูปเพื่อแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 ดังนั้น สิ่งที่กำหนดกฎเกณฑ์ออกไปมันก็ต้องมีเรื่องเหล่านี้อยู่ด้วย ว่ามันมุ่งไปสู่การแก้ปัญหาก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 ผมไม่ได้มองสิ่งที่นักการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าบอกว่ารัฐธรมนูญเปิดโอกาสให้พวกลากตั้งเข้ามาทำหน้าที่ เมื่อก่อนมีการเลือกตั้งแต่ก็เกิดปัญหา แล้วสมมติว่ารัฐธรรมนูญไม่มีเนื้อหาสนับสนุนการแก้ปัญหาที่เกิดก่อนก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 แล้วเลือกตั้ง มันจะกลับไปมีปัญหาเหมือนเดิม ปัญหาความขัดแย้งมันจะเกิดขึ้นเหมือนเดิมหรือไม่ ถ้าคุณคิดว่าแก้ปัญหาได้ก็เข้ามาแก้ซิ ส่วนตัวผมเมื่อ คสช. เข้ามาต้องการจะแก้แบบนี้ ผมจะแก้แบบนี้ คุณจะมองประชาธิปไตยก็เรื่องของคุณ เพราะผมบอกแต่แรกแล้วว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปแก้ปัญหาไม่ให้ซ้ำรอยก่อน 22 พ.ค. 57

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า นักการเมืองที่ออกมาพูดว่าไม่เห็นด้วย ก็คือ นักการเมืองที่เกิดปัญหาก่อนวันที่ 22 พ.ค. ทั้งนั้น ตอนนั้นอยู่ในเหตุการณ์ทำไมไม่แก้ ก็เห็นพูดคุยแต่ไม่เห็นได้เรื่อง แล้วพอตนพูดว่ามีแนวทางจะทำแบบนี้ แต่ก็มาบอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่นู้น ไม่นี่ ยังไง คสช. ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่ความมุ่งหมายคือการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง

“ถ้าคุณจะมองว่า คสช. จะแก้ปัญหาไม่เรียบร้อยก็เรื่องของคุณ เพราะตนมองว่ามันจะเรียบร้อย ถ้าคุณบอกว่าไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ต้องรับ เพราะเป็นเรื่องของประชาชนเป็นเรื่องสิทธิของประชาชน คุณไม่ต้องไปชี้นำเขาหรอก คุณจะชี้นำเพื่อต้องการให้กลับไปสู่ระบบเดิมหรือไง แล้วระบบเดิมคุณก็ทำไม่ได้ไม่ใช่หรือ ซึ่งคุณไม่ยอมรับเรื่องนี้ นักการเมืองที่ออกมาพูดก็คือนักการเมืองที่สร้างระบบเดิมให้มีปัญหาไม่ใช่หรือ ถ้าคุณแน่จริงทำไมแก้ปัญหาก่อนวันที่ 22 พ.ค. ไม่ได้ พอตนมาแก้ไขกลับมาบอกไม่เห็นด้วย ไม่มีใครได้อะไรสุดโต่งหรอก”

เมื่อถามว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาแล้วจะเกิดความขัดแย้ง พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า แล้วอะไรที่ไม่เหมือนเดิม นายจาตุรนต์ บริหารประเทศมาก่อนอยู่ในตำแหน่ง ครม. คราวที่แล้ว มันขัดแย้งหรือไม่ และนายจาตุรนต์ ควรจะมาเสนอว่าอะไร ทำยังไง มาเสนอว่าไม่ขัดแย้งทำอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น