เมืองไทย 360 องศา
ได้คำตอบตอบกลับมาค่อนข้างชื่นใจหลังจากคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ “โยนหินถามทาง” ไปแรงๆ ใน “สองประเด็นหลัก” คือ หนึ่งระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” และประเด็นที่มา “นายกฯ คนนอก” เพราะจากการประมวลจากผลสำรวจล่าสุดสารพัดโพลออกมาตรงกันว่า “ชาวบ้านเขาเอาด้วย” แม้ว่ายังไม่มีข้อสรุป เพราะต้องมีการแก้ไขรายละเอียดบางอย่างก็ตาม
ชาวบ้านเห็นคล้อยตามว่า การเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนฯ ไม่ยุ่งยากเพียงกาบัตรใบเดียว และทุกคะแนนที่กาลงใบมีความหมายไม่ถูกทิ้งไป ส่วนเรื่องนายกฯ คนนอก ชาวบ้านเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. แต่เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดี เป็นคนเก่ง เป็นต้น
แม้ว่าทั้งสองประเด็นดังกล่าวจะมีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่ข้างใน เช่น ใช้บัตรเลือกตั้งแค่ใบเดียวแต่สามารถลงคะแนนได้ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และยังมีผลพลอยได้ที่ตามมาคือได้เลือกนายกฯโดยอ้อมตามมาอีกด้วย ซึ่งนักการเมืองก็ใช้วาทกรรมเหน็บแนมว่า “แบบทรีอินวัน”
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าพิจารณากันในรายละเอียดก็ต้องบอกว่าในเวลานี้ทั้งสองประเด็นเป็นเรื่องคอขาดบาดตายกับพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสิ้น อ้อ ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับ “ขั้วการเมือง” ในพรรคการเมืองใหญ่ต่างหาก
ขณะเดียวกัน มีประเด็นที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก็คือ การเปิดทางให้มีที่มาแบบ “นายกฯ คนนอก” นั้นคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ นั้นได้ล็อกสเปกล่วงหน้าเอาไว้ให้ใครหรือเปล่า ซึ่งดูเหมือนว่ามองเห็นคำตอบอยู่ไม่ไกลนักเหมือนกัน
สำหรับประเด็นเรื่องการเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกได้ทั้ง ส.ส. เขต และแบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นั่นคือ นำคะแนนอื่นที่ลงให้ทุกพรรคนอกเหนือจากคะแนนที่ลงจนได้ ส.ส.เขต แล้วนำไปรวมกันทั่วประเทศเพื่อนำไปหาค่าเฉลี่ยจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งวิธีการเลือกตั้งแบบนี้มีเสียงวิจารณ์จากพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่บางพรรค ซึ่งก็คือพรรคเพื่อไทยที่อ้างว่านี่คือแผนทำลายพวกเขาให้เล็กลง เป็นเจตนาที่จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมให้มีความอ่อนแอ
และแน่นอนว่า วิธีการเลือกตั้งแบบนี้ แม้จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนหากประเมินจากผลสำรวจที่ออกมาทุกสำนักที่ตรงกัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเลือกตั้งที่สะดวกไม่ซับซ้อนรวมทั้งเห็นว่าทุกคะแนนมีความหมาย ซึ่งก็ถือว่าการ “โยนหินถามทาง” ของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญของ มีชัย ฤชุพันธุ์ มาถูกทาง เพราะหากพิจารณาจากผลสำรวจทุกครั้งก็ออกมาเหมือนเดิม คือ สนับสนุน ขณะที่มีแต่พรรคการเมืองใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ยืนกรานคัดค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่มีท่าทีคัดค้านรุนแรงกว่าปกติ
ทีนี้มาถึงประเด็นสำคัญ คือ “นายกฯ คนนอก” จากเดิมก่อนหน้านี้ถือว่าเป็น “เรื่องอ่อนไหว” เพราะทุกครั้งที่ถามก็ต้องบอกว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และที่ผ่านมาเรื่องนายกฯคนนอกนี่แหละทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจใหม่เกิดเหตุความวุ่นวายรุนแรงดังตัวอย่างในเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” เมื่อปี 2535
อย่างไรก็ดี มาถึงวันนี้บรรยากาศคงเปลี่ยนไปแทบจะสิ้นเชิง มีการอ้างว่าเป็น “ทางออกฉุกเฉิน” ป้องกันทางตัน รวมทั้งไม่ต้องรบกวนเบื้องพระยุคลบาทในเรื่อง “นายกฯ มาตรา 7”
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากเหตุผลหยาบๆ ง่ายๆ ก็อาจจะวัดได้จากความนิยมศรัทธาในตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่แม้ว่าด้วยองค์ประกอบที่เป็นอยู่ต้องเรียกว่า “เผด็จการเบ็ดเสร็จ” แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่มีผลสำรวจออกมาทีไรเขาก็ยังได้รับความนิยมในระดับที่สูงแบบคงเส้นคงวา แม้ว่าเวลาที่อยู่ในอำนาจนับตั้งแต่เข้ามาในนามของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันนี้ก็ผ่านมากว่าสองปีแล้ว แต่ก็ยังแรงไม่ตกง่ายๆ
จะด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่เป็นสาเหตุทำให้ชาวบ้านสนับสนุนประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า นายกฯไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. หรือมาจากการเลือกตั้ง
แน่นอนว่า ในประเด็น “นายกฯ คนนอก” สำหรับพรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมไม่เอาด้วย เพราะถือว่ากระทบพวกเขาเข้าอย่างจัง หากพิจารณากันทีละพรรคเริ่มจากพรรคเพื่อไทยก่อน รับรู้กันอยู่แล้วว่านี่คือพรรคของ ทักษิณ ชินวัตร ที่เขาชี้นิ้วบงการได้ทุกทาง และที่ผ่านมา ก็มี “หุ่นเชิด” วนเวียนเข้ามาส่งให้เป็นนายกฯได้หลายราย รายล่าสุดคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของตัวเองที่ใช้ประสบการณ์ทางการเมืองแค่ 49 วันก็ได้เป็นนายกฯ แต่วันนี้เมื่อสถานการณ์พลิกผัน ยิ่งลักษณ์ กำลังโดนคดีสำคัญดสี่ยงถูกตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต ทุกอย่างตีบตัน ขณะเดียวกัน ในบรรยากาศที่ “ไม่ปกติ” แบบนี้คงจะหาคนมา “เชิดยาก”
ประกอบกับเมื่อเห็นอารมณ์ของชาวบ้านที่ไฟเขียวนายกฯ คนนอก ก็คงมองเห็นรำไรแล้วว่าคนนอกที่ว่านั้นคือใคร เพราะพวกเขามองว่า นี่คือ รายการ “ล็อกสเปก” เอาไว้ล่วงหน้า ดังนั้น ถ้าแข่งกันแบบนี้ก็คงสู้ลำบาก ไม่เหมือนกับสู้กันในสนามเลือกตั้งกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถึงอย่างไรก็มีภาษีดีกว่า มีลุ้นมากกว่า
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ต้องบอกว่าต้องแยกส่วนออกมาเป็น “กลุ่ม” ภายใน ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าในเวลานี้แบ่งเป็นสองขั้วหลักคือ “ขั้วกำนัน” นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ชักใยอยู่ข้างนอก กับอีกขั้วนำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคในปัจจุบัน ซึ่งหากมีการเลือกตั้งเมื่อใด อภิสิทธิ์ ก็คงต้องลงลุ้นอีกรอบ ขณะที่ฝ่ายกำนันสุเทพ นาทีนี้รับรู้กันภายใน้วว่า “ร้องเพลงเดียวกับบิ๊ก คสช.” โดยเฉพาะกลุ่มอำนาจของ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดังนั้น คำตอบของสุเทพ เทือกสุบรรณ เวลานี้คือ ไม่ค้านนายกฯคนนอก
ด้วยเงื่อนไขและผลประโยชน์ทางการเมืองดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลชัดเจนว่าทำไมทั้งสองพรรค คือ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ (ฝ่ายอภิสิทธิ์) จึงไม่เอาด้วยกับประเด็นนายกฯคนนอก ขณะเดียวกัน นี่คือ รายการล็อกสเปกให้ใครล่วงหน้าหรือเปล่าอีกไม่นานก็จะมีคำตอบอย่างเป็นทางการ แต่ตอนนี้เริ่มเห็นรำไรแล้ว!!