รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ บรรยายบทบาทนักศึกษาต่อการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศ ยันปฏิรูปต้องทำ 360 องศา เพื่อคนไทยทุกคน ยกระดับชาติเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วใน 20 ปีหน้า รับนักการเมืองบริหารระยะสั้นทำขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบาย แถมชาวบ้านคิดว่าหน้าที่มีแค่เลือกตั้ง ย้ำต้องเอาคนดีมีคุณธรรมบริหาร กกต.-พรรคก็ต้องถูกปฏิรูป ระบุงวดหน้าไม่ว่าพรรคไหนชนะต้องไม่เกิดวิกฤตนอกสภาอีก
วันนี้ (15 พ.ย.) ที่สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เมื่อเวลา 09.30 น. โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “บทบาทของนิสิตนักศึกษาต่อการมีส่วนร่วมการขับเคลื่อนประเทศในยุคปฏิรูป” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปประเทศครั้งนี้ จะต้องทำแบบ 360 องศา หรือปฏิรูปทุกมิติ โดยการปฏิรูปนั้นจะเป็นการทำเพื่อคนไทยทุกคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง โดยทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อให้งานปฏิรูปเกิดความสำเร็จ ที่ผ่านมาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปรียบเหมือนสถาปนิกที่ออกแบบพิมพ์เขียวเอาไว้ ส่วนสปท. และแม่ทั้ง 4 สาย ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.), คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องร่วมกันก่อสร้างประเทศ โดยมีเป้าหมายยกระดับประเทศไทยเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วใน 20 ปีข้างหน้า คือประชาชนจะต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว จาก 5,000 เหรียญ เป็น 15,000 เหรียญต่อหัว
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์กล่าวอีกว่า การเมืองของประเทศไทยที่ผ่านมาขาดเสถียรภาพเนื่องจากมีนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศในระยะสั้นเฉลี่ยแล้วไม่ถึง 4 ปี ทำให้ขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบาย อีกทั้งนโยบายไม่สามารถต้านทานการเปลี่ยนแแปลงนั้นได้ นอกจากนี้ ระบบประชาธิปไตยบ้านเรายังคงเป็นระบบผู้แทน ประชาชนคิดว่ามีหน้าที่เพียงแค่เลือกตั้ง แล้วปล่อยให้การบริหารประเทศเป็นหน้าที่ของนักการเมืองหรือผู้แทนต่อไป ดังนั้นการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ ต้องปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน อาทิ การศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสื่อสารมวลชน เป็นต้น โดยเรื่องการเมืองถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ ที่ต้องปฏิรูปให้ได้คนดีมีคุณธรรมเข้ามาบริหารประเทศ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ส่วนระบบการเลือกตั้งต้องบริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องปฏิรูป เช่นเดียวกับพรรคการเมือง ซึ่งถือเป็นต้นสังกัดของนักการเมือง ก็ต้องปฏิรูปด้วย
นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้เรามีเวลาเหลืออีก 18 เดือนก่อนจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคการเมืองใดชนะ จะต้องไม่เกิดวิกฤตการเมืองเหมือนอย่าง 10 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดการต่อสู้นอกระบบรัฐสภา มีการชุมนุมกันของประชาชน วนเวียนกันจนประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ นำมาสู่การรัฐประหาร ฉะนั้นเราต้องร่วมกันปฏิรูปประเทศให้เกิดความสำเร็จ เพื่อเป็นหลักประกันให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
“การปฏิรูปไม่ใช่เรื่องของแม่น้ำ 5 สายที่จะทำ โดยประชาชาชนเองก็ต้องมีความเข้าใจในจุดนี้ตรงกัน หากยังเข้าใจว่าเรื่องการปฏิรูปเป็นหน้าที่ของแม่น้ำ 5 สายอยู่ จากที่เราหวังไว้ว่าจะเดินหน้า 100 ก้าว ก็อาจจะเดินได้เพียง 10 ก้าว จึงขอฝากความหวังไว้กับกลุ่มนิสิตนักศึกษา ให้เข้ามามีส่วนและเดินเคียงข้างร่วมกับ สปท.เพื่ออนาคตของประเทศ ดังนั้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งทาง สปท.ได้เปิดช่องทางการสื่อสารทั้ง 11 ช่องทาง เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมเสนอความคิดเห็นอย่างเต็มที่” นายอลงกรณ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายอลงกรณ์กล่าวว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และที่มาของ ส.ว. รวมถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ต้องเอาจุดที่เป็นปัญหามาปรับปรุง