xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองไม่รับฟ้อง “นพดล” ขอให้สั่งแพทยสภาเพิ่มโทษ “หมอพรทิพย์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์  (แฟ้มภาพ)
ศาลปกครองไม่รับคำฟ้อง “นพดล ธรรมวัฒนะ” ขอให้สั่งแพทยสภาเพิ่มโทษหนัก “หมอพรทิพย์”

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องที่นายนพดล ธรรมวัฒนะ ฟ้องแพทยสภา เพื่อขอให้ศาลพิพากษาหรือแก้คำสั่งแพทยสภา ที่ 2/2558 รวมทั้งสั่งให้แพทยสภาพิจารณามีคำสั่งใหม่ว่า พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เป็นผู้ประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ฝ่าฝืนข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 15 ข้อ 25 และข้อ 26 และลงโทษโดยการเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องแพทยสภาได้มีคำสั่ง 2/2558 ลงโทษภาคทัณฑ์ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กรณีร่วมผ่าชันสูตรศพนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ พี่ชายของนายนพดล แล้วออกมาให้ความเห็นว่านายห้างทองถูกฆาตกรรม ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย โดยแพทยสภาเห็นว่าการดำเนินการผ่าชันสูตรศพของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กระทำไม่ครบทุกขั้นตอน ขาดหลักฐานสำคัญทางการแพทย์ที่จะสนับสนุนให้ความเห็น รวมทั้งการจัดการศพหลังผ่าชันสูตรศพเสร็จ กระทำไม่เรียบร้อย ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ประกอบกับมีการให้ข่าวหรือข้อมูลต่อสื่อมวลชนไม่เหมาะสมเกินบทบาทหน้าที่แพทย์ เป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ผิดข้อบังคับแพทยสภา จึงมีคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ แต่นายนพดลเห็นว่าคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์เบาเกินไปไม่เหมาะสมกับการกระทำผิดของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

ส่วนที่ศาลไม่รับฟ้องระบุว่า แม้คดีดังล่าวจะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 แต่ผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่บุคคลใดก็ได้ที่เห็นมีการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วจะนำคดีมาฟ้องได้ แต่ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย อีกทั้งคำบังคับคดีของศาลจะต้องเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ แม้คดีนี้นายนพดลจะเป็นผู้ร้องเรียนต่อแพทยสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ แต่การที่แพทยสภาซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีหน้าที่การควบคุมตรวจสอบจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดสถานใด เพียงใด ถือเป็นดุลพินิจของแพทยสภาที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมแล้วแต่กรณี

อีกทั้งการที่แพทยสภาจะพิจารณาลงโทษ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ตามคำขอของนายนพดลก็ไม่ได้มีผลโดยตรงในการแก้ไขหรือบรรเทาความเสียหายที่นายนพดลได้รับจากการกระทำของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้แต่อย่างใด คำขอของนายนพดลจึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้ นายนพดลจึงไม่ใช่ผู้เดือดร้อนเสียหายที่มีสิทธิจะฟ้องคดีตามมาตรา 42 วรรคหนึ่งของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง 2542


กำลังโหลดความคิดเห็น