xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาเช็คบิล"ไทยพีบีเอส" ล้างสื่อสกปรกรับ "สินบน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ฉาวโฉ่กันอีกครั้ง เมื่ออดีตนักวิจัยของเอแบคโพลล์ ออกมาสารภาพเองว่า มีการทุ่มจ่ายเงินให้กับสื่อมวลชนบางช่องและบางฉบับ เพื่อให้เผยแพร่ข่าวและผลงานวิจัยของเอแบคโพลล์ ถึง 4.4 ล้านบาท โดยภายหลัง หนึ่งในอดีตนักข่าวที่ปรากฏชื่อ ได้ออกมาชี้แจงว่า เข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะที่ปรึกษาวิจัยและอาจารย์ คอยให้คำปรึกษา ไม่ได้ใช้อาชีพสื่อมวลชนเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ อ้างว่าทำงานคนละบทบาท พร้อมยืนยันอีกว่า ไม่ได้กระทำการผิดจริยธรรมใดๆ
ขณะที่ช่องอื่นๆ ที่อยู่ในข่ายเดียวกัน ขณะนี้ยังไม่มีการปฏิเสธ หรือชี้แจงออกมากับข้อมูลดังกล่าว ด้วยจะเพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ใจของตัวเอง หรือจะเพราะไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในข่ายดังกล่าว หรือจะเพราะขี้ขลาด ไม่กล้าออกมา เนื่องจากกลัวเกิดผลกระทบต่อองค์กรตัวเองก็ตาม
มีการถกเถียงกันว่า กรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้น ตกลงผิดหรือไม่ผิดจริยธรรมสื่อมวลชนกันแน่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ ปฏิกิริยาจากสังคมบางส่วนได้หมดความเชื่อถือจากสื่อมวลชนโดยรวมไปไม่น้อย เข้าทำนองปลาเน่ากลุ่มเดียวเหม็นไปทั้งเข่ง วงการสื่อกำลังถูกติฉินนินทาว่า เป็นยุคที่มีความเน่าเฟะมากที่สุดยุคหนึ่ง เกิดวิกฤติศรัทธาอีกครั้ง
เรื่องนี้คงปล่อยผ่าน เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ไม่ได้ เพราะส่งผลกระทบต่อวงการสื่อมวลชนทั้งหมด ทุกแขนง ขึ้นชื่อว่ามีการรับเงินรับทอง หรือรับค่าตอบแทนจากองค์กรที่ไม่ใช่ต้นสังกัดเพื่อให้นำเสนอข่าว ย่อมทำให้การนำเสนอข่าวไม่ได้มุ่งประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนจริงๆ แต่เป็นเพื่อตอบแทนค่าจ้างที่ได้มามากกว่า แง่มุมที่สำคัญคือ มันเป็นการทำลายประสิทธิภาพในการนำเสนอข่าว จากเดิมจะต้องให้น้ำหนักไปที่ข่าวมีคุณค่า น่าสนใจ เด่น ดัง ตามหลักการแห่งศาสตร์และศิลป์ แต่ประชาชนกลับถูกบิดเบือน ซ่อนเร้น แอบแฝงได้เสพในสิ่งที่มีคนพยายามจะยัดเยียดให้
**ต่อให้อ้างว่าเป็นที่ปรึกษา เป็นอาจารย์ ไม่ได้เอาตำแหน่งนักข่าวไปกี่ยวพัน แต่เมื่อสิ่งที่ทำมันคาบเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองนำเสนอ มันก็เข้าลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ดี การที่อดีตนักวิจัยเอแบคโพลล์ ระบุว่า สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้ เพราะต้องการนำผลการวิจัยที่ไม่ได้รับความสนใจ หรือดูไม่น่าสนใจ ออกมาเผยแพร่ ก็ชัดเจนว่า เป็นการ“ยัดเยียด”และเมื่อนักข่าวนำสิ่งที่ไม่น่าสนใจมาเผยแพร่ ก็ย่อมเกิดคำถามไปในตัวอยู่แล้ว คุณกำลังทำหน้าที่สื่อมวลชนเพื่อมวลชน หรือกำลังทำหน้าที่เพราะค่าตอบแทนที่ถูกจ่ายมา
กรณีนี้ผิดจริยธรรมสื่อมวลชนค่อนข้างชัดเจน หากพลิกไปดูข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพ ที่ระบุไว้ชัดเลย 7 ข้อ ในการนำเสนอว่า 1. จะต้องมีความเที่ยงตรง ความเป็นกลาง และความเป็นธรรม 2. ความเป็นอิสระต่อวิชาชีพ และความรับผิดชอบต่อสาธารณชน 3. การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นส่วนตัว และการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล 4. การคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากรายการที่แสดงออกถึงความรุนแรง การกระทำอันผิดกฎหมายหรือศีลธรรม อบายมุข และภาษาอันหยาบคาย 5. การปฏิบัติต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายและผู้ที่อยู่ในภาวะโศกเศร้า 6. การจ่ายเงินแก่แหล่งข่าว การรับรางวัล หรือผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อให้เสนอข่าว หรือมีส่วนร่วมในการกระทำใดอันทำให้ขาดความเป็นธรรมและความเป็นอิสระของวิชาชีพ และ 7. การปกป้องและปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างเป็นธรรม
จะเห็นว่า ในข้อ 6 ระบุไว้ชัดแจ้งแดงแจ๋เลยว่า การผิดจริยธรรมนั้น ไม่จำเป็นต้องรับเงินซึ่งๆ หน้าก็ได้ แต่หากเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อให้มีการนำเสนอข่าวนั้น ซึ่งมาจากการมีส่วนได้–ส่วนเสีย ย่อมเข้าข่ายที่กระทำผิดต่อจริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชน ดังนั้นกรณีนี้คงจะปล่อยผ่านไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะสร้างความเสื่อมเสียต่อองค์กรวิชาชีพ และจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนในอนาคตเอง
ไม่ใช่เฉพาะอดีตนักข่าวช่อง 5 ที่มีชื่อเท่านั้นที่มีชื่อจะต้องถูกตรวจสอบ แต่ต้องหมายถึงทุกสื่อที่ปรากฏว่า เกี่ยวข้อง หรือการมีส่วนร่วมในการนำเสนอผลวิจัยโดยมีค่าตอบแทนในการนำเสนอ
ไม่เว้นแม้แต่สถานีโทรทัศน์“ไทยพีบีเอส”เอง ที่มีข่าวว่า มีชื่อโผล่หรา ยิ่งต้องตรวจสอบกันอย่างเคร่งครัดกว่าที่อื่นเป็นทบเท่าทวีคูณ เพราะสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ มีความแตกต่างจากสถานีโทรทัศน์อื่นๆ เป็นองค์กรที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทิศทางเขียนไว้ชัดว่า
**“เป็นสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะที่เป็นของประชาชน ดำเนินงานโดยประชาชนมีส่วนร่วม และมุ่งให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์สูงสุด ต่อประชาชน และต่อสังคม”ที่สำคัญ ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน ปีหนึ่งๆ ได้รับราวๆ สองพันล้านบาท
“ไทยพีบีเอส”จะให้เปรียบก็เหมือนกับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกลายๆ ด้วยซ้ำไป เพราะใช้งบประมาณของประเทศ เป็นเหมือนหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ผลิตเนื้อหาสาระที่มีประโยชน์ให้สังคมโดยไม่หวังผลกำไร และมีความเป็นอิสระ ซึ่งในเมื่อเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของรัฐ และที่สำคัญ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เหมือนกับทุกหน่วยงาน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริง และเอาผิดผู้ที่กระทำความผิด เฉกเช่นเดียวกับหน่วยงานราชการทั่วไป ไม่มีข้อยกเว้น ไม่มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น
งานนี้งานยักษ์ ถ้าไม่ทำ เรื่องใหญ่ บานปลายไม่รู้จบแน่ ผู้บริหารมีหน้าที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง หากเพิกเฉย ไม่สอบสวน ตัวผู้บริหารเองก็อาจจะเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติการหน้าที่ ตัวองค์กรเองก็จะเกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น เสื่อมเสียชื่อเสียง เกียติภูมิ และเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับกรณีต่อๆ ไป
**เรื่องนี้คน“ไทยพีบีเอส”รู้ตัวเองดีว่า จะต้องทำอย่างไร คงไม่ต้องให้ใครมาบอก หากตระหนักว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความเสียหายต่อวิชาชีพ ย่อมรู้แก่หน้าที่ได้ จะรีบจัดการกันเอง โดยไม่ต้องรอให้เกิดแรงกดดันจากภายนอกเข้ามา
หากมีการสอบสวนแล้วพบว่าผิด จะต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาด ให้รู้ว่าเมื่อเป็นเสมือนเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้เงินเดือนจากภาษีประชาชนแล้วจะไปกระทำการแสวงหาประโยชน์ไม่ได้ เพราะเสียหายร้ายแรงกับประเทศ ต้องหิ้วตัวคนผิดไปมอบให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเพื่อเอาเรื่องทางกฎหมาย
คนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่าคนอื่นๆ แล้วยิ่งเป็นสื่อ ยิ่งต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าประโยชน์ตัวเอง ถือเป็นวาระใหญ่ และท้าทายวิชาชีพสื่ออย่างมาก ท่ามกลางข้อครหาของสังคมต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนยามนี้ หากไม่แสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นในการตรวจสอบกันเองเพื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการดำรงหลักการความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าวแล้ว จะเอาหน้าที่ไหนไปตรวจสอบคนอื่น
**มีแต่คนนินทาหมาดูถูก ขึ้นธรรมาสน์ไม่ล้างตีน !!
กำลังโหลดความคิดเห็น