xs
xsm
sm
md
lg

อิทธิพลของจิตวิทยาต่อการลงทุน (ตอน 2) ... บล.โกลเบล็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช                       ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก
ไม่พูดพร่ำทำเพลง วันนี้มาเริ่มเหตุการณ์ที่ 5 กันเลยดีกว่าครับ

เหตุการณ์ที่ 5
 
การจดจำราคา หรือตัวเลขแบบฝังใจ เรื่องนี้ก็ถือว่ามีอิทธิพลไม่น้อยต่อการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ เช่น เราเคยซื้อหุ้น กขค ที่ราคา 4 บาท แล้วเราขายมันไป 5 บาท หากหุ้นตัวนี้ขึ้นไปต่อเกินราคา 5 บาท เรามักจะไม่กล้าซื้อ เพราะเมื่อเรากลับมาซื้อแพงกว่าที่เราขายไป เราจะรู้สึกว่าเราแอบโง่ ขายไปถูกมาซื้อแพงกว่าเดิม หรือจะเป็นตรงกันข้าม เช่น เราเคยซื้อหุ้นตัวนึงที่ราคา 10 บาท แล้วอยากจะซื้อเพิ่ม ถ้าราคามันขึ้นไป 20 บาท เราอาจจะไม่กล้าซื้อหุ้นตัวนี้เพิ่มอีกเพราะเราจะรอให้มันย่อลงมาใกล้ๆ ราคาที่เราฝังใจ ซึ่งจริงๆ แล้วหุ้นตัวนั้นอาจจะกลายเป็นหุ้นที่ปรับขึ้นได้มากมายกว่าราคา 20 บาทก็ได้ เนื่องจากพื้นฐานเปลี่ยนไปดีขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ด้วยอคติด้านราคา จึงทำให้เราฝังใจแล้วมองว่าหุ้นตัวนั้นแพงเกินไปที่เราจะซื้อที่ราคาตลาด ตัวอย่างทั้ง 2 แบบเราเห็นได้จากตลาดทองคำ จากคนที่เคยซื้อทองคำตอนบาทละ 8,000 บาท แล้วขายไปตอน 12,000 บาท คนบางกลุ่มก็จะไม่กล้าซื้อทองคำอีกเลย และยังคงปักใจว่าราคาทองคำจะยังต้องลงมาสู่ระดับ 8,000-12,000 บาทจนกระทั่งทุกวันนี้

อคติแบบเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นต่อตัวเลขอื่นๆ เช่น เราเคยซื้อหุ้นตัวนึงราคา 5 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้หุ้นตัวนี้ขึ้นมาจากราคา 2-3 บาท แต่หลังจากนั้น หุ้นตัวนี้ปรับลง และทำให้เราติดดอยนานนับปี พอเราไปเจอหุ้นตัวใหม่ที่ขึ้นมากจากระดับ 2-3 บาท มาบริเวณ 5 บาทเหมือนกัน เราจะไม่กล้าซื้อหุ้นตัวใหม่นี้บริเวณราคาแบบนี้อีกแล้ว เพราะมันฝังใจกับอดีตที่เจ็บปวด ถึงแม้หุ้นตัวใหม่จะพื้นฐานดีขนาดไหนก็ตาม เช่นเดียวกันกับหุ้น IPO บางตัวที่จองราคาต่ำ แล้วหลังเปิดตลาดมาก็ปรับขึ้นอย่างเดียว หลายคนก็จะไม่กล้าซื้อเพราะหุ้นมัน New High เอาเรื่อยๆ ก็จะรู้สึกว่าแพงกว่าตอนที่ตัวเองได้จองที่ราคา IPO

เหตุการณ์ที่ 6
 
อคติจากการที่ตัวเองเป็นเจ้าของ หรือเกี่ยวข้องอยู่ เมื่อใดก็ตามที่เราถือสินทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งอยู่ ถึงแม้จะมีข่าวไม่ดีขนาดไหนก็ตาม เรามักจะมองว่าข่าวร้านอันนั้นมันไม่ร้ายอย่างที่คนอื่นเค้าคิดกัน เรามักจะเลือกมองเห็นแต่มุมที่ดีของมันอย่างไม่รู้ตัว ก็คล้ายๆ กับเวลาเราแอบชอบผู้หญิง หรือผู้ชายคนหนึ่ง หรือบางคนที่แอบคลั่งดาราคนหนึ่ง ถึงแม้ดารา หรือคนคนนั้นจะทำสิ่งที่ผิดจริยธรรมแค่ไหน เราก็มักจะเข้าข้าง หาเหตุผลต่างๆ นานาเพื่อมาสนับสนุนความชอบของตัวเองว่าคนนั้นไม่ได้ทำผิดอะไรที่น่ากังวล เรื่องแบบนี้มักเกิดขึ้นในการลงทุนเช่นกัน
 
ทั้ง 6 เหตุการณ์ถือเป็น 6 ตัวอย่างของเรื่องอคติที่มีผลต่ออารมณ์ของนักลงทุน และอารมณ์เหล่านั้นก็มักจะแอบส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกการลงทุนโดยเราไม่รู้ตัว ลองทบทวนตรวจสอบกันดูว่า เรากำลังลงทุนด้วยอคติหรือไม่ แล้วครั้งต่อไปจะมาพูดถึงอคติแบบอื่นๆ เพิ่มเติม

 
 
สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช

ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก
กำลังโหลดความคิดเห็น