xs
xsm
sm
md
lg

คิวเพื่อไทยขย่ม ม.44 อุ้มทีมสางโกงจำนำข้าว อ้างเลือกปฏิบัติ - “ก่อแก้ว” ขู่ระวังอารมณ์ชาวนา 13 ล้านคน จับตา! “วิษณุ” แถลงใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์
คิว “พรรคเพื่อไทย” ค้าน ม.44 อุ้ม ขรก.สางโกงจำนำ อ้างเลือกปฏิบัติ ออกแถลงการณ์ 6 ข้อถึง คสช. คัดค้านการออกคำสั่งคุ้มครองการบริหารจัดการข้าว แนะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างทั่วถึง ถามหาความเสมอภาค-เท่าเทียมกัน “ก่อแก้ว” โผล่ถามแทนทำไมนายหญิงต้องชดใช้ความเสียหาย อ้างห่วงอารมณ์ชาวนา 13 ล้านคน เอาใจช่วย หวั่นวนเวียนอยู่กับการถูกหยามโง่-จน-เจ็บ จับตา! “รองฯ วิษณุ” แถลงข่าวใหญ่ คาดสำนวนฟัน “ยิ่งลักษณ์-บุญทรง”

วันนี้ (4 พ.ย.) มีรายงานว่า พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์โดยมีใจความว่า ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกคำสั่งที่ 39/2558 เรื่องการคุ้มครองการบริหารการจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐและการดำเนินการต่อผู้รับผิด ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558 โดยอ้างความจำเป็นที่ต้องบริหารจัดการและการเก็บรักษาข้าวที่คงเหลือไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องดำเนินการต่อผู้รับผิดเพื่อชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ อันเป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันและระงับความเสียหายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ยังไม่มีเหตุผลและความจำเป็นเพียงพอ อีกทั้งเงื่อนไขในการออกคำสั่งยังไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จึงขอคัดค้านการออกคำสั่งดังกล่าวด้วยเหตุผล ดังนี้

1. การบริหารจัดการข้าวไม่ว่าจะเป็นการเก็บรักษา การระบาย หรือการดำเนินการต่อผู้รับผิดเพื่อชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ ถือเป็นงานประจำของฝ่ายบริหารที่ได้กระทำมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาช้านานของทุกรัฐบาล รวมทั้งมีหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบดำเนินการอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุดอันเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กรณีนี้จึงไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ที่มีความเร่งด่วนหรือเป็นการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่นำมาเป็นข้ออ้างในการออกคำสั่งแต่อย่างใด

2. คำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจแก่คนคนเดียวในการออกคำสั่งในทางใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นทางบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ ถือเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้งที่จะต้องหลีกเลี่ยงการใช้หรือพึงใช้ด้วยความระมัดระวัง แต่เหตุผลที่อ้างในการออกคำสั่งเพื่อคุ้มครองบุคคล คณะบุคคล คณะทำงาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่บริหารจัดการข้าวของรัฐที่กระทำไปโดยสุจริต ให้พ้นจากความรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัยนั้น ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องออกเป็นคำสั่งดังกล่าวอีก เนื่องจากผู้ที่กระทำการไปโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้แล้ว

3. การออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ยังขัดต่อหลักการตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 63/2557 เรื่อง นโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ที่ผู้ออกคำสั่งประกาศว่า ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างทั่วถึง โดยเสมอภาคและเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมจะต้องปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรม มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนที่สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ หลีกเลี่ยงการการดำเนินการใดๆ ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการบังคับใช้กฎหมาย อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่ผลของคำสั่งที่ 39/2558 ที่ปิดกั้นโอกาสของผู้เสียหายไม่ให้เรียกร้องความชอบธรรมด้วยการใช้สิทธิทางศาลถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง คำสั่งดังกล่าวจึงขัดต่อหลักนิติธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติ ทำให้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

4. ข้ออ้างในการยึดอำนาจการปกครอง ดังปรากฏในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คือ ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวก ทุกฝ่าย รวมถึงถ้อยแถลงทางวาจาของผู้ออกคำสั่งที่แสดงต่อสาธารณะในแทบทุกโอกาสเรียกร้องให้ทุกคนเคารพกฎหมายและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงขัดกันโดยสิ้นเชิงกับการออกคำสั่งที่ 39/2558 ที่ผู้ออกคำสั่งกับพวก กลับเป็นฝ่ายหลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสียเอง

5. ผลการศึกษาปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยจากทุกสถาบันเห็นตรงกันว่า มีสาเหตุสำคัญมาจากการเมือง การปกครอง กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม มีการเลือกปฏิบัติในลักษณะที่เรียกกันว่าสองมาตรฐาน คณะรักษาความสงบแห่งชาติเองก็ตระหนักในปัญหาดังกล่าวจึงได้ออกประกาศฉบับที่ 63/2557 เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพและดำเนินการให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและไม่มีการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น การออกคำสั่งที่ 39/2558 นอกจากจะเป็นการละเมิดต่อหลักนิติธรรมและเลือกปฏิบัติแล้ว ยังเป็นการทำลายหลักการที่ตนเองประกาศทั้งด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษร เท่ากับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมไทยเสียเอง

และ 6. ประการสำคัญที่สุด คือ การอ้างคำว่าสุจริตแล้วออกกฎหมายหรือคำสั่งยกเว้นความรับผิดไว้ล่วงหน้า เป็นการแทรกแซงอำนาจตุลาการในกระบวนการยุติธรรมและกลายเป็นสิ่งที่ทำจนเป็นบรรทัดฐาน หน้าที่การพิสูจน์การกระทำว่าสุจริตหรือไม่ต้องเป็นของคนกลางคือศาลหรือสถาบันตุลาการที่ใช้อำนาจแทนประชาชน ไม่ใช่ให้ตัวผู้กระทำซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้พิสูจน์หรือบอกกับสังคมเสียเองดังที่ทำกันมาโดยตลอด การออกคำสั่งที่ 39/2558 จึงเป็นเช่นเดียวกันกับการยึดอำนาจการปกครองที่อ้างว่ากระทำไปโดยสุจริตเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาให้ประเทศ แต่กลับนิรโทษกรรมตนเองและบริวารให้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาไว้ล่วงหน้าหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าของอำนาจ หากสุจริตจริงดังข้ออ้างย่อมจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ดังนั้น คำว่าสุจริตจึงเป็นเพียงวาทกรรมที่นำมาเป็นข้ออ้างในการกระทำตามอำเภอใจเท่านั้น

พรรคเพื่อไทยจึงเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติยกเลิกการออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างทั่วถึง โดยเสมอภาค และเท่าเทียมกัน อันจะนำมาซึ่งความยุติธรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของความปรองดองที่ทุกฝ่ายในสังคมไทยปรารถนาให้เกิดขึ้น

ด้านนายก่อแก้ว พิกุลทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องที่เป็นที่สนใจและเฝ้าติดตามของสังคมเรื่องหนึ่ง คือ การจัดการกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในโครงการจำนำข้าวว่าจะจบลงอย่างไร จะติดคุกและจะถูกยึดทรัพย์หรือไม่ ฝ่ายตรงข้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์โดยเฉพาะสมาชิกพรรคการเมืองคู่แข่ง ต่างส่งเสียงเชียร์คสช.ให้ใช้วิธีพิเศษในการจัดการกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะจะได้ยืมมือของคสช.ช่วยจัดการกับคู่แข่งทางการเมืองไปในตัว เพราะถ้าใช้วิธีการแข่งขันทางการเมือง พรรคของพวกตัวเองไม่อาจจะเสนอนโยบายมาสู้ได้ ในขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมทั้งชาวนากว่า 13 ล้านคนต่างเอาใจช่วย ออกมาส่งเสียงให้กำลังใจและเรียกร้องให้ คสช.ปฏิบัติต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วยความเป็นธรรม บางคนที่เหลืออดเหลือทนกับแนวทางของ คสช.ที่มองว่ากำลังพุ่งเป้าเล่นงานเธออย่างไม่เป็นธรรม ล่าสุดถึงกับนัดกันใส่เสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์ในการให้กำลังใจ

ในด้านคดีอาญาที่ ป.ป.ช.ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่ามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย กรณีละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลนั้น สังคมตั้งข้อสังเกตว่า ป.ป.ช.เลือกปฏิบัติหรือไม่ เพราะเร่งรัดดำเนินการกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในโครงการรับจำนำข้าว แต่กลับไม่มีความคืบหน้าในกรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ในโครงการประกันราคาข้าว ซึ่งดำเนินการขึ้นก่อนถึง 2 ปี รวมทั้งมีคำโต้แย้งจากนักกฎหมายหลายท่านว่า นโยบายนี้ผ่านการหาเสียงและได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงเป็นหน้าที่ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ดำเนินการจะถูกฝ่ายค้านและฝ่ายแค้นเล่นงานได้ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ดูแลในเรื่องนโยบายเท่านั้น ในส่วนฝ่ายปฏิบัติถ้ามีใครทุจริตก็ควรถูกฟ้องเป็นรายๆ ไป

นายก่อแก้วกล่าวต่อว่า ในทางแพ่ง รัฐบาล คสช.ได้แสดงเจตนาว่าจะใช้คำสั่งทางปกครองในการบังคับให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ความเสียหายหรือขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวแทนการฟ้องร้องในศาลแพ่ง มีการคาดการณ์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจถูกบังคับให้ชดใช้เงินหลายแสนล้านบาท จึงเป็นที่มาของการตั้งข้อสังเกตจากสังคมหลายประการว่า 1. ทำไมถึงต้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ความเสียหาย เพราะโครงการช่วยเหลือเกษตรกรมีการดำเนินการมาทุกรัฐบาล และไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ประเทศที่เจริญแล้วก็ยังทำ โครงการที่มีเป้าหมายในการช่วยเหลือเกษตรกรย่อมต้องขาดทุนอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องแบกรับเพื่อให้ประชาชนในกลุ่มเป้าหมายมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ถูกฟ้องในข้อหาทุจริต หมายความว่าเธอไม่ได้เงินเข้ากระเป๋าสักบาทเดียว แล้วทำไมถึงต้องให้ชดใช้ และถ้าจะให้เธอชดใช้ แล้วรัฐบาลที่ผ่านๆ มาและแม้กระทั่งรัฐบาลปัจจุบันทำการช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการต่างๆ ทำไมไม่ถูกเรียกร้องให้ชดใช้ อย่างไรก็ตาม แม้ประเด็นนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จะให้เหตุผลว่าเนื่องจาก ป.ป.ช.ชี้มูลมาจึงต้องดำเนินการ แต่ก็มีคำถามกลับไปยังรัฐบาลว่า รัฐบาลไม่รับทราบที่ประชาชนจำนวนมากตั้งข้อสังเกตการทำงานของ ป.ป.ช.ชุดนี้ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาหรืออย่างไร และเสียงเรียกร้องให้หยุดสอิงมาตรฐานไม่เคยเข้าหูสมาชิก คสช.เลยหรืออย่างไร และ คสช.ให้เหตุผลในการเข้าสู่อำนาจว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหด้วยหลักนิติธรรม ขอเวลาให้ คสช.ทำงานและพิสูจน์ตัวเองนั้น แล้วทำไมถึงไม่แก้ไขปัญหาความอยุติธรรม หนำซ้ำยังซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก

2. การที่นายวิษณุให้เหตุผลว่า ต้องออกคำสั่งทางปกครองเพราะต้องรีบดำเนินการในการหาคนรับผิดชอบ มิฉะนั้นคดีจะหมดอายุความทางแพ่งนั้น ถูกตั้งคำถามว่าทำไมไม่รีบยื่นฟ้องศาลแพ่ง เพราะเมื่อไปยื่นฟ้อง คดีก็ไม่มีวันหมดอายุความ มีนักกฎหมายที่เป็นอดีตผู้พิพากษาและทนายความหลายท่านให้ความเห็นว่า เรื่องคดีความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งยังไม่มีคำตัดสินว่าเธอผิดหรือไม่ จึงเป็นการไม่ถูกต้องที่จะออกคำสั่งทางปกครองให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งในทางกฎหมายถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องชดใช้ค่าเสียหายล่วงหน้าก่อนคำพิพากษาของศาล นอกจากนี้ นักกฎหมายยังให้ความเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2539 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องและช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกฟ้องร้องจากการปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อโดยไม่เจตนา ไม่ใช่นำมาใช้กับผู้นำประเทศที่บริหารประเทศตามนโยบายที่หาเสียงและได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้ ดังนั้นการที่จะใช้คำสั่งทางปกครองจึงเป็นการไม่ถูกต้องและไม่สง่างาม

3. มีการตั้งคำถามว่า ตัวเลขความเสียหายที่กำลังพูดกันว่าเป็นหลายแสนล้านนั้นคำนวณอย่างไร เพราะจากการดูข้อมูลข้าวในสต็อก ส่วนหนึ่งเป็นข้าวที่มีมาก่อนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์มารับผิดชอบบริหารจัดการต่อ นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งเป็นข้าวที่รับจำนำในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ที่มีการจำหน่ายไปจำนวนหนึ่ง และคงเหลือสต็อกที่รัฐบาลปัจจุบันรับมาบริหารจัดการต่อ ถ้าคำนวณแค่เพียงเอาราคาขายมาหักจากต้นทุนซื้อ และค่าบริหารการจัดเก็บ ผลขาดทุนจากข้าวในยุคก่อนรัฐบาล ส.ส.ยิ่งลักษณ์ใครต้องรับผิดชอบ และในส่วนข้าวที่เหลือเก็บไว้ในสต็อกแล้วรัฐบาลปัจจุบันมาจัดการต่อ ในส่วนที่ชะลอการขายแล้วเกิดค่าใช้จ่ายขึ้น อีกทั้งในส่วนที่ต่อรองราคาไม่ดี ทำให้ราคาขายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรือถ้ามีการทุจริตขึ้นโดยการอ้างว่าเป็นข้าวเสื่อมสภาพเพื่อขายให้กับพวกพ้องในราคาต่ำเป็นพิเศษ ทำให้เกิดผลขาดทุนมากขึ้น ใครต้องรับผิดชอบ

“ในอีกด้านหนึ่ง โครงการรับจำนำข้าวเป็นการยกระดับรายได้ของเกษตรกร และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจากข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์พบว่า โครงการนี้ช่วยเพิ่ม GDP 2.7% ต่อปี ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1 ล้านล้านบาท ชาวนา 3.7 ล้านครอบครัวมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 58.6% บุตรหลานได้เรียนสูงขึ้น 54.4% รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น เกิดอาชญากรรมและปัญหาสังคมน้อยลง สังคมโดยรวมมีความสุขมากขึ้น ซึ่งบางอย่างวัดเป็นตัวเงินไม่ได้ ข้อดีส่วนนี้ทั้งหมดจะนำมาหักลบจากตัวเลขความเสียหายหรือไม่ อย่างไร” นายก่อแก้วกล่าว

4. จากกรณีที่ คสช. ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ในเรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าว ซึ่งต่อมามีการวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านอย่างหนัก นายวิษณุออกมาชี้แจงว่าเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อออกคำสั่งคุ้มครองผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการข้าวที่อยู่ในสต๊อกของรัฐในการดูแลและระบายข้าว ถ้าทำตามหน้าที่โดยสุจริตจะได้รับการคุ้มครอง ไม่ถูกฟ้อง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อื่นนั้น มีการตั้งคำถามว่า ถ้าทำตามหน้าที่โดยสุจริตจะกลัวอะไรกับการถูกฟ้อง ในทางกลับกัน ถ้ามีการทำหน้าที่ที่ไม่เที่ยงตรง ทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจคนใดในการใด เพื่อเอื้อประโยชน์ใคร โดยอ้างว่าทำหน้าที่โดยสุจริต ก็จะได้รับการคุ้มครอง ไม่มีหน่วยงานไหนสามารถตรวจสอบได้

นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้มีการประโคมข่าวว่ามีข้าวเสีย ข้าวเน่าจำนวนมาก แต่กลับไม่มีการประกาศฟ้องร้องโกดังที่ให้เช่าและดูแลการเก็บข้าวรายใด ทั้งๆ ที่ในสัญญามีการระบุให้ผู้ให้เช่าโกดังต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย อีกทั้งการประกาศว่ารัฐบาลมีสต็อกข้าวคุณภาพต่ำนั้น จะทำให้ขายได้ราคาที่ต่ำมาก ในขณะที่สภาพข้าวจริงๆ อาจจะไม่ได้เป็นเช่นที่ประโคมข่าว ดังนั้น ผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการข้าวที่อยู่ในสต๊อกก็อาจจะอนุมัติขายข้าวต่ำกว่าความเป็นจริงโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ได้รับการคุ้มครองตามประกาศของ คสช. ซึ่งการที่ราคาขายต่ำจะทำให้มีผลขาดทุนยิ่งขึ้น แล้วอาจจะมีใครหาเหตุมาให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชอบในผลขาดทุนด้วย ถ้าเป็นจริงตามที่มีคนตั้งข้อสังเกตก็อาจจะมีไอ้โม่งอิ่มหมีพีมันไปอย่างเนียนๆ

อย่างไรก็ตาม ตนไม่รู้ว่ารัฐบาล คสช.จะใช้คำสั่งทางปกครองในการบังคับให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวหรือไม่ ถ้ายังยืนกรานใช้วิธีการดังกล่าวก็คงให้เธอชดใช้เป็นมูลค่ามหาศาลจำนวนมากมายกว่าทรัพย์สินที่เธอมี นั่นหมายถึงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะต้องถูกยึดทรัพย์ ล้มละลาย กลายเป็นคนไม่มีทรัพย์สินอะไรเหลือ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงตนยังเชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์คงไม่เดือดร้อน เพราะจะมีผู้สนับสนุนจำนวนมากพร้อมใจสมทบทุนในการช่วยเหลือเธอ แต่สิ่งที่ตนเป็นห่วงที่สุดคือ อารมณ์ความรู้สึกของคนจำนวนมากที่สนับสนุนเธอ และผู้ที่สงสารในความอยุติธรรมที่เธอได้รับ ทั้งๆ ที่เธอทำหน้าที่ในการช่วยเหลือคน และตลอดระยะเวลาที่ทำหน้าที่นายกฯ เธอปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็ง สุภาพ นอบน้อม เต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและมิตรไมตรี ไม่เคยมีปากเสียง ทะเลาะวิวาทกับใครให้คนไทยได้เห็น มีแต่ความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำหน้าที่ด้วยความสุจริต แต่ยังถูกกระทำหนักหนาสาหัสขนาดนี้ โดยเฉพาะอารมณ์ความรู้สึกของชาวนา 13 ล้านคนที่ทั้งเสียใจและเศร้าสร้อยต่ออนาคตที่มืดมนของอาชีพตนเอง ที่มองไม่เห็นอนาคตใดๆ ที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชีวิตจะต้องวนเวียนอยู่กับการถูกดูถูกเหยียดหยามว่า “โง่ จน เจ็บ” ตลอดไป

“หัวใจของคนจำนวนมากเหล่านี้กำลังมีอารมณ์ร่วมในความรู้สึกเสียใจ คับแค้น และชิงชังต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ และอาจจะนำมาสู่การนัดให้กำลังใจคุณยิ่งลักษณ์อย่างที่เคยเกิดขึ้นอีก และหากเกิดขึ้น คสช.ก็อาจจะคาดโทษคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่ปฐมเหตุของเรื่องนี้มีสาเหตุมาจาก คสช.เองทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ผมห่วงมากที่สุดคืออนาคตของประเทศไทย ที่คนไทยคาดหวังให้สังคมสมานฉันท์ ปรองดองกัน จับมือกันผลักดันประเทศไทยให้ไปข้างหน้า ให้เจริญเทียบทันนานาชาติได้ ซึ่งผมติดตามดูมหากาพย์เรื่องนี้แล้วยอมรับว่า การปรองดองยากที่จะเกิดขึ้นได้จริง เพราะการปรองดองไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการเขียนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดๆ การปรองดองไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้กระบอกปืน การปรองดองไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการขู่ปิดประเทศ การปรองดองไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการบังคับใช้กฎหมายกระทำต่อฝ่ายเดียว การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขของความยุติธรรม เสมอภาค และเท่าเทียมกันเท่านั้น ซึ่งจนถึงขณะนี้เรายังไม่มีปัจจัยที่จะนำไปสู่การปรองดองได้เลย” นายก่อแก้วกล่าว

มีรายงานว่า ช่วงบ่ายวันที่ 5 หรือ 6 พ.ย.นี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีจะแถลงข่าวใหญ่ คาดว่าจะเป็นประเด็นคดีการจำนำข้าว ภายหลังรายงาน ครม.เรื่องของสำนวนคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และสำนวนคดีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และผู้เกี่ยวข้องคือบริษัทเอกชนทั้งหลาย


กำลังโหลดความคิดเห็น