xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” ชี้ข้อเสนอ กรธ.หลักการดี แต่ตัดสิทธิ์คนแพ้โหวตโนแรงไป หนุน ส.ว.เลือกตั้งสังกัดพรรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
กรรมการการเลือกตั้ง ชูเอาคะแนนผู้แพ้ ส.ส. เขต ไปรวมยอดบัญชีรายชื่อเป็นหลักการที่ดี กาใบเดียวประหยัดงบหลักร้อยล้าน แต่รับพรรคเล็กเสียเปรียบ ชี้พรรคเบอร์ 1 - 2 ได้ ส.ส. ใกล้เคียงกัน ส่วนเรื่องตั้งรัฐบาลก็อยู่ที่ใครดึงใครได้มากกว่า รับตัดสิทธิ์ผู้สมัครที่แพ้โหวตโนแรงเกินไป ส่วน ส.ว. สรรหา หมดอาจทำประชาชนสงสัย หนุนเลือกตั้งหมดดีกว่า ให้สังกัดพรรคได้ พบสถิติย้อนหลังหากใช้จริงเพื่อไทย ส.ส. หด พรรคอื่นได้เพิ่มเพียบ

วันนี้ (27 ต.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงแนวคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เสนอระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่ให้ประชาชนเลือกเพียง ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้ง และใช้คะแนนของผู้สมัคร ส.ส. เขต ที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง มาคำนวณหาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ว่า ถ้ามองในเชิงการออกแบบ ถือเป็นหลักการที่ดี เพราะเป็นความพยายามในการทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมาย ทำให้ประชาชนเกิดความสะดวก ไม่ซับซ้อน เพราะจะกาบัตร ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้งเพียงใบเดียว ทำให้เกิดความสะดวกในการจัดเลือกตั้ง ที่จะประหยัดงบประมาณเฉพาะค่าบัตรเลือกตั้งไปกว่าหลักร้อยล้านบาท โดยรวมก็เห็นว่าเป็นการออกแบบที่ค่อนข้างน่าสนใจ กรธ. น่าจะมาถูกทาง เพราะเป็นการออกแบบที่อาจจะเหมาะสมกับประเทศไทย แต่ระบบดังกล่าวก็มีจุดอ่อน คือ พรรคการเมืองขนาดเล็กจะเสียเปรียบ เพราะถ้าพรรคเล็กอยากได้คะแนนในส่วนนี้ไปคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ก็จำเป็นที่จะต้องส่งผู้สมัครลงในระบบเขตเลือกตั้งให้มากที่สุด

นายสมชัย กล่าวว่า ยกตัวอย่างเช่น มีเขตเลือกตั้ง 400 เขต พรรคใหญ่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครบทุกเขต แต่พรรคเล็กที่มีขีดความสามารถในการส่งผู้สมัครได้เพียงไม่กี่เขตนั้น ก็จะได้คะแนนในส่วนนี้น้อยกว่า จึงจะเกิดความได้เปรียบแก่พรรคใหญ่ในทันที วิธีการคิดเช่นนี้ กรธ. อาจต้องการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา กรณีที่พรรคเล็กบางพรรคไม่ยอมส่งผู้สมัครลงใน ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้ง แต่พยายามสร้างคะแนนนิยมในภาพรวม เพื่อไปหวังผลเอาคะแนนเฉพาะ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้เป็นการส่งเสริมพรรคใหญ่ทำให้ไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในจำนวน ส.ส. ภายหลังการเลือกตั้ง พรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 - 2 จะมี ส.ส. ที่มีจำนวนใกล้เคียงกัน หาก กรธ. ออกแบบสัดส่วนระหว่าง ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้ง และระบบบัญชีรายชื่อที่มีจำนวนครึ่ง ๆ ส่วนจะมองว่าเป็นปัญหาตอนจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ เห็นว่า เป็นเรื่องของการเมืองที่ใครจะดึงใครได้มากกว่า

สำหรับข้อเสนอที่ผู้จะได้เป็น ส.ส. ต้องมีคะแนนมากกว่าโหวตโน นายสมชัย กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับคะแนนผู้มาใช้สิทธิไม่ประสงค์ลงคะแนนหรือโหวตโนเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการสะท้อนว่าเสียงของประชาชนมีความหมาย แต่ส่วนจะถึงขึ้นตัดสิทธิผู้สมัครที่แพ้คะแนนโหวตโนนั้น ตนยังไม่คิดไกลถึงขนาดนั้น หากการเลือกตั้งครั้งแรกประชาชนไม่สนับสนุน แต่การเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้สมัครอาจได้รับความน่าเชื่อถือ จึงควรจะให้เป็นสิทธิของผู้สมัครในการปรับปรุงตัวเอง การไปตัดสิทธินั้นอาจดูแรงเกินไป ขนาดการพิจารณาโทษตัดสิทธิทางการเมืองนั้นยังเป็นเรื่องที่ยาก ยังมีการถกเถียงว่าองค์กรใดจะมีอำนาจในส่วนนี้

นายสมชัย ยังกล่าวถึงที่มาของ ส.ว. ว่า แม้ที่ผ่านมาอาจมองว่า ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง มีปัญหา ส่วน ส.ว. สรรหา เหมือนจะมีบทบาทที่เข้าตาประชาชนมากกว่า แต่ถ้าจะให้ ส.ว. มาจากการสรรหาทั้งหมดนั้น อาจสร้างข้อสงสัยถึงกระบวนการสรรหาว่าใครจะเป็นผู้สรรหา วิธีการสรรหาจะเหมาะสมหรือไม่ ดังนั้น ถ้าจะให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดน่าจะเหมาะสมกว่า อย่าไปกลัวเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองของ ส.ว. ในหลายประเทศ ส.ว. ก็สามารถสังกัดพรรคการเมืองได้ ดังนั้น เราควรจะให้ ส.ว. เปิดเผยตัวเองเลยว่าสังกัดพรรคใด และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีข้อห้ามไม่ให้ ส.ว. สังกัดพรรค แต่ข้อเท็จจริงก็มักจะมีการวิ่งเข้าหาพรรค สุดท้ายก็ไม่ปลอดจากการเมืองและนำไปสู่การตอบแทนกัน จึงอยากให้ยอมรับความจริงโดยทำทุกอย่างให้เปิดเผยชัดเจน หรือหาแนวทางกำหนดที่จะทำอย่างไรให้ ส.ว. ทำหน้าที่ตามบทบาทที่กำหนด

รายงานข่าวแจ้งว่า ระบบการเลือกตั้งรูปแบบใหม่ตามแนวคิดของ กรธ. นั้น เบื้องต้นยังคงจะให้มี ส.ส. 500 คน โดยเป็น ส.ส. เขต 400 ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งรูปแบบการเลือกตั้ง ส.ส. ในประเทศจะให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือก ส.ส. เขตเพียงอย่างเดียว ขณะที่คนไทยในต่างประเทศ ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งจะมีสิทธิลงคะแนนเลือกพรรคเท่านั้น ไม่ได้เลือก ส.ส. เขต ซึ่งในการคำนวณจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้ ก็จะเป็นการนำคะแนนของผู้สมัคร ส.ส. เขต ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งของทั้งประเทศ มารวมกับคะแนนพรรคที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศได้ลงคะแนนไว้ แล้วคิดคำนวณออกมา และจากข้อมูลที่ กรธ. ได้รับจากสำนักงาน กกต. ที่เสนอตารางเปรียบเทียบการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จากคะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อ 6 ก.พ. 48 ที่กฎหมายเวลานั้นกำหนดให้มี ส.ส. เขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน โดยที่มีการตัดคะแนนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งออกแล้ว พบว่า จะทำให้จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ได้คะแนนมาเป็นที่หนึ่งในระบบการคิดคำนวณบัญชีรายชื่อแบบเดิม ได้ ส.ส. ลดลงเกินครึ่ง กล่าวคือ ผลคะแนนรวมที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคเพื่อนำมาคำนวนคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบเดิม 25 พรรค ในปี 48 มีคะแนนทั้งสิ้น 31,048,223 คะแนน

ขณะที่ผลคะแนนรวมของผู้สมัครที่ไม่ได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้งของทั้งประเทศเมื่อปี 48 มีทั้งสิ้น 25 พรรค รวม 11,081,047 คะแนน และเมื่อนำมาคำนวณกับจำนวน ส.ส. บัญชีฯ ที่พึงมี 100 คน ส.ส.บัญชีฯ 1 คน จะต้องมีคะแนนเฉลี่ย 100,810 คน ผลคะแนนแบ่งเขตที่ไม่รวมผู้ได้รับเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 4,065,059 คะแนน จะได้ ส.ส. 37 คน เพิ่มขึ้นจากการคิดคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบเดิม ที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรค ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนน 7,210,742 คะแนน ได้ ส.ส. เพียง 26 คน พรรคชาติไทย ได้คะแนน 2,326,043 คะแนน จะได้ ส.ส. 21 คน เพิ่มขึ้นจากการคิดคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบเดิม ที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรค ซึ่งพรรคชาติไทยได้คะแนน 2,061,559 คน ได้ ส.ส. เพียง 7 คน พรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทย ปัจจุบัน ได้คะแนน 2,151,634 คะแนน จะได้ ส.ส. 20 คน เป็นพรรคเดียวที่จำนวน ส.ส. ที่จะได้ลดลงเมื่อเทียบกับการคิดคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบเดิม ที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรค ซึ่งพรรคไทยรักไทย ได้ 18,993,073 คะแนน ได้ ส.ส. 67 คน เท่ากับลดลงถึง 47 คน และพรรคมหาชน ได้คะแนน 2,148,442 คะแนน จะได้ ส.ส. 19 คน จากที่การคิดคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบเดิม ที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรค พรรคมหาชน ไม่มี ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย เช่นเดียวกับพรรคคนขอปลดหนี้ ผลคะแนนแบ่งเขตได้ 166,651 คะแนน จะได้ ส.ส. 2 คน พรรคความหวังใหม่ ผลคะแนนแบ่งเขตได้คะแนน 133,935คะแนน จะได้ ส.ส. 1 คน จากที่การคิดคำนวณแบบเดิมไม่เคยได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น