ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ระบุหน้าที่ของรัฐใน รธน.จะบังคับให้รัฐต้องทำอัตโนมัติ หากไม่ทำจะถูกฟ้องละเลยปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ไม่เขียนให้ตายตัว ไม่ระบุโทษ ระบุใส่ปรองดองเป็นหน้าที่คงลำบาก เผยข้อเสนอ “ธานินทร์” ตรงกับ ม.35 บอกอุ่นใจผู้ใหญ่เห็นดีปราบโกง ส่ง กรธ.ลงพื้นที่ฟังความเห็นร่วม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
วันนี้ (22 ต.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.30 น. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวก่อนเข้าประชุมถึงแนวทางการวางหมวดว่าด้วยหน้าที่ของรัฐในร่างรัฐธรรมนูญว่า เมื่อกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐก็ต้องมีสภาพบังคับว่า รัฐต้องดำเนินการสิ่งใดบ้าง ซึ่งเดิมที่เขียนไว้เป็นสิทธิของประชาชนเนื่องจากอาจมีปัญหาภายหลัง อาทิ หากระบุว่า ประชาชนมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐแต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีกฎเกณฑ์บังคับไว้ ดังนั้นจึงคิดว่าควรระบุให้เป็นหน้าที่ของรัฐดีกว่าจะได้ไม่ต้องกังวลว่าประชาชนจะมีสิทธิหรือไม่ เนื่องจากเป็นหน้าที่ของรัฐและรัฐต้องดำเนินการ หากปฏิเสธไม่ทำตามก็อาจจะถูกฟ้องฐานละเลยหน้าที่ซึ่งจะมีความผิดทางอาญาได้ ทั้งนี้จะต้องไม่เขียนอะไรที่เป็นการตายตัว อาทิ การศึกษาภาคบังคับรัฐจะต้องจัดแจงให้ประชาชนเป็นการศึกษาภาคบังคับ แต่ส่วนการศึกษาอื่นๆ ก็ต้องเป็นไปตามนโยบาย ส่วนแนวนโยบายของพรรคการเมืองนั้นจะทำหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองนั้นๆ ส่วนการรับฟังความเห็นของประชาชนในเรื่องนี้ฟังได้แต่ไม่สามารถเขียนความต้องการของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากเป็นเพียงข้อเรียกร้องของประชาชนไม่ใช่หน้าที่รัฐจะต้องจัดการให้ อาทิ ประชาชนเรียกร้องให้กำหนดราคาข้าว เป็นต้น ทั้งนี้ กรธ.มองว่าการบังคับรัฐให้ดำเนินการในสิ่งที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้มีแนวโน้มว่าดีกว่า แต่จะไม่เขียนโทษในร่างรัฐธรรมนูญ
นายมีชัยกล่าวอีกว่า ในส่วนของการเข้าร่วมหารือกับอนุกรรมการปรองดองฯ นั้นตนไม่ได้มอบแนวทางใดๆ เนื่องจากต้องรอผลการพิจารณาของหน่วยงานดังกล่าวก่อน ทั้งนี้ การปรองดองหากจะต้องเขียนให้เป็นหน้าที่ของรัฐด้วยนั้นคงลำบาก เนื่องจากจะต้องระบุถึงวิธีการดำเนินการปรองดอง อย่างไรก็ตามการเขียนร่างรัฐธรรมนูญจะต้องคิดถึงความเป็นไปได้ด้วย ส่วนข้อเสนอของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี นั้น ขณะนี้กรธ.แต่ละคนอยู่ระหว่างการศึกษาความเห็นของนายมีชัย ซึ่งข้อเสนอของท่านนั้นตรงกับรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 35 ดังนั้นคงไม่มีปัญหาใด เพราะเราก็คงต้องบัญญัติไว้ โดยสิ่งนี้ทำให้ กรธ.รู้สึกอุ่นใจเนื่องจากผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเห็นดีเห็นงามในการขจัดการทุจริตให้ ส่วนการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เนื่องจากทาง กรธ.มีระยะเวลาในการทำงานน้อย ทาง กรธ.จึงได้ตกลงกับทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่าหากมีการลงพื้นที่เมื่อใดให้แจ้งให้ทาง กรธ.ได้รับทราบด้วย หาก กรธ.คนใดไม่ติดภารกิจก็จะได้มีโอกาสร่วมลงพื้นที่ไปรับฟังความคิดเห็นด้วย