ผ่าประเด็นร้อน
ปมรับจำนำข้าวยังเป็นประเด็นที่สังคมจับตาโดยเฉพาะในสัปดาห์ที่ผ่านทั้งฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยต่างออกมาโต้ตอบผ่านหน้าสื่อด้วยการงัดข้อกฎหมายขึ้นมาหักล้างกันแบบช็อตต่อช็อต วันต่อวันเริ่มจากการที่รัฐบาลเคลื่อนไหวหนักหน่วงไล่บี้หาผู้รับผิดชอบต่องบประมาณชาติที่สูญหายไปจากโครงการรับจำนำข้าวจำนวนมหาศาล ที่มีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านบาท
งานนี้รัฐบาลได้นักกฎหมายชั้นเซียน อย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เนติบริกรคู่บุญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวบรวมหลักฐานพยานเป้าหมายเร่งด่วน คือ การใช้คำสั่งทางปกครองสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวก่อนที่คดีจะหมดอายุความลงในอีก 1 ปี 6 เดือนข้างหน้า หากรัฐบาลไม่เร่งใช้คำสั่งทางปกครองอาจทำให้ชวดตามงบประมาณแผ่นดินจำนวนสูงนี้กลับเข้าคลัง และอาจจะถูกมาตรา 157 เล่นงานข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หลังจากที่รับข้อมูลจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตชี้มูลมาแล้ว
โดยคำสั่งทางปกครองต้องแยกคดีที่ขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการเรียกสืบพยาน ขั้นตอนต่าง ๆ ดังนั้น ช่องทางของคำสั่งทางปกครอง เป็นช่องทางลัดไม่ต้องใช้เวลายาวนานจนเหงือกบาน
ช่องทางดังกล่าวทำให้ฝั่งเพื่อไทยต้องกุมขมับ ปวดขมองหาช่องทางทางกฎหมายขึ้นมาแก้ต่างให้นาย เพราะงานนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบคนเดียวเต็ม ๆ ในฐานะผู้นำรัฐบาลในขณะนั้นและในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) บิดพลิ้วลำบาก
โดยเปิดปมต่อสู้ใช้ลูกอ้อนทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ ขอความเป็นธรรมโดยขอให้ทบทวนการพิจารณาเร่งออกคำสั่งทางปกครองให้คดีเรียกค่าเสียหายมูลค่า 5 แสนล้านบาท จากโครงการรับจำนำข้าวแล้วให้เข้ากระบวนการยุติธรรมประเด็นของจดหมายเปิดผนึกส่วนหนึ่งได้ชี้แจงและเรียกร้องสิ่งที่ตัวเองต้องการและปฏิเสธไม่ต้องว่าได้คะแนนสงสารในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งไปเต็ม ๆ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะบอกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เขียนเองแต่คงเป็นฝ่ายทนายหรือทีมงานจัดทำให้ ก็เป็นเรื่องที่มองกันได้และเป็นการดิสเครดิตกันทางหนึ่ง
แต่ไม่ว่าใครจะอยู่เบื้องหลังของจดหมายน้อยฉบับนี้ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะชื่อที่ถูกกล่าวอ้างคือยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะเจ้าของเฟซบุ๊ก เนื้อหาที่สื่อไม่ได้หวังผลต่อ พล.ประยุทธ์ หรือฝ่ายรัฐบาล แต่ต้องการยึดพื้นที่สื่อในการเสนอข้อมูลไปสู่ฐานเสียงใหญ่ของเพื่อไทย นั่นก็คือชาวนา ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว
โดยต้องการจะสื่อให้ชาวนาเห็นถึงว่าโดนรังแกอย่างไร ตัวเองกำลังถูกรังแกจากฝ่ายที่มีอำนาจอย่างไม่สามารถกระดิกได้เลย และการใช้คำสั่งทางปกครองโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมทางศาลได้พิสูจน์ ยิ่งทำให้มีนheหนักที่น่าเชื่อได้ว่า “ถูกเล่นงาน” จริงๆ
มิหนำซ้ำไม้สุดท้ายก่อนคำสั่งทางปกครองจะสำเร็จผลฝ่ายรัฐบาลกลับเปลี่ยนหน้าผู้เล่นพลิ้วจากเดิมที่นายวิษณุเคยยืนยันว่าคำสั่งดังกล่าวต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสุดท้ายโยนเรื่องไปให้เจ้ากระทรวงคลังเป็นผู้ลงนาม โดยอ้างว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีสังกัดและยึด พ.ร.บ. ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นตัวนำทางในการเอาผิด
กลายเป็นว่าสุดท้ายรัฐบาลพลิกมุมให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องลงนามคำสั่งทางปกครองเชือด น.ส.ยิ่งลักษณ์ เหมือนเลี่ยงที่จะเป็นคู่กรณี หรือไม่สบายใจจากจดหมายเปิดผนึก เพราะนายกฯเองก็เป็นกังวลไม่น้อยซึ่งดูได้จากการที่ช่วงหลัง ๆ นายกฯเองก็พยายามใช้พื้นที่สื่อในการส่งสารถึงประชาชน เน้นย้ำเรื่องการไม่ได้ไล่บี้ฝ่ายตรงข้าม แต่ทำทุกอย่างตามกระบวนการยุติธรรม
สุดท้ายแล้วการที่ไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนาม ยิ่งทำให้เกิดข้อคลางแคลงว่าเป็นการเซฟหัวหน้าคณะคสช. ในฐานะผู้นำรัฐบาลเพราะกลัวถูกเช็คบิลย้อนหลังหรือไม่ โดยเฉพาะ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามอ้างว่าคำสั่งทางปกครองขัดหลักนิติธรรมหรือไม่ และเห็นว่าคดีนี้ควรส่งให้ศาลยุติธรรมและขู่ว่าการใช้คำสั่งทางปกครองอาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เรื่องคดีจำนำข้าวยังเป็นเรื่องที่สองฝ่ายต้องต่อสู้กันด้วยข้อมูลชั้นเชิงทางกฎหมาย รวมถึงในทางข่าวที่ต้องสื่อสารถึงประชาชนก็ยังต้องสู้กันยิบตา
สุดท้ายชาวนาจะเชื่อใครต้องรอวัดผลกันเมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ ถ้าที่สุดแล้วเพื่อไทยกลับมาเข้าวินครอบครองประเทศเหมือนเดิมการยึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จะสูญเปล่าหรือไม่ต้องสู้กันอีกหลายยกแบบเข้มข้นเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การสร้างความเข้าใจกับสิ่งที่ชาวนาเคยได้ประโยชน์ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ถือเป็นโจทย์สำคัญของการปฏิรูปประเทศไทยโดยยึดจำนำข้าวโมเดล