อนุฯ กก.สิทธิฯ ชงผู้ว่าฯ กทม.-มท.ยึด ปชช.มีส่วนร่วมในการพิจารณารื้อแผงค้าสะพานเหล็ก-สะพานหัน ชี้เป็นเรื่องสิทธิชุมชนจะยึด กม.อย่างเดียวไม่ได้ มท.เผยกำลังเร่งพิจารณาคำอุทธรณ์คาด 1-3 วันรู้ผล ด้าน กทม.ยันไม่ใช่เร่งรัดรื้อ แต่ประกาศนานแล้ว ระบุหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง 20 ต.ค.ต้องเดินหน้ารื้อเหตุเป็นคำสั่งทางปกครอง ไม่ทำมีสิทธิเจอ ม.157 เชื่อผู้ค้ายื้อเวลาเพื่อขายต่อ ไม่ใช่ขนของไม่ทัน คุยเตรียมพื้นที่รองรับผู้ค้าเรียบร้อย ซ้ำค่าเช่าถูก ขณะที่ผู้ค้าอัดมีวาระซ่อนเร้น เอื้อประโยชน์บริษัทเอกชน
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันนี้ (16 ต.ค.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิ เป็นประธานได้มีการประชุมหารือกรณีผู้ค้าย่านสะพานเหล็ก และสะพานหัน ร้องเรียนกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะทำการรื้อถอนร้านค้าโดยไม่ชอบ โดยได้มีการเชิญตัวแทนผู้ค้า กรุงเทพมหานคร และกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมหารือ ในส่วนของ กทม.มีนายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.และ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ เขตพระนคร มาชี้แจง
ตัวแทนผู้ค้าตั้งข้อสังเกตว่าการเร่งรื้อถอนของ กทม.มีวาระซ่อนเร้นที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการที่บริษัท ทีซีซี เวิ้งนครเขษม เจ้าของตึกแถวย่านดังกล่าวที่ต้องการให้พื้นที่ดังกล่าวไม่มีการตั้งแผงค้าจึงมีการกดดันไปยัง กทม.ให้มีคำสั่งรื้อถอน อีกทั้งเหตุใดในสมัยแรกของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จึงไม่มีนโยบายรื้อถอน ถ้าจะอ้างว่ามีคำสั่งศาลให้รื้อถอนนานแล้ว แต่กลับมาดำเนินการในวาระที่ 2 และที่อ้างว่าผู้ค้าบุกรุกค้าขายฟรีก็ไม่จริงเพราะมีหลักฐานเป็นใบเสร็จจ่ายค่าส่วนกลาง และค่าบำรุงให้แก่สำนักงานกิจการตลาด ของสำนักงานเขต ขณะที่ระยะเวลาที่ให้กับผู้ค้าในการรื้อถอนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 28 ก.ย. กระชั้นชิดเกินไป กทม.ไม่มีแผนรองรับว่าจะให้ผู้ค้าย้ายไปขายในที่ใดก่อนที่จะมีการปักป้ายคำสั่งรื้อถอน รวมถึงทางผู้ค้าได้มีการยื่นอุทธรณ์ประกาศรื้อถอนไปยังสำนักงานเขต และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้พิจารณาคำอุทธรณ์แล้วเสร็จใน 60 วัน เหตุใด กทม.จึงไม่รอผลการอุทธรณ์ก่อน
ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 14 ต.ค.และมีการเจรจาระหว่างผู้ค้ากับ กทม. โดยทาง กทม.รับเงื่อนไขที่จะขยายเวลาในการรื้อถอนออกไปอีก 6 เดือน แต่ภายหลังกลับมีการเสนอข่าวว่าการรื้อถอนจะยังคงต้องดำเนินการตามประกาศ คือจะเริ่มเข้ารื้อถอนในวันที่ 20 ต.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ผู้ค้ายืนยันว่าที่เคลื่อนไหวไม่ใช่จะไม่ย้าย แต่ต้องการให้ขยายเวลาในการรื้อถอนออกไปอีก 1 ปี เพื่อไม่ให้การรื้อถอนเกิดความเสียหายต่อสินค้า รวมถึงให้มีการเตรียมสถานที่ค้าขายแห่งใหม่ให้เกิดความพร้อมก่อน โดยให้ กทม.ประสานในการจัดหาสถานที่ขายแห่งใหม่
ด้าน พล.ต.ต.วิชัยได้ชี้แจงถึงเหตุผลในการรื้อถอนว่า กทม.ไม่มีเจตนาที่จะทำให้ผู้ค้าเดือดร้อน แต่ต้องปฏิบัติตามตามมติ ครม. มติคณะกรรมการอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ และคำสั่งศาลฎีกา รวมถึงมีชาวบ้านร้องเรียน ยืนยันว่าไม่ใช่ กทม.ไม่แจ้งว่าจะรื้อถอน มีการติดประกาศแจ้งมาตั้งแต่ปี 2543 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน และการที่ กทม.เข้าปรับภูมิทัศน์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ในช่วงที่ผ่านมาก็จะแจ้งผ่านสื่อทุกครั้งว่าจะมีการรื้อถอนร้านค้าย่านสะพานเหล็ก สะพานหันมาตลอด เนื่องจากมีการร้องเรียนทั้งในเรื่องการตั้งแผงกีดขวางทางเท้า คับแคบ หากเกิดเหตุเพลิงไหม้จะไม่สามารถดับเพลิงได้ มีการรุกล้ำคลองโอ่งอ่างที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจนตื้นเขิน สกปรก เต็มไปด้วยขยะจนไม่สามารถระบายน้ำจากพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรได้ตามที่นายกรัฐมนตรีมีนโยบาย เพื่อใช้เป็นเส้นทางในการระบายการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ชั้นใน
ที่อ้างว่า กทม.มีวาระซ่อนเร้นกับบริษัท ทีซีซี เวิ้งนครเขษม ยืนยันว่าไม่มีใครมาสั่งได้ เพราะเป็นการทำงานตามการบังคับบัญชา ยอมรับว่าในวงเจรจากับผู้ตรวจการแผ่นดิน ตนเองได้รับที่จะนำข้อเสนอเรื่องการขอขยายเวลารื้อถอนออกไปอีก 6 เดือนไปหารือกับคณะกรรมการฯ แต่ผู้ค้าต้องเข้าใจว่าคณะกรรมการฯประกอบด้วยผู้แทนหลายฝ่าย เวลานี้ยังไม่ได้รับหนังสือจากผู้ค้าที่ขอขยาย 6 เดือนเลย รวมทั้งประกาศคำสั่งรื้อถอนเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่กฎหมายกำหนดว่าต้องดำเนินการภายใน 15 วัน ขณะนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง กทม.ก็ต้องยึดตามประกาศ คือต้องรื้อถอนในวันที่ 20 ต.ค. ถ้าไม่ดำเนินการก็เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงอยากให้ผู้ค้าเห็นใจทาง กทม.ด้วย
“ที่ผู้ค้ายืนยันข้อเสนอเดิมที่ต้องการขอขยายเวลารื้อถอนออกไปอีก 1 ปี ผมเชื่อว่าถ้าแค่การรื้อถอน 3 วันก็เสร็จ และยินดีให้ผู้ค้ามีส่วนรวมในการเข้ารื้อถอนเพื่อดูแลสินค้าของตนเอง แต่การขอขยายเวลา 1 ปี เป็นการขอขยายเพื่อให้ค้าขายต่อไป และที่ว่า กทม.ไม่มีแผนเรื่องการเตรียมสถานที่ค้าขายให้ใหม่ก็ไม่จริง เรามีแผนรองรับไว้หมด เตรียมสถานที่ไว้แล้ว ค่าเช่าแผงแค่วันละ 20-50 บาท แถมจะประชาสัมพันธ์ให้ด้วย แต่ยังบอกไม่ได้ ที่ กทม.ทำไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพื่อประชาชนทุกคน เพราะเมื่อมีการปรับภูมิทัศน์แล้วพื้นที่บริเวณดังกล่าวนอกจากจะใช้สัญจรแล้วยังจะเป็นที่พักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงอยากให้ผู้ค้าช่วยกันคืนความสุขให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ด้วย”
ขณะที่นายบวรศักดิ์ วานิช ผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้คำอุทธรณ์ของผู้ค้าอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ รมว.มหาดไทย คาดว่าภายใน 1-3 วันนี้อาจจะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา
จากนั้น นพ.นิรันดร์กล่าวสรุปว่า เรื่องดังกล่าวคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าเป็นเรื่องสิทธิชุมชน โดยตลาดสะพานเหล็กถือเป็นตลาดชุมชน และจะอ้างมติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่งศาลไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐปล่อยปละละเลยให้เกิดปัญหามาเกือบ 20 ปี ดังนั้น เห็นว่าการแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวภายในวันที่ 20 ต.ค.นี้คงไม่สามารถทำได้ และเห็นว่าไม่ควรใช้มาตรการทางกฎหมายที่เด็ดขาดในเรื่องดังกล่าว เพราะในเมื่อ กทม.มีโครงการจะปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่ควรทำให้เกิดความเดือดร้อน คณะอนุกรรมการฯ จึงมีข้อเสนอว่าให้ กทม.และผู้ค้าหารือกันให้เกิดความชัดเจนโดยไม่มุ่งเป้าไปที่เรื่องกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ให้ดูสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งหารือถึงมาตรการรองรับการย้ายออกจากพื้นที่เพื่อให้ผู้ค้าเกิดความมั่นใจ
โดยหลังจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะทำหนังสือไปถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปรับปรุงพื้นที่ นอกจากนั้นจะทำหนังสือถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เพื่อให้พิจารณาคำอุทธรณ์ที่ผู้ค้าได้ยื่นไปแล้วเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ และอาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในอนาตได้ จึงอยากให้นำเอาเรื่องของสิทธิชุมนุมไปพิจารณาในเรื่องดังกล่าวด้วย