โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำ การเรียกเก็บค่าเสียหายในโครงการจำนำข้าว ด้วยการออกคำสั่งทางการปกครอง แก่อดีตนายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์” เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมและข้อกฎหมาย ย้ำเข้าข่าย 2 ข้อตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดฯ ก่อนหน้านี้ เคยเชิญมาให้ข้อมูล แต่เล่นแง่ประวิงเวลา ถามกลับจะร้องแรกแหกกระเชอทำไม สอนโจทก์ทำไม ถ้ามั่นใจรัฐบาลทำผิดให้ไปสู้กันในศาลปกครอง
วันนี้ (14 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 17.45 น. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดค้านการดำเนินการเรียกเก็บค่าเสียหายในโครงการจำนำข้าว ด้วยการออกคำสั่งทางการปกครอง ว่า เนื่องจากนายกรัฐมนตรี อยากให้สังคมเข้าใจ รับรู้ และรับทราบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมและข้อกฎหมาย โดยสาเหตุที่รัฐบาลต้องดำเนินการต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะกระทรวงการคลังได้รับเรื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2558 ไม่ได้มโนขึ้นเอง เมื่อได้รับเรื่อง นายกรัฐมนตรี กับ รมว.คลัง จึงต้องออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 รัฐบาลไม่ทำไม่ได้ เพราะเราเป็นเจ้าหน้าที่รัฐต้องดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติ และที่ต้องใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพราะในมาตรา 4 ระบุว่า เจ้าหน้าที่หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะกรรมการ หรือฐานะอื่นใด ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยตำแหน่ง
ส่วนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะขอยื่นพยานหลักฐานนั้น ยินดีเลย ไม่เคยปิดกั้น แต่ต้องเท้าความว่า คณะกรรมการได้เคยเชิญมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบกลับมาว่า เชิญมาในฐานะอะไร พอคณะกรรมการตอบไป ครั้งที่สองท่านก็ตอบกลับมาอีกว่า จะถามอะไร เข้าใจว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องการตอบเป็นเอกสาร จะเป็นเพราะว่าท่านอธิบายความแล้วคนฟังไม่เข้าใจเลยเขียนมาดีกว่า ซึ่งการถามไปและตอบมาแบบนี้แสดงออกว่าท่านต้องการประวิงเวลา ไม่อยากมา ดังนั้น ไม่ใช่เราไม่เคยเชิญ แต่เขาไม่มา ตอนนี้หากอยากจะยื่นพยานหลักฐานเราก็ยินดี ยังไม่สาย ให้มาเลย คณะกรรมการจะได้มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดครบถ้วน แต่สิ่งที่ตอบมาครั้งก่อน ๆ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอ่านสาระที่ตอบมาแล้วไม่สามารถเอามาใช้ได้เลย
ส่วนกรณีที่ทนายความถามว่า ทำไมคนอื่นถึงไม่โดนแบบนี้นั้น ก็เพราะไม่มีใครทำผิดเหมือน น.ส.ยิ่งลักษณ์ การจะทำอย่างนี้ได้จะต้องมีหนังสือจาก ป.ป.ช. มา ไม่ใช่รัฐบาลมโน ถ้าแจ้งมาก็ดำเนินการ ไม่เคยละเว้น ส่วนที่มีความพยายามจะเบี่ยงเบนอีกว่าเรื่องนี้มี พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 โดยมาตรา 4 เขียนว่ามิให้ใช้บังคับแก่รัฐสภาและ ครม. นั้น ขอชี้แจงว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการดำเนินการกับ ครม. แต่เป็นการดำเนินการรายบุคคล อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีส่วนเกี่ยวพันเพียงครึ่งแรกเท่านั้น คือ ในขั้นของการลงนามร่วมกับ รมว.คลัง เพื่อออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เมื่อดำเนินการสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว การจะออกคำสั่งจะต้องดูในมาตรา 5 วรรคสองของ พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ระบุว่า หากเจ้าหน้าที่ไม่ได้สังกัดหน่วยงานใดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้สังกัดหน่วยใด ดังนั้น คนลงนามจึงต้องเป็น รมว.คลัง
“คุณยิ่งลักษณ์ กับทนาย จะบ่นทำไม หากเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลกระทำอยู่ขณะนี้เป็นกระบวนการที่ผิด ไม่ถูกกฎหมาย จะมาสอนโจทก์ทำไม ปล่อยให้รัฐบาลทำแบบผิด ๆ แบบนี้ไปสิ พอถึงขั้นศาลปกครอง ถ้าศาลปกครองเห็นด้วยกับคุณ คุณก็เป็นฝ่ายได้เปรียบ จะมาร้องแรกแหกกระเชอทำไม นายกฯ เน้นย้ำว่า เราจะดำเนินการทุกอย่างไปตามข้อกฎหมาย และนายกฯ ยังเป็นห่วงว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงการดำเนินการตามโรดแมป มีเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องการสร้างความปรองดอง ท่านจึงไม่อยากให้สิ่งต่าง ๆ ที่หยิบยกขึ้นมาในสังคมเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ประเทศไทยจะเดินหน้าได้ประชาชนต้องรู้ข้อเท็จจริง ถ้าผิดเพี้ยนการทำความเข้าใจจะยาก กรณีต่าง ๆ จึงต้องมีคำอธิบายออกมา” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว