xs
xsm
sm
md
lg

สตง.ชง 5 ปม กรธ. เชื่อเพิ่มอำนาจยึดเงินคืนทันการณ์ “มีชัย” ยังไม่ชัวร์มีศาลวินัยคลังฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สตง.แนะ 5 ประเด็น กรธ. เพิ่มอำนาจ ลดขั้นตอนลงโทษ ชี้ให้แค่ ป.ป.ช.ไต่สวนล่าช้า ขอฟ้องศาลเอง เชื่อยึดเงินคืนทันการณ์ ติงนำคดีผิดวินัยคลังการเงินฟ้องศาลปกครอง ซ้ำซ้อน ควง. แถมเปิดทางให้มีคำสั่งเพิกถอน “มีชัย” ยังไม่ฟันธงต้องมีศาลวินัยการเงินฯ หรือไม่ รับควรเป็นอำนาจเดียว เตือนเพิ่มอำนาจมากไประวังทับตัวเอง ปัดสกัดประชานิยมแต่ต้องมีกลไกกันความเสียหาย ป้อง “วิษณุ” ให้ตั้งพรรคใหม่แค่เรื่องสมมติ

วันนี้ (13 ต.ค.) สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้มีการเชิญองค์กรอิสระเข้าให้ความเห็นเพื่อประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก คือ ตัวแทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ได้มีการเสนอแนวทางต่อที่ประชุมใน 5 ประเด็นหลัก คือ 1. ปรับเพิ่มอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับคดีอาญาให้สามารถส่งเรื่องให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลเองได้ เนื่องจากขณะนี้ สตง.มีอำนาจเพียงตรวจสอบและชี้มูลความผิด จึงเป็นอุปสรรคในการนำตัวผู้ทำผิดมาลงโทษ ไม่สามารถป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้อย่างแท้จริงทั้งที่กระบวนการตรวจสอบของ สตง.สามารถพิสูจน์ความผิดได้อย่างสมบูรณ์ แต่ไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนจึงมิอาจกล่าวโทษได้เอง นอกจากนี้ยังต้องส่งเรื่องต่อไปให้ ป.ป.ช.ซึ่งจะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น โดยตั้งแต่ปี 2542 ถึง 31 ธ.ค. 2557 มีการส่งเรื่องไป ป.ป.ช. 1,523 เรื่อง แต่ ป.ป.ช.ดำเนินการได้ไม่เกินร้อยละ 20 หรือประมาณ 300 เรื่อง ส่วนใหญ่ส่งต่อเรื่องไปให้ ป.ป.ท. สำหรับที่เหลืออีก 1,200 กว่าเรื่องก็ยังไม่มีการดำเนินการ หากเฉลี่ยเวลาแล้วกว่าจะได้ตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี ส่วนผลให้กระบวนการตรวจสอบของ สตง.ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถเอาผิดได้ทันเหตุการณ์ หากเปิดโอกาสให้ สตง.สามารถยื่นฟ้องเองได้ก็จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ทันเหตุการณ์ และตัดตอนคนทุจริตออกมาจากวงการได้ทันทีไม่ให้ไปยุ่งกับพยานหลักฐาน จนเกิดผลเสียแก่รูปคดี

ทั้งนี้ยังเห็นว่า การให้มี ป.ป.ช.เป็นองค์กรเดียวในการดำเนินการไต่สวนทำให้เกิดความล่าช้าจนส่งผลกระทบต่อการส่งคดีฟ้องศาล และหาก ป.ป.ช.เกิดทุจริตเสียเองก็จะไม่มีหน่วยงานอื่นมาดุล หรือคานอำนาจ อีกทั้งยังไม่สามารถระงับความเสียหายได้อย่างทันเหตุการณ์ พยานบุคคลอาจกลับคำให้การ หรือพยานวัตถุถูกทำลาย และยังเป็นการสิ้นเปลืองงบเพราะต้องทำงานซ้ำซ้อน 2. ปรับเพิ่มให้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบไต่สวนและติดตามเงินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน ในกรณีทุจริตเพื่อส่งอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ติดตามเงินคืนแผ่นดิน ซึ่งจะทำให้การติดตามทรัพย์สินของแผ่นดินมีประสิทธิภาพ ผู้กระทำผิดเกิดความเกรงกลัว และยังสามารถติดตามเงินหรือทรัพย์สินแผ่นดินกลับคืนมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก่อนมีการโยกย้ายถ่ายเทไปยังบุคคลอื่น

3. ปรับเพิ่มให้มีอำนาจระงับงับยั้งโครงการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินงบประมาณของแผ่นดินไว้ก่อน จนกว่าหน่วยรับตรวจจะดำเนินการตามข้อเสนอแนะหรือมีเหตุผลชี้แจงอันสมควรในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด เนื่องจากขณะนี้แม้ สตง.จะมีอำนาจตรวจสอบการใช้เงิน หรือทรัพย์สินของแผ่นดินว่าต้องเป็นไปโดยประหยัด มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่กฎหมายไม่มีสภาพบังคับแท้จริง จึงไม่สามารถยับยั้งโครงการที่อาจก่อความเสียหายแก่เงินแผ่นดินได้อย่างทันที

4. ปรับเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการ สามารถแจ้งผลการสอบได้มากกว่าเดิม คือ กรณีรัฐอนุมัติ อนุญาตให้สิทธิ หรือให้ประโยชน์ หรือออกเอกสารสิทธิ หรือสัญญา หรือสัมปทาน หรือหนังสือสำคัญอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันแก่บุคคลใดโดยทุจริต หรือมิชอบด้วยกฎหมาย ให้ส่งรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่ง หรือคำพิพากษายกเลิก เพิกถอนสิทธิ หรือสัญญาเหล่านั้นที่จะสร้างความเสียหายแก่ราชการได้ นอกจากนี้ในกรณีที่มีผู้ไม่ชำระภาษีหรืออากร หรือค่าธรรมเนียม รวมประโยชน์อื่นใด หรือชำระไม่เป็นไปตามข้อกฎหมาย ให้กรรมกรส่งเรื่องไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการชำระภาษีตามกฎหมายได้ หากหน่วยงานดังกล่าไม่ดำเนินการ คตง.สามารถอนุมัติให้ สตง.มีอำนาจติดตามเอาคืนเป็นรายได้ของแผ่นดิน และ 5. ปรับแก้อำนาจในการดำเนินคดีวินัยการเงิน การคลัง และการงบประมาณ โดยให้ สตง.มีอำนาจตรวจสอบไต่สวนความผิดวินัยทางงบประมาณ และการคลัง เพื่อเสนอให้ คตง.พิจารณาโทษปรับทางปกครอง กรณีความผิดในอัตราโทษต่ำ หรือกรณีผู้ถูกกล่าวหารับสารภาพโดยสามารถโต้แย้งหรืออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

อย่างไรก็ตาม จากแนวทางในการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีการบัญญัติให้นำคดีความผิดวินัยทางการคลังและการงบประมาณไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในขณะที่เดิม การวินิจฉัยชี้ขาดอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลัง (ควง.) ทั้งหมด จึงจะทำให้กระบวนการล่าช้า ดังนั้นควรแบ่งอำนาจการพิจารณาให้ชัดเจน คือความผิดอัตราโทษต่ำให้ คตง.ออกคำสั่งลงโทษได้เอง หากอัตราโทษปรับสูงหรือผู้ทำผิดเป็นนักการเมือง ให้ คตง.อนุมัติ สตง.ยื่นฟ้องศาลปกครอง และเห็นว่าการบัญญัติอำนาจองค์กรตรวจเงินแผ่นดินควรกำหนดให้มีเพียงองค์กรเดียว ไม่ใช่กำหนดองค์กรอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ในลักษณะซ้ำซ้อน

ด้านนายมีชัยกล่าวว่าจะพิจารณาข้อเสนอของ สตง.และ คตง. โดยจะถามเพียงคำถามเดียวว่ามีอุปสรรคอย่างไร เพราะอยากให้ทำงานได้ผลมากขึ้นกว่าที่เป้นอยู่ จะต้องมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด จะได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญส่วนกรณีที่ทาง คตง.เห็นว่าศาลวินัยการเงินการคลังที่เป็นกลไกใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญเดิมจะซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลังนั้น ตนเห็นว่ายังไม่ทราบ เพราะศาลวินัยการเงินการคลังเป็นเรื่องเดิมที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญที่ยกเลิกไปแล้ว ดังนั้นก็ต้องถามว่าจะต้องมีไว้ทำอะไร

“ความแตกต่างระหว่างการเป็นคำสั่งทางปกครอง กับไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง ก็คือ ถ้าเป็นคำสั่งทางปกครองก็สามารถไปฟ้องศาลปกครองได้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ฟ้องไม่ได้ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าจะสั่งเรื่องอะไร ถ้าเป็นอำนาจหน้าที่ของ สตง.ก็ไม่ควรมีองค์กรใดไปพิจารณาอีก เพราะ คตง.มีความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะ เป็นพิเศษอยู่แล้ว ถ้าให้องค์กรอื่นมาตรวจสอบจะทำให้ไม่จบไม่สิ้น และไม่แน่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ จึงต้องดูว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหนและรับฟังความเห็นจาก คตง.ก่อน”

นายมีชัยยังกล่าวถึงการเสนอขอเพิ่มอำนาจให้ยื่นฟ้องต่อศาลเองได้ว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา เพราะ สตง.มีหน้าที่ตรวจประสิทธิผลของการใช้เงิน ไม่ใช่แค่ว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ เนื่องจากไม่สามารถทำให้การใช้เงินแผ่นดินเกิดประสิทธิภาพได้ จึงอยากให้ สตง.มุ่งที่ตรงนี้มากกว่า หากให้ สตง.ไปฟ้องเองในคดีอาญาจะกลายเป็น ป.ป.ช. ขึ้นมาอีกองค์กรหนึ่งแล้วจะวุ่นวายกันใหญ่ แต่จะถามว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพราะเห็นว่ากรขยายอำนาจมากๆ นอกจากทำอะไรได้ไม่ครบถ้วนแล้ว อาจทำให้บทบาทที่ดีเด่นอยู่แล้วเจือจางไป ซึ่ง สตง.มีหน้าที่ตรวจบัญชีก็ต้องรอให้มีการใช้ก่อน ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบก่อนได้ เพราเท่ากับทำหน้าที่ผู้ตรวจการ ดังนั้นบทบาทของใครก็ต้องระมัดระวังว่าถ้าไปขยายมาก วันหนึ่งอำนาจจะล้มทับตัวเองแล้วจะลำบาก แต่ขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าบทบาทหน้าที่มีอยู่ตอนนี้เพียงพอหรือยัง

ส่วนกรณีที่กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญมีการหารือเกี่ยวกับการยับยั้งความเสียหายเกี่ยวกับโครงการประชานิยม นายมีชัยกล่าวว่า ไม่ได้มีการตั้งองค์กรใหม่ เพียงแต่จะมีกลไกในการระมัดระวัง ไม่ให้ทำสิ่งที่จะเกิดความเสียหาย ไม่ใช่สกัดประชานิยม แต่สกัดการสร้างความเสียหาย แต่ยังคิดกลไกไม่ออก ซึ่งก็มีคนพูดเหมือนกันว่าตั้งให้คนมาตรวจสอบแต่เป็นไม่ได้เพราะพรรคการเมืองก็ต้องมีอิสระในการนำเสนอนโยบาย ส่วนจะดีหรือไม่อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับประชาชน แต่ถ้าทำแล้วเกิดความเสียหายก็ต้องคิดว่าจะหยุดความเสียหายได้อย่างไร ไม่ใช่ปล่อยจนเกิดความเสียหายมากมาย ขณะนี้ยังไม่ชัดว่ากลไกจะออกมารูปแบบใด และยังไม่สามารถตอบได้ว่าหากจำเป็นต้องมีกลนี้ควรให้เป็นบทบาทหน้าที่ของ สตง.หรือไม่

ประธาน กรธ.ยังกล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยระบุว่าในการร่างรัฐธรรมนูญอาจมีเนื้อหาพิสดารให้ทุกพรรคจดทะเบียนใหม่ว่า เป็นเรื่องสมมติเกี่ยวกับระยะเวลา เพราะนายวิษณุไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติอย่างไรถ้าให้ไปตั้งพรรคใหม่ก็จะใช้เวลา ซึ่งเป็นเรื่องสมมติ ส่วนข้อเสนอที่ระบุว่าการจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่จะทำให้เกิดความเสมอภาคนั้นตนยังไมได้พิจารณาเรื่องนี้ตอนนี้ถือว่าอยู่ระหว่างเตรียมการแต่งงาน จะถามว่าได้ลูกผู้หญิงหรือผู้ชายไม่ได้





กำลังโหลดความคิดเห็น