ประธาน กก.ญาติวีรชนพฤษภา 35 พร้อมด้วยแม่เหยื่อเผาเมืองปี 53 ยื่นหนังสือถึงนายกฯ หนุนปรองดอง ให้กองทัพต้องพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรม แนะนิรโทษตามข้อศึกษาของ สปช. ช่วยคนเห็นทำผิดเพราะเห็นต่างการเมือง เชื่อยุติความขัดแย้งได้ แนะตั้งคณะกรรมการสร้างความปรองดองขับเคลื่อน
วันนี้ (13 ต.ค.) ที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.30 น. นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 พร้อมด้วยนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด ผู้เสียชีวิตในเหตุสลายการชุมนุมปี 53 เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีการสร้างความปรองดองของคนในชาติ ผ่านนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับเรื่อง
โดยหนังสือฉบับนี้ระบุว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศหลักการปรองดอง 3 ประการ 1. ต้องเป็นคนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและถูกตัดสินแล้ว 2. ต้องอยู่ระหว่างการดำเนินคดี และ 3. ต้องไม่เป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างหลบหนีกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ทุกฝ่ายต้องพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงกองทัพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเวลานั้นด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ทำรายการการศึกษาและข้อเสนอแนะแนวทางการปรองดองเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติและรัฐบาลไปแล้ว ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการตอบรับจากสังคมเป็นอย่างดี ที่เชื่อว่าจะยินยอมให้มีการนิรโทษกรรมในระดับต้นซอย ส่วนในระดับกลางซอยเห็นด้วยกับแนวทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศไว้ อย่างไรก็ตาม การสร้างความปรองดองไม่สามารถใช้กฎหมายบังคับได้ แต่การนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความปรองดองซึ่งความขัดแย้งทางความคิดในอดีต สุดท้ายก็มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายและสามารถยุติความขัดแย้งลงได้
ทั้งนี้ นิรโทษกรรมคือการลบล้างการกระทำผิดอาญา โดยมีกฎหมายออกมาภายหลังให้ผู้กระทำการนั้นไม่มีความผิดและพ้นความผิด กระบวนการนี้ไม่จำเป็นต้องรับโทษก่อนเพียงมีกฎหมายออกมาเท่านั้น คณะกรรมการจึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์เร่งสร้างความชัดเจนในการสร้างความปรองดอง เพราะความขัดแย้งและเห็นต่างเป็นเรื่องปกติของสังคม ความขัดแย้งที่ผ่านมา ไม่ว่าประชาชนสีเสื้อไหนต่างก็ทำผิดกฎหมายที่มาจากต้องการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง รัฐบาลที่ใจกว้างควรแสดงเจตนาในการช่วยเหลือผู้ที่ต้องโทษในช่วงนั้นออกมาใช้ชีวิตปกติ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเอื้ออาทร และขอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการสร้างความปรองดองขึ้นมาโดยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการขับเคลื่อนสร้างความปรองดอง