xs
xsm
sm
md
lg

ญาติวีรชนพฤษภา 35 ค้าน “มีชัย” นั่ง กรธ. - “นพดล” แขวะใครเข้ามาก็ต้องลอกพิมพ์เขียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ (ภาพจากแฟ้ม)
ประธานญาติวีรชนพฤษภา 35 ค้าน “มีชัย ฤชุพันธุ์” นั่งเก้าอี้ประธาน กรธ. ชี้เป็นต้นเหตุนองเลือด เพราะร่างรัฐธรรมนูญให้ รสช. สืบทอดอำนาจ แถมหลังฝุ่นจางยังนิรโทษกรรมให้อีก หวั่นเปิดช่อง คสช. สืบทอดอำนาจ วอนอย่าฆ่าลูกหลานอีกเลย ด้านแกนนำเพื่อไทยแขวะ ใครเข้ามาก็ร่างตามพิมพ์เขียว แนะจับตาเนื้อหา ไม่ควรด้อยกว่าฉบับปี 2540

วันนี้ (27 ก.ย.) นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวถึงกรณีที่มีการสนับสนุน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานรัฐสภา ให้เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ญาติวีรชนเดือนพฤษภา 35 ต้องขัดขวางนายมีชัย เพราะถือเป็นการประหารญาติวีรชนซ้ำอย่างเลือดเย็น เนื่องจาก นายมีชัย เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2534 เปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอก จนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ต้นเหตุการณ์นองเลือด ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย ประเทศชาติเสียหายย่อยยับ และยังออก พ.ร.ก. นิรโทษกรรม ให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำให้ญาติวีรชนเป็นพลเมืองชั้นสองจนถึงทุกวันนี้

“ญาติพฤษภาทมิฬไม่ได้ขัดขวางนายมีชัยด้วยความแค้น เพราะอโหสิกรรมให้ รสช. ไปหมดแล้ว แต่ไม่อยากให้มีการตอกย้ำรอยแผลเดิมให้เกิดความขัดแย้งใหม่ขึ้นอีก และถึงแม้ท่านจะมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันต้องการบุคคลที่มีคุณสมบัติสอดรับกับช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งต้องได้บุคคลที่รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญมีความราบรื่น และผ่านความเห็นชอบ จึงขอเรียกร้องให้คนเดือนพฤษภา 35 ได้เมตตา ช่วยส่งเสียง ช่วยเหลือครอบครัวญาติที่ต้องดิ้นรนมาตลอด 23 ปี อย่าให้นายมีชัย และพวกประหารพวกเราให้ตายเป็นครั้งที่ 3 และกราบวิงวอนขอร้องนายมีชัย อย่ามาทำร้ายฆ่าลูกหลานเราอีกเลย” นายอดุลย์ กล่าว

นายอดุลย์ กล่าวว่า ตนมองคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยความเข้าใจที่มีเจตนารมณ์แรงกล้า ปรารถนาเห็นชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน มีความสงบสุขสันติ ซึ่งจากการร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกสังคมคาดหวังจะเห็นการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง แต่ก็ล้มเหลว ดังนั้น การเลือกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ และกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยเฉพาะประธาน กรธ. เป็นประเด็นที่ประชาสังคมให้ความคาดหวังสูง เพราะหากได้บุคคลที่มารับคำสั่งร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช. อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งของประชาชน และไม่ยอมให้ผ่านประชามติ จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ คสช. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จะต้องตัดสินใจถูกต้อง เพราะหากสามารถสร้างปรองดองของคนในชาติได้ คสช. ก็มีแนวทางลงแบบสง่างาม ไม่ใช่ลงแบบผู้นำ รสช. ที่มีแต่ความเจ็บปวดของทุกฝ่าย

ด้าน นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจับตา และสนใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ มากกว่าตัวบุคคลที่จะมาเป็นประธานและคณะกรรมการร่างฯ เพราะไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้ร่างก็คงต้องร่างตามแนวทางที่มีอยู่ ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าผู้ร่างจะทำหน้าที่เหมือนสถาปนิกที่จะมาออกแบบบ้าน หรือจะทำหน้าที่เป็นเพียงวิศวกรที่สร้างบ้านตามแบบที่สถาปนิกได้ออกแบบไว้แล้ว ดังนั้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายติดตามเนื้อหาสาระและกระบวนการร่างกติกาสูงสุดของประเทศ โดยเนื้อหานั้นไม่ควรมีความเป็นประชาธิปไตยด้อยไปกว่ารัฐธรรมนูญในอดีตหลายฉบับเช่น ฉบับปี 2540 และควรมีมาตรฐานเป็นสากล ส่วนกระบวนการนั้น รัฐบาลและผู้ร่างควรให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและเปิดโอกาสให้ถกเถียงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด เนื่องจากการรับฟังความเห็นของประชาชนให้มากขึ้น จะสามารถเยียวยาและแก้ไขข้อจำกัดของกระบวนการร่างที่มีอยู่ได้ในระดับหนึ่ง

“ไทยได้พัฒนากฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา และกฎหมายธุรกิจก้าวหน้าไปมาก และได้สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติว่าเรามีกฎหมายที่ทันสมัย ส่วนรัฐธรรมนูญเป็นหัวใจ และเป็นสัญญาประชาคมที่จะใช้บังคับกับทุกฝ่ายทุกคนทั้งประเทศ ดังนั้น ยิ่งต้องก้าวหน้าและทันสมัยมากกว่ากฎหมายลำดับรองอื่น ๆ ส่วนตัวชี้วัดมาตรฐานของรัฐธรรมนูญก็มีอยู่แล้ว และเมื่อร่างเสร็จประชาชนจะรู้ได้ไม่ยากว่าผ่านมาตรฐานหรือไม่ ถ้าร่างออกมาดีโอกาสที่จะผ่านประชามติก็จะมีมากขึ้น และประเทศก็จะเดินหน้าต่อไปได้” นายนพดล กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น