xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.ญาติวีรชน 35 ห่วงปิดทีวีแดงทำย้อนสู่ยุคพฤษภาทมิฬ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 (แฟ้มภาพ)
ประธานกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ชี้ กสทช.ปิดพีซทีวี ขัดนโยบาย คสช. แต่ถามโจกแดงเสนอเนื้อหาหมิ่นเหม่สมควรหรือไม่ เตือนไม่ควรปลุกเร้าให้เกลียดชัง แนะทุกฝ่ายอย่าก้าวล่วงสิทธิ บอกเปรียบเสมือนยุบพรรค ห่วงบรรยากาศย้อนกลับสู่ก่อนพฤษภาทมิฬ ระบุปิดกั้นยิ่งสะสมความอัดอั้นตันใจ

วันนี้ (30 เม.ย.) นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวถึงกรณี กสทช.ดำเนินการระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์พีซทีวีว่า เป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อนโยบายของ คสช.และรัฐบาลที่ต้องการสร้างความปรองดองในสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง ต้นเหตุเรื่องนี้เกิดความเข้าใจผิดอะไรหรือไม่ หากเป็นการไร้ประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่และฝ่ายสถานีก็ต้องขอตำหนิ ในส่วนผู้บริหารสถานีเองก็ควรตระหนักว่าการเสนอเนื้อหาสาระที่หมิ่นเหม่นั้นสมควรหรือไม่ สมกับชื่อสถานี PEACE TV ทีวีสันติภาพหรือยัง ผู้จัดรายการไม่ควรตอกย้ำปัญหาความขัดแย้งในอดีตในเชิงปลุกเร้าให้เกิดความเกลียดชัง ควรให้กระบวนยุติธรรมเป็นฝ่ายตัดสิน แล้วเสนอแนวทางสร้างอนาคตร่วมกัน

“ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ก็เพิ่งเชิญฝ่ายต่างๆ ไปพูดคุยเพื่อหาจุดร่วมในการแสวงหาทางออกให้บ้านเมือง และบรรยากาศโดยรวมก็เปิดให้มีการถกแถลง ยื่นข้อเสนอแนะเรื่องร่างรัฐธรรมนูญกันแล้วตามโรดแมปของ คสช. ฉะนั้น ไม่ว่า คสช., กสทช. และฝ่ายปฏิบัติควรต้องใช้ความละเอียดอ่อน ระมัดระวังที่สุด อย่าก้าวล่วงไปถึงการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ท่านไม่ควรทำให้สังคมเสียสมดุลในขณะนี้เด็ดขาด” นายอดุลย์กล่าว

นายอดุลย์กล่าวว่า แม้ยังมีร่องรอยความขัดแย้งอยู่แต่ก็ดีขึ้นมากๆ แล้ว และก็เป็นเรื่องไม่ยากที่จะเรียนรู้จากอดีตที่เคยมีการปิดสถานีโทรทัศน์ว่าส่งผลกระทบต่อเนื่องอีกมากมายเสมือนกับการยุบพรรค ในกรณีที่มีการใช้คำพูดไม่เหมาะสมยังสามารถแจ้งเตือน ตรวจสอบควบคุมกันได้ ทั้งนี้เมื่อเห็นสถานการณ์เช่นนี้แล้วจึงเป็นห่วงมาก อดไม่ได้ที่จะย้อนกลับไปนึกถึงบรรยากาศในอดีตก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ที่มีการสร้างข่าว สร้างเงื่อนไข สร้างปัญหาที่ล่อแหลม ซึ่งอันตรายมากกับสังคมไทยในขณะนี้ เราสูญเสียมามากพอแล้ว และท่านพร้อมที่จะรับผิดชอบผลของการกระทำร่วมกันหรือไม่

นายอดุลย์กล่าวอีกว่า ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ 3 ประการ 1. การบังคับใช้กฎหมายใดๆ ในสถานการณ์ที่อ่อนไหวดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เอื้อต่อฝ่ายหนึ่ง และบีบคั้นอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการใช้ดุลพินิจในการตัดสินอะไรก็จะต้องมีเกณฑ์ตัดสินใจชัดเจน โปร่งใส และบังคับใช้กับทุกฝ่ายอย่างเสมอหน้ากัน 2. แนวทางการสร้างบรรยากาศการปรองดองที่สำคัญแนวทางหนึ่ง คือ การเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้แสดงมุมมองและความรู้สึกของตนภายใต้ขอบเขตที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน ไม่ใช่การปิดกั้นการแสดงออก เพราะการปิดกั้นช่องทางสื่อสารอย่างสันติในภาวะความขัดแย้ง คือ การสั่งสมความอัดอั้นตันใจ ซึ่งจะกลายเป็นการเปิดช่องทางให้กับการใช้ความก้าวร้าวรุนแรง 3. ในภาพรวม การสร้างความปรองดองไม่ใช่การงดบังคับใช้กฎหมาย หากแต่เป็นการทำให้คนในสังคมไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน รู้สึกว่าตนอยู่ระหว่างฝ่ายต่างๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น