xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” แจงผุด คปช.แก้ปมขัดแย้ง แต่ตอบไม่ได้สำเร็จหรือไม่ หลังพบพรรคใหญ่ยังทำเหมือนเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปาฐกถาอนาคตการปรองดองและสมานฉันท์สังคมไทย เผยผุดคณะกรรมเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ประสานผู้นำความขัดแย้ง ไม่มีเกี้ยเซียะ เน้นข้อเท็จจริงละเมิดกฏหมาย เยียวยา และชง พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ต่อผู้สำนึกผิด รวมทั้งให้การศึกษาชาวบ้าน ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่ตอบไม่ได้สำเร็จหรือไม่ เหตุ 2 พรรคใหญ่ยังเหมือนเดิม โวยสื่อรายงานแต่ความขัดแย้งไม่เน้นข้อเท็จจริง

วันนี้ (17 พ.ค.) ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สภานพฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “อนาคตการปรองดองและสมานฉันท์สังคมไทย” ภายในพิธีรำลึกและสืบสาน 23 ปี พฤษภาประชาธรรม จัดขึ้นโดย มูลนิธิพฤษภาประชาธรรมและคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า การปรองดองและสมานฉันท์เป็นสิ่งที่คนไทยคาดหวัง ประเทศประสบกับความขัดแย้งมาหลายยุค ฉากแรก คือ ความขัดแย้งของชนชั้นนำตั้งแต่สมัยอยุธยา ฉากที่ 2 ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์และนิรโทษกรรมในที่สุด ฉากที่ 3 ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและประชาชน เช่น เหตุการณ์ในเดือน พ.ค. ปี 35 และฉากที่ 4 ยุคที่ผู้นำที่มีประชาชนบางกลุ่มสนับสนุนจำนวนมาก และประชาชนที่ไม่สนับสนุน ซึ่งในฉากสุดท้ายนี้มีผู้ประเมินความเสียหาย คาดว่ามีมูลค่ากว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งในอดีตจบลงด้วยการที่ประมุขลงมาระงับความขัดแย้งและจบลงด้วยการนิรโทษกรรม แต่วิกฤตที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าสังคมเกิดความไม่ไว้วางใจในการนิรโทษกรรม ซึ่งหากจัดให้มีการเลือกตั้งและเข้าสู่ระบบการเมือง ความขัดแย้งเหล่านี้จะยังคงอยู่

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ฉะนั้นคณะกมธ.ยกร่างฯ จึงจัดให้มีคณะกรรมเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ (คปช.) เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง คือ 1. จัดตั้งคณะกรรมการ 15 คน โดยมีตัวแทนของทุกฝ่าย 2. สร้างความปรองดองอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงการนำแกนนำแต่ละฝ่ายมาตกลงกัน ที่เรียกว่า “เกี้ยเซียะ” 3. คปช. เป็นคนกลางประสานผู้นำในความขัดแย้ง 4. รายงานข้อเท็จจริง การละเมิดกฎหมาย และผู้เกี่ยวข้อง - ผู้กระทำ 5. คปช. มีหน้าที่เยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย 6. เสนอ พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแก่บุคคลที่เกี่ยวกับการดำเนินการและผู้ได้สำนึกผิดต่อ คปช. แล้ว 7. คปช. ให้การศึกษาแก่ประชาชน สร้างเครื่องเตือนใจผลร้ายและความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก 8. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สร้างการยอมรับกลุ่มคนหลากหลาย

“คณะ กมธ.ยกร่างฯ ไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ ทั้งสิ้น เพราะพระราชกฤษฎีประกาศใช้กับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะใครคนใดคนหนึ่ง เรา ไม่ได้แก้ไขเฉพาะความขัดแย้งเฉพาะหน้า เพราะชนชั้นจะเจรจากันได้วันนี้ แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมั่งมี - คนไม่มี ยังอยู่ คำถามสุดท้าย คือจะสามารถแก้ไขได้สำเร็จหรือไม่ ตนตอบไม่ได้ แต่สัญญาณที่เห็น คือ ทุกคนยังปราศจากความไว้วางใจ พรรคใหญ่ 2 พรรค ยังมีจุดยืนเดิม พูดภาษาเดิมเหมือน 8 ปี ที่ผ่านมา ไม่สร้างความหวังเท่าไหร่” นายบวรศักดิ์ กล่าว

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า การสร้างความหวังที่ถูกต้อง คือ 1. คนที่เป็นผู้นำความขัดแย้ง จะต้องนำทุกคนเข้ามาและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม 2. ประชาชนที่เป็นเสียงเงียบต้องแสดงเจตจำนงให้ชัด ไม่ยอมรับความขัดแย้งที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและมิจฉาวาจา เพราะฉะนั้นความเงียบของคนไทยจะเป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการ 3. สื่อมวลชนยุติการเลือกข้าง วันนี้สื่อสารมวลชนหลายแห่งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์อยู่ในความขัดแย้ง ไม่ได้รายงานสาร แต่เป็นการรายงานความขัดแย้ง โดยการให้ข้อมูลข้างเดียว และ4. สร้างความยุติธรรมในสังคม หากยังมี 2 มาตรฐาน การยอมรับด้วยสันติวิธีจะยังไม่เกิดขึ้น ความสร้างยุติธรรม คือ ไม่มีพรรคหนึ่ง - พรรคสองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เสื้อแดง - นกหวีด มีถูกบางส่วน ไม่ถูกบางส่วน นี่คือเงื่อนไขความสำเร็จความปรองดอง หวังว่าจะเป็นก้าวแรกในการปรองดองสมานฉันท์ ไม่ใช่แค่วาจาและอยู่ที่เดิม









กำลังโหลดความคิดเห็น