xs
xsm
sm
md
lg

“ศิริชัย” ชู พธม.เริ่มธงปฏิรูป “วิทยา” อ้างสานต่อภารกิจ “เลิศรัตน์” ชง “ทินพันธุ์” ปธ.สปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปท.รายงานตัววันที่ 3 อดีตแกนนำ พธม.ระบุพันธมิตรฯ ชูธงปฏิรูปตั้งแต่แรก เน้นแก้เหลื่อมล้ำเป็นหลัก หนุนสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ชาติเดินหน้าต่อ รับอยากคุยทุกสี ด้าน “วิทยา” อ้างเป็นภารกิจต่อเนื่องจากมวลมหาประชาชน ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ย้ำจ้องขจัดซื้อเสียงให้หมด ชี้ประธานควรคุมคนได้ ถ้าทุกคนเคารพกติกาก็ปรองดองได้ แนะทำยังไงให้ไม่บูชาเงิน “กษิต” เน้นกระจายอำนาจ ส่วน ปธ.ไม่เอาพวกอนุรักษนิยม “เลิศรัตน์” ภูมิใจได้กลับเข้าสภา รับอยากเสนอ “ทินพันธุ์” นั่งหัวโต๊ะ

วันนี้ (8 ต.ค.) บรรยากาศการรายงานตัวของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันนี้สมาชิกได้ทยอยมารายงานตนอย่างต่อเนื่อง เช่น นายประมนต์ สุธีวงศ์, พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ, นายศิริชัย ไม้งาม อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น

โดยนายศิริชัยกล่าวภายหลังการรายงานตัวว่า มีความพร้อมในการทำงานด้านการปฏิรูปประเทศเพราะที่ผ่านมามีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศมาโดยตลอด ภายใต้การทำงานของสถาบันปฏิรูปประเทศไทย นายสุริยใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันฯ เป็นผู้นำ และภายใต้การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งถือเป็นกลุ่มแรกที่พูดเรื่องการปฏิรูป สำหรับเป้าหมายการปฏิรูปประเทศของตนนั้นเห็นว่าควรจะแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นเป้าหมายหลัก และการที่ตนมาในส่วนของแรงงานก็คงจะมีการผลักดันการแก้ไขปัญหาแรงงานทั้งระบบด้วย

ผู้สื่อข่าวถามความเห็นเรื่องการผลักดันการสร้างความปรองดอง นายศิริชัยกล่าวว่า เห็นด้วยที่จะทำและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน บ้านเมืองจะเดินหน้าต่อไปบนความขัดแย้งแบบนี้ไม่ได้ ดังนั้นถ้าตนมีโอกาสก็จะไปแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องนี้กับทุกฝ่ายทุกสีเสื้อ

ด้านนายวิทยากล่าวว่า การที่ตนได้เข้ามาทำหน้าที่ในครั้งนี้นั้นเป็นภารกิจต่อเนื่องของมวลมหาประชาชนที่ต้องการเห็นการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งซึ่งรัฐบาลในขณะนี้ก็มีแนวทางที่ชัดเจนว่าเห็นด้วยกับการปฏิรูปและมีการตั้งคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ปฏิรูปก็เป็นเรื่องที่มวลมหาประชาชนต้องเข้าร่วมผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะถ้าหากไม่ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง การเลือกตั้งก็จะกลับไปสู่วังวนแบบเดิมๆ คำว่าประชาธิปไตยก็จะเป็นแค่ช่องทางทำให้คนที่ทุจริตมีอำนาจเงินชนะการเลือกตั้งเท่านั้น ต้องทำให้ประชาชนได้รับรู้และเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะไม่มีการซื้อเสียง ได้คนดีเข้าสภา และจะไม่มีการหยิบยกนโยบายที่หลอกลวงประชาชนและบิดเบือนเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตยมาใช้ หากยังทำแบบนี้แล้วปล่อยให้มีการเลือกตั้งคิดว่าไร้ค่าที่จะปล่อยให้มีการเลือกตั้ง เพราะคงต้องไปเจอนักซื้อเสียงแบบเดิมอีก

“ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มีการจัดตั้งมาครบ 10 ปีแล้ว แต่ทำไมถึงไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ที่ผ่านมานั้นผมก็ได้พบกับกับคำอธิบายนี้ในช่วงการชุมนุม เมื่อต้องตอบคำถามกับองค์กรจากต่างประเทศว่าทำไมพวกเราต้องต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมตอบไปว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส.ส.หลายคนไม่ได้มาโดยสุจริต มาจากการซื้อเสียง เรื่องการซื้อเสียงนี้เป็นสิ่งที่ทั่วโลกไม่เข้าใจ ดังนั้นขอย้ำว่าต้องจัดการเรื่องการซื้อเสียงให้หมดไปก่อนที่มีการเลือกตั้ง เชื่อว่าทุกฝ่ายที่เข้าร่วมกับ สปท.คงไม่มีใครปฏิเสธกับการจัดการนักเลือกตั้งที่ทุจริต ทั้งนี้ ในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขณะนี้มีตัวแทนจาก กกต.อยู่ 2 คน คงต้องแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ผ่านมากันระหว่างพวกผมที่ผ่านการเลือกตั้งในระบบของ กกต.มา 4 สมัย และกรธ.ที่เป็น กกต.” นายวิทยากล่าว

นายวิทยากล่าวต่อว่า คุณลักษณะของประธานสภาขับเคลื่อนฯ จะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมียศตำแหน่งอะไร แต่ควรจะเป็นผู้ที่มีความสามารถในการกำกับดูแลประสานควบคุมการประชุม เพราะประธานไม่ใช่ตำแหน่งที่จะบริหารเหมือนกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นอย่าไปเน้นว่าประธานจะเป็นนักการเมือง ทหาร หรือตำรวจ แต่ควรจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถทำให้การประชุมดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย แม้แต่นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ก็เป็นไปได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเห็นแนวทางเรื่องการสร้างความปรองดอง นายวิทยากล่าวว่า คงต้องดูไปทีละด้าน ไล่ไปทีละเรื่อง ถ้าทุกคนเคารพกติกาแล้วการปรองดองก็สามารถเกิดขึ้นได้ สำหรับเรื่องการนิรโทษกรรมนั้น ตนคิดว่าจะต้องเรียงวาระการปฏิรูปกันก่อนว่าอะไรจะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการปฏิรูป การปฏิรูปที่จำเป็นก็มีตั้งหลายเรื่องที่สำคัญ อาทิ การปฏิรูปวัฒนธรรมว่าจะต้องทำอย่างไรไม่ให้คงบูชาเงินมากกว่าวินัย ซึ่งตนคิดว่าเรื่องนี้ก็จำเป็นต้องแก้ไขเช่นกัน

ขณะที่นายกษิตกล่าวว่า การทำงานในครั้งนี้มาในฐานะตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแนวทางการทำงานของตนนั้นตอนนี้มีจุดเริ่มต้นที่แนวทางทั้งของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แนวทางของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แนวทางทีดีอาร์ไอ รวมไปถึงแนวทางที่ได้มาจากการต่อสู้ของภาคประชาชน ที่ย้อนไปจนถึงสมัยที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหว เรื่องที่เห็นว่าจะต้องปฏิรูปก่อนนั้นก็คงต้องไปหารือกันในที่ประชุมอีกทีหนึ่ง แต่ตนคิดว่ามีหลายเรื่องที่ต้องปฏิรูป เช่น เรื่องการกระจายอำนาจให้มีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น การบริหารราชการแผ่นดิน การป้องกันการทุจริตที่ต้องไม่มีอายุความจะต้องมีความละอายต่อการทุจริต เป็นต้น

นายกษิตกล่าวต่อว่า ผู้ที่จะมาเป็นประธานสภาขับเคลื่อนฯ นั้นตนคิดว่าต้องมีใจเรื่องประชาธิปไตยและการปฏิรูป ไม่เป็นพวกอนุรักษนิยม ทำให้การปฏิรูปคืบหน้า เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น และต้องเป็นผู้ใหญ่ในสังคมที่มีบารมีมากพอจะพูดคุยกับบุคคล 200 คนที่มีความคิดที่แตกต่างกันได้

ทางด้าน พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ตนภูมิใจที่ได้รับความไว้วางใจ และโอกาสที่ได้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้งซึ่งการปฏิรูปประเทศเป็นงานสำคัญที่จะชี้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำงานสำเร็จหรือไม่ ก่อนมอบงานแก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และส่งให้ยังหน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการสานต่อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะส่งไปยังหน่วยงานใดและขึ้นอยู่ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการเป็นสมาชิก สปท.จะต้องผลักดันการปฏิรูปในทุกด้านทุกมิติ ส่วนแนวทางการดำเนินงานของ สปท.จะรู้หลังจากมีการประชุมในสัปดาห์หน้า ว่าจะทำงานในรูปแบบเดิม หรือแยกเป็น กมธ. อย่างไรก็ตาม ก็ต้องปฏิรูปให้เห็นเป็นรูปธรรมในระยะเวลา 20 เดือนตามโรดแม็ปของรัฐบาล

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 57 ระบุให้ สปท.ทำหน้าที่เหมือน สปช. โดยจะปฏิรูปเรื่องใดก่อนหลังนั้นจะต้องนำแผนแม่บทที่ สปช.ทำไว้ 37 วาระปฏิรูป 8 วาระพัฒนา มาพิจารณาว่าเรื่องใดสามารถดำเนินการต่อได้และอีกส่วนก็ต้องศึกษาใหม่ ส่วนใครจะมาเป็นประธานในรายชื่อ สปท.200 คน ก็มีผู้ที่เหมาะสม แต่คนที่จะมาเป็นประธานต้องอาสาสมัคร ต้องเป็นบุคคลที่สมาชิกยอมรับทั้งวัยวุฒิ ความอาวุโส และมีความรู้รอบด้านทั้งในเรื่องยุทธศาสตร์และการเมืองการปกครอง ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ทั้งนี้ มีบุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวแต่ก็ต้องการปฏิรูปเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่อยากเป็นประธาน บุคคลที่จะเป็นประธานหากเป็นทั้งทหารและพลเรือนด้วยก็น่าจะดี

“ตามที่มีรายชื่อ ผมเห็นว่านายปานเทพมีความเหมาะสม แต่จะเหมาะสมที่สุดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเสนอชื่อของบุคคลอื่นๆ ด้วย โดยส่วนตัวอยากที่จะเสนอ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อีกทั้งเคยเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีโอกาสพูดคุยกัน จึงไม่ทราบว่า ร.อ.ทินพันธุ์ พร้อมจะทำหน้าที่ประธาน สปท.หรือไม่” พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น