xs
xsm
sm
md
lg

ขยายศูนย์จดทะเบียนแรงงาน "กษิต"ชงตั้งองค์กรอิสระดูแล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการขยายการจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ หรือ ศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส หลังจากจัดตั้งศูนย์ที่ จ.สมุทรสาคร เป็นแห่งแรกว่า ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีเป้าหมายจะจัดตั้งศูนย์วันสต๊อปเซอร์วิสในอีก 21 จังหวัด ที่มีจังหวัดติดกับชายทะเลให้ครบทั้ง 22 จังหวัด ส่วนจะเริ่มทยอยเปิดเป็นรายจังหวัด หรือจะเปิดพร้อมกันในคราวเดียวนั้น ขณะนี้ยังกำหนดไม่ได้ เพราะจะต้องมีการประเมินผลการดำเนินงานของศูนย์วันสต๊อปเซอร์วิสที่ จ.สมุทรสาคร รวมทั้งศูนย์ประสานงานรับแรงงานเข้าทำงาน 4 ศูนย์ ใน จ.สระแก้ว จันทบุรี ตราด และ สุรินทร์ และนำไปหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ หรือ กนร. รวมทั้งรอการกำหนดนโยบายจาก กนร. เบื้องต้นจากการที่ตนเอง และ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ได้ไปตรวจเยี่ยมศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส ที่ จ.สมุทรสาคร พบว่า การจัดตั้งศูนย์ฯ แต่ละแห่ง จะต้องใช้รถเอกซเรย์ และอุปกรณ์จำนวนมาก เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์บัตร รถเอกซเรย์ 5-7 คัน ถ้าเปิดศูนย์ฯ พร้อมกันทุกจังหวัด ก็จะต้องเตรียมความพร้อมสิ่งเหล่านี้ก่อน
ด้านนายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวสนับสนุนการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวของ คสช. และเห็นว่า ต้องเร่งแก้ตั้งแต่ต้นตอใน 3 ระดับ คือ
1. ระดับทวิภาคี ที่จะต้องประสานกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาแรงงานนอกระบบ โดยต้องทบทวนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติไปตามเอ็มโอยู
2. ในระดับอาเซียน ซึ่งมีกรรมการอาเซียนว่าด้วยแรงงานต่างด้าว จะต้องปรึกษาหารือกันระหว่างประเทศผู้ส่งแรงงานและผู้รับแรงงานในอาเซียน ในระดับกระทรวงต่างประเทศ และแรงงานให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน
3.ในระดับนานาชาติ จะต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ทั้งนี้เห็นว่าในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังมีการปฏิรูปประเทศ ควรมีการตั้งองค์กรอิสระ ที่ประกอบด้วยฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งด้านความมั่นคง เข้ามาดูแลแรงงานต่างด้าวเป็นการเฉพาะ แยกออกมาจากกระทรวงแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นเหตุอย่างยั่งยืน
"การชี้แจงกับนานาชาติถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเมื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้วจะต้องรายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินการ กำหนดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาให้นานาชาติได้ทราบ ขณะเดียวกันควรต้องมีคณะกรรมการร่วมของไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยตลอดแนวชายแดน ป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ เชื่อว่าหากดำเนินการอย่างเข้มข้น ก็อยู่ในวิสัยที่ไทยหลุดจากการเป็นประเทศที่ มีปัญหาการค้ามนุษย์ ในอันดับ 3 ได้ พร้อมกันนี้ยังเห็นว่ากระทรวงการต่างประเทศ โดยเฉพาะเอกอัครราชทูตในประเทศต่าง ๆ ควรต้องเร่งออกไปชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ในต่างประเทศเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงสถานการณ์ในประเทศไทย หลังคสช.เข้ามาบริหารประเทศว่าเป็นเพียงการเข้ามาชั่วคราว เพื่อให้เกิดการปฏิรูปและมีประชาธิปไตยอย่างถาวร." นายกษิต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น