xs
xsm
sm
md
lg

“กษิต” แนะตั้งองค์กรอิสระดูเฉพาะแรงงานต่างด้าว ชี้แก้ปัญหาเข้ม หลุดอันดับค้ามนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศ(แฟ้มภาพ)
อดีต รมว.กต.เชียร์ คสช.แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว แนะแรงแก้ต้นตอ 3 ระดับ ทวิภาคี-อาเซียน-นานาชาติ ชี้ควรตั้งองค์กรอิสระดูแลเฉพาะ แยกจาก ก.แรงงาน แก้ทั้งระบบอย่างยั่งยืน รับแจงนานาชาติเรื่องสำคัญ กำหนดเวลาแก้ให้ทราบ ควรมี คกก.ร่วมสอบตามชายแดน เชื่อทำเข้ม ไทยหลุดอันดับ 3 ค้ามนุษย์ จี้ทูตเร่งแจง ตปท. คสช.มาปฏิรูป มี ปชต.ถาวร

วันนี้ (1 ก.ค.) นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวสนับสนุนการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเห็นว่าต้องเร่งแก้ตั้งแต่ต้นตอใน 3 ระดับ คือ 1. ระดับทวิภาคี ที่จะต้องประสานกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาแรงงานนอกระบบ โดยต้องทบทวนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติไปตามเอ็มโอยู 2. ในระดับอาเซียน ซึ่งมีกรรมการอาเซียนว่าด้วยแรงงานต่างด้าว จะต้องปรึกษาหารือกันระหว่างประเทศผู้ส่งแรงงานและผู้รับแรงงานในอาเซียน ในระดับกระทรวงต่างประเทศและแรงงานให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน และ 3. ในระดับนานาชาติจะต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เห็นว่าในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังมีการปฏิรูปประเทศ ควรมีการตั้งองค์กรอิสระ ที่ประกอบด้วยฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งด้านความมั่นคง เข้ามาดูแลแรงงานต่างด้าวเป็นการเฉพาะ แยกออกมาจากกระทรวงแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบตั้งแต่ต้นเหตุอย่างยั่งยืน

นายกษิตกล่าวต่อว่า การชี้แจงกับนานาชาติถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเมื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้วจะต้องรายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินการ กำหนดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาให้นานาชาติได้ทราบ ขณะเดียวกันควรต้องมีคณะกรรมการร่วมของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยตลอดแนวชายแดน ป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ เชื่อว่าหากดำเนินการอย่างเข้มข้น ก็อยู่ในวิสัยที่ไทยหลุดจากการเป็นประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ในอันดับ 3 ได้ พร้อมกันนี้ยังเห็นว่ากระทรวงการต่างประเทศ โดยเฉพาะเอกอัครราชทูตในประเทศต่างๆ ควรต้องเร่งออกไปชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ในต่างประเทศเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงสถานการณ์ในประเทศไทยหลัง คสช.เข้ามาบริหารประเทศว่าเป็นเพียงการเข้ามาชั่วคราวเพื่อให้เกิดการปฏิรูปและมีประชาธิปไตยอย่างถาวร


กำลังโหลดความคิดเห็น