เอเจนซีส์/ASTVManager – ถือเป็นการยากในไทยที่จะมีการถกเถียงอย่างเปิดเผยเรื่องสถาบันสูงสุดอันเป็นที่เคารพของประชาชนไทยทั้งประเทศ เหตุเพราะมีกฎหมายหมิ่นพระบรมบรมเดชานุภาพป้องกันไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหายเหมือนดังเช่นราชวงศ์วินด์เซอร์ของอังกฤษประสบปัญหามาตลอด และทำให้หลายเรื่องเกี่ยวกับราชสำนักเป็นเรื่องต้องห้าม โดยหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ สื่อสหรัฐ ฉบับวันเสาร์(7) ได้ตีพิมพ์บทความของชิโก ฮาร์ลาน (Chico Harlan )ที่ลงความเห็นว่า การทำรัฐประหารครั้งล่าสุดในไทย มีเบื้องหลังจากความขัดแย้งของสังคมไทยที่มีสถาบันสูงสุดของประเทศเป็นประเด็นสำคัญ
ปมความขัดแย้งเรื่องสถาบันสูงสุดของไทยที่มีพระประมุขของประเทศในขณะนี้คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชย์ยาวนานอย่างต่อเนื่องเกือบ 70ปีและทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย โดยที่พระองค์มีฐานะเป็นเสมือนสมมุติเทพตามความเชื่อของไทยแต่โบราณ แต่กระนั้น เอิร์นเนส โบว์เวอร์ (Ernest Bower)ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำสถาบันการศึกษาด้านกลยุทธและสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ให้ความเห็นว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสูญญากาศทางอำนาจขึ้นในไทยและนำมาสู่กลียุคเมื่ออยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจของสถาบันสูงสุด โดยโบว์เวอร์เปรียบว่า “เป็นเสมือนเกมส์เก้าอี้ดนตรี คนที่รับไม้ต่อต้องสามารถจัดการขั้นต่อไปได้”
ที่ผ่านมาในศตวรรษที่ 20 พระประมุขของไทยทรงเป็นเสมือนผู้พิทักษ์เสถียรภาพความมั่นคงประเทศ และเป็นศูนย์รวมกำลังท่ามกลางการรัฐประหารที่รุนแรงหลายครั้งในอดีต รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกนับครั้งไม่ถ้วนที่มีการสูญเสียของประชาชนไทยในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ รวมไปถึงภัยคอมมิวนิสต์ที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติ และเมื่อยามจำเป็นพระองค์ได้มีพระราชกระแสรับสั่งเรียกตัวผู้นำความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายมาเข้าเฝ้า และหลังจากนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงกลับคลี่คลายลงอย่างไม่มีที่ต้องสงสัย
แต่กระนั้นในช่วงเวลานี้เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงประทับอยู่ที่วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่สื่อต่างประเทศต่างกล่าวว่า เนื่องมาจากด้านพระพลานามัยทำให้เป็นเรื่องยากมากจะเห็นพระเจ้าอยู่หัวปรากฏพระองค์ทางสาธารณะเหมือนเฉกเช่นในสมัยอดีต และในท้ายที่สุดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นหัวหน้าคณะคสช. อย่างเช่นที่พลเอกประยุทธ์ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสื่อต่างชาติทุกสำนักว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับรองคณะคสช.ให้เป็นผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์หลังจากความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดหลังจากการประท้วงของกลุ่มกปปส.ต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยาวนานถึง 7 เดือน โดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้รับการหนุนหลังจากพี่ชายยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกโค่นอำนาจโดยการรัฐประหารแต่ยังคงเป็นที่นิยมต่อกลุ่มการเมืองรากหญ้าทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ แต่ทักษิณเป็นที่ถูกต่อต้านอย่างหนักโดยกลุ่มคนชนชั้นกลางในเมือง และคนเมืองหลวงโดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีส่วนน้อยของประเทศที่เรียกตนเองว่า “กลุ่มผู้ปกป้องสถาบัน”
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสนใจว่า พรรคการเมืองภายใต้อิทธิพลของทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งติดต่อกันตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2001 แต่ทว่าพรรคของเขาต้องประสบชะตากรรมทางการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน ถ้าหากไม่ถูกยุบด้วยคำพิพากษาของศาลไทยก็ต้องถูกทำรัฐประหารโดยกองทัพเรื่อยมา โดยกลุ่มต่อต้านทักษิณต่างลงความเห็นว่า ทักษิณปล่อยให้พวกพ้องคอรัปชัน และสถาปนาขุมอำนาจให้จำกัดอยู่แค่ในวงตระกูลชินวัตรและคนวงในที่ใกล้ชิด และข้อกล่าวหาต่อตัวทักษิณที่ร้ายแรงที่สุดนั้นตามที่ชิโก ฮาร์ลานรายงาน เป็นปัญหาเกี่ยวเนื่องกับสถาบันสูงสุดของประเทศ ที่ฮาร์ลานกล่าวว่าทักษิณมีปัญหาที่เขามีความต้องการอำนาจโดยไม่มีที่สิ้นสุด และเขาตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับราชสำนัก ที่ตัวทักษิณเองปฎิเสธข้อกล่าวหาพวกนี้อย่างหนักแน่นมาโดยตลอด
และมีนักวิเคราะห์บางคนให้ความเห็นเรื่องรัฐประหารว่า บางที่คณะคสช.อาจอยู่ในอำนาจโดยไม่มีกำหนด ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำการทำรัฐประหารล่าสุดได้ชื่อเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบัน และได้ประกาศว่า คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทุกคดีต้องขึ้นสู่ศาลทหารไม่ใช่ศาลอาญาตามที่ควรจะเป็นในยามปกติ
และสื่อสหรัฐฯได้แสดงความเห็นว่า ประชาชนชาวไทยต่างแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันสูงสุดของประเทศทั้งในด้านกว้างและด้านแคบ โดยพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรากฏอยู่บนเงินบาทของไทยในรูปธนบัตรและเหรียญที่เหมือนกับเงินสกุลปอนด์ของอังกฤษมีพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2แห่งอังกฤษ และด้านหน้าของอาคารในไทยต่างประดับพระฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ที่หน้าตึก รวมไปถึงที่ร้านอาหาร ตลอดจนทางด่วนโทลเวย์ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในช่วงพระชนมายุที่ต่างกันไปประดับ รวมไปถึงในโรงภาพยนต์ที่ถือเป็นธรรมเนียมนิยมปฎิบัติในไทยที่ผู้ชมภาพยนต์ต้องยืนถวายความเคารพก่อนภาพยนต์จะเริ่มฉาย โดยประชาชนทั่วไปมักคุ้นที่จะเอ่ยพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชว่า “ในหลวง” และหนังสือที่ขายดีติดอันดับตลอดกาลในไทยคือ พระราชนิพนธ์ประวัติสุนัขทรงเลี้ยง “คุณทองแดง”
ผมอาจจะกล่าวได้ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์แห่งการทรงงาน” รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ( Sakarindr Bhumiratana) ที่มีส่วนร่วมใน 3ทศวรรษของโครงการหลวงตามพระราชดำริ เปิดเผยต่อวอชิงตันโพสต์ และกล่าวต่อไปว่า “ทุกค่ำคุณจะได้ยินข่าวสารรายงานทางโทรทัศน์ว่าพระองค์ต้องเสด็จไปที่ไหนสักที่ในราชอาณาจักรไทย ในถิ่นทุรกันดารที่ประชาชนมีความยากแค้นและต้องการความช่วยเหลืออย่างมากที่สุด พระองค์ทรงเสด็จไปถึงที่นั่นเพื่อให้การช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์”
และเมื่อยามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต้องงดทรงงานเนื่องจากปัญหาด้านพระพลานามัย พระองค์เสด็จไปประทับที่วังไกลกังวล ที่มีความหมายว่า “ไกลจากความวิตกกังวล” ทางราชสำนักจะมีหน้าที่โดยตรงรับผิดชอบประกาศข่าวการรักษาพระองค์เป็นระยะๆให้คนทั้งประเทศรับทราบ โดยแท้จริงแล้วฐานะของสมาชิกราชวงศ์และพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขนั้นต้องดำรงตนเป็นกลางทางการเมือง และตามแนวปฎิบัติโดยทั่วไปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอำนาจภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ โดยที่พระองค์ทรงสามารถยับยั้งหรือสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐสภาไทย ซึ่งมีกรณีที่น้อยมากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชอำนาจแทรกแซง โดยประชาชนชาวไทยทั้งปวงต่างเห็นพระองค์ในฐานะผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์พสกนิกรเป็นที่ตั้งตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงให้คำมั่นว่า “จะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และสื่อวอชิงตันโพสต์ยังตั้งข้อสังเกตว่า พระประมุขของชาติไม่เคยปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะร่วมกับเหล่านายพลระดับสูงของกองทัพหรือบรรดานักการเมืองชั้นนำของไทยที่มีภาพลักษณ์ส่วนใหญ่ด้านลบและมีอำนาจขึ้นลงตามการเลือกตั้ง
ยามรุ่งโรจน์และยามอับแสงของทักษิณ ชินวัตร
การปรากฎตัวของทักษิณ ชินวัตรทางการเมืองอยู่ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆของไทยเหมือนดังเช่นในสมัยยุค 70 โดยทักษิณชนะการเลือกตั้งในปี 2001ด้วยคะแนนเสียงแลนด์สไลด์ และเป็นนักการเมืองคนแรกที่มีเป้าหมายหลักทางการเมืองไปที่คนต่างจังหวัดอันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ทักษิณให้สมญานามว่า “ชาวรากหญ้า” โดยเสนอนโยบายประชานิยมต่างๆ อาทิ โครงการ30บาทรักษาทุกโรค โครงการปลดหนี้ชาวนา และตลอดไปถึงโครงการกองทุนหมู่บ้านเพื่อซื้อใจฐานเสียงต่างจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือที่มีอาชีพหลักในภาคเกษตรกรรม และผลที่ตอบรับส่งให้ทักษิณ ชินวัตร เศรษฐีหมื่นล้านจากธุรกิจโทรคมนาคมกลายเป็นนายกรัฐมนตรีของคนหมู่มาก
แต่จุดหันเหชีวิตของทักษิณมีขึ้นเมื่อเขาโดนทำรัฐประหารในปี 2006 และต้องหลบหนีคดี โดยอาศัยในดูไบเพื่อรอโอกาสหวนกลับเข้าประเทศไทยโดยไม่มีคดีความติดตัว และในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทักษิณถูกคนเมืองกรุงมองเขาเป็นเสมือนผู้อยู่เบื้องหลังคอยชักใยพรรคการเมืองของเขา “พรรคเพื่อไทย” และล่าสุดรวมไปถึงน้องสาวของตนเอง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”
และทักษิณ ชินวัตร ได้อ้างตลอดมาอย่างยาวนานในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันสูงสุด แต่ฝ่ายต่อต้านเขาไม่คิดเช่นนั้น ในปี 2010 วิกีลีกส์ได้เปิดเผยเอกสารลับของสถานทูตสหรัฐฯ ที่อ้างคำพูดจากผู้ใกล้ชิดราชสำนักไทยกล่าวถึงทักษิณและทางราชสำนัก และชิโก ฮาร์ลาน รายงานเสริมว่า ทักษิณเองได้พยายามต้องการตีสนิทเพื่อปูทางผลประโยชน์ทางการเมืองกับผู้ต้องรับไม้ต่อในเกมส์เก้าอี้ดนตรี โดยกลุ่มต่อต้านทักษิณได้ประนามว่า ทักษิณมีความต้องการเป็นประธานาธิบดีคนแรกของไทยที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จมากกว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
“เขาต้องการควบคุมเอาไว้เองทั้งหมด” กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูตไทยในสหรัฐฯให้สัมภาษณ์กับวอชิงตันโพสต์ และเสริมว่า “ทักษิณต้องการให้สมาชิกราชวงศ์อยู่ในกรงทอง” แต่แน่นอนที่สุด ทักษิณปฎิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างจริงจังโดยกล่าวว่า ข้อกล่าวหาทั้งหมดล้วนแต่พุ่งเป้าเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองทั้งสิ้น และได้ส่งทนายความไล่ฟ้องทุกคนที่ตั้งข้อกล่าวหาสงสัยตัวเขาในเรื่องความจงรักภักดี รวมไปถึง กษิต ภิรมย์ โดยการวิพากษ์ทักษิณในข้อกล่าวหาเกี่ยวกับราชสำนักนั้นถือเป็นแฟร์เกมส์ที่ทุกคนสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย และไปจบเรื่องในชั้นศาล แต่กระนั้นการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในไทยที่สื่อต่างชาติมักอ้างว่า มีเนื้อหากฎหมายอย่างกว้างๆและไม่ระบุเจาะจงทำให้ยากที่จะประเมินว่าสิ่งใดเป็นเรื่องต้องห้าม นั้นขึ้นๆลงๆตามยุคสมัย แต่ในยุครัฐบาลสมัยหลังๆได้มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น ที่วอชิงตันโพสต์รายงานว่า แม้แต่การกด “ไลค์” ในเฟสบุ๊กที่มีข้อมูลล่อแหลมที่เห็นได้ชัดว่าขัดกฎหมายหมิ่นฯสามารถทำให้ผู้นั้นตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ และจากการที่มีข้อจำกัดมากมายทำให้สถาบันยังคงเป็น “หลุมดำ” ที่ลึกลับต่อไป รศ. ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ (Pavin Chachavalpongpun) นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าว และเสริมตบท้ายกับวอชิงตันโพสต์ว่า คุณไม่ควรพูดถึงสิ่งใดเกี่ยวกับราชสำนัก นอกจากการสรรเสริญ”