พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่งจาก พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ไปยังศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงทอดพระเนตรการดำเนินงานของมูลนิธิศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการดูแลรักษาและฟิ้นฟูสุขภาพสุนัขจรจัด ในการนี้ทรงเจิมป้ายประวัติคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง ซึ่งศูนย์แห่งนี้ได้รับพระราชทานเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อยืด “คุณทองแดง” เป็นทุนประเดิมในการดำเนินกิจการ
วันนี้ (13 ก.พ.) เมื่อเวลา 14.42 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปทรงติดตามการดำเนินงานของศูนย์รักษ์สุนัขหัวหินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชประสงค์เพื่อเป็นแหล่งพักพิงของสุนัขจรจัด และสุนัขที่ถูกเจ้าของทอดทิ้ง และเป็นโครงการต้นแบบบริหารจัดการอย่างมีระบบครบวงจรให้แก่ท้องถิ่นอื่น ในการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด
ซึ่งจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2546 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล และทรงตระหนักถึงปัญหาสุนัขจรจัดในเขตเทศบาลเมือง เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี อาจเกิดโรคพิษสุนัขบ้าติดต่อมาสู่คนได้ จึงพระราชทานเงินจากการจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง เป็นทุนก่อสร้างอาคารที่ได้รับการสนับสนุนพื้นที่กว่า 20 ไร่จากวัดเขาอิติสุคโต (อิ-ติ-สุก-ขะ-โต) และการจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคจากเทศบาลเมืองหัวหินที่รับผิดชอบดำเนินงานด้านต่างๆ ภายในศูนย์ฯ จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานเงินจัดตั้งมูลนิธิศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อใช้ดำเนินงานดูแลสุนัข และพระราชทานมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคือเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา และวันนี้คณะผู้ถวายงานได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนมูลนิธิฯ
ปัจจุบันศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน ดำเนินงานเกี่ยวกับสุนัขจรจัด คือ การลดจำนวนในพื้นที่เขตเทศบาลเมือง อาทิ ทำหมัน และรณรงค์เรื่องการเลี้ยงอย่างมีความรับผิดชอบ อีกทั้งยังดูแลสุนัขภายในศูนย์ฯ เริ่มด้วยการทำประวัติ คัดกรอง ตรวจสุขภาพ ทำหมัน ฉีดวัคซีน และถ่ายพยาธิ แล้วจึงแบ่งออกเป็นกลุ่มสุนัขโตเต็มวัย สุขภาพแข็งแรง สามารถให้เลือดแก่สุนัขป่วยได้, กลุ่มสุนัขโตเต็มวัย แต่ไม่สามารถให้เลือดได้ และกลุ่มลูกสุนัข สำหรับให้ผู้รับไปอุปการะ รวมถึงกลุ่มสุนัขพิการ เจ็บป่วย ซึ่งจะทำการรักษา และเคลื่อนย้ายบางส่วนไปยังศูนย์ฟื้นฟูสัตว์เลี้ยง กรมปศุสัตว์ จังหวัดกาญจนบุรี
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการสาธิตกิจกรรมต่าง ๆ เริ่มที่กิจกรรมกายภาพบำบัดของสุนัขชื่อ “มะหลง” พันธุ์ทาง อายุ 8 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหิน ด้วยอาการขาอ่อนแรง สัตวแพทย์ดำเนินการตรวจร่างกาย และระบบประสาท พบว่า ป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หลังจากรักษาด้วยยาแล้ว มีอาการดีขึ้น จึงให้ทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย โดยให้ก้าวข้ามเครื่องกีดขวาง และว่ายน้ำในกิจกรรมธาราบำบัด ซึ่งเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งของการบำบัดรักษาโรคในกลุ่มเวชศาสตร์ฟื้นฟู รักษาอาการบาดเจ็บ หรือฟกช้ำของกล้ามเนื้อภายหลังการผ่าตัด
โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน กระดูกสันหลังหัก เคลื่อน หรือเสื่อม โดยได้รับการผ่าตัดแล้ว, โรคข้อกระดูกสะโพกผิดปกติ หรือข้อสะโพกเสื่อม ตลอดจนการอักเสบของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และข้อต่อ โดยกลไกของน้ำ และเสื้อชูชีพเป็นตัวช่วยพยุงน้ำหนัก ให้สัตว์ได้ใช้ขาว่ายน้ำ ทำให้มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น เนื่องจากหากปล่อยให้เดินบนพื้นปกติ จะยิ่งเพิ่มความเจ็บปวดจนไม่ยอมเดิน นอกจากนี้ การว่ายน้ำในสัตว์เลี้ยงปกติ ยังถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีด้วย ซึ่งได้ทอดพระเนตรการสาธิตการว่ายน้ำในสัตว์ปกติของ “แดงบ่อฝ้าย” และ “เสือหัวนา” ด้วย
จากนั้นทอดพระเนตรบริเวณกรงสุนัขขอรับอุปการะ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้จัดทำทะเบียน และเครื่องหมายประจำตัวสุนัข รวม 1,032 ตัว มีการเคลื่อนย้ายไปยังศูนย์ฟื้นฟูสัตว์เลี้ยง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อลดความแออัดภายในศูนย์ฯ ที่สามารถรองรับได้ 812 ตัวในปัจจุบัน โดยคัดเลือกลูกสุนัข และสุนัขโตนิสัยดี 47 ตัว เพื่อรอผู้รักสุนัขนำไปอุปการะ โอกาสนี้ ทรงพระราชทานขนมสำหรับสุนัขแก่สุนัขภายในกรง แล้วทอดพระเนตรรถเคลื่อนที่ธนาคารเลือด โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหิน
และบริเวณกรงสุนัขที่มีสุขภาพแข็งแรง เป็นสุนัขให้เลือด จำนวน 99 ตัว ซึ่งต้องทำการตรวจให้ตรงตามคุณสมบัติต่อไป อาทิ มีอายุระหว่าง 1-6 ปี ไม่จำกัดเพศ และพันธุ์, มีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 20 กิโลกรัม, ไม่มีโรคพยาธิในเม็ดเลือด กลุ่มเลือดสุนัขมีทั้งหมด 8 กรุ๊ป ก่อนให้เลือด ต้องทำการวางยาซึมป้องกันสุนัขดิ้น เนื่องจากต้องเจาะเก็บที่เส้นเลือดบริเวณลำคอ 1 ตัวสามารถให้เลือดได้ทุก 3 เดือน เฉลี่ย 4 ถุงต่อปี ซึ่งธนาคารเลือดตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 400 ถุงถึงจะเพียงพอต่อการนำไปช่วยเหลือสัตว์ป่วยได้ตลอดปี ซึ่งก่อนนำไปใช้ สัตวแพทย์ต้องตรวจความเข้ากันได้ของหมู่เลือด
ในการนี้ ทรงเจิมแผ่นป้ายประวัติ และทรงพระสุหร่ายรูปปั้นคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง เกิดเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2541 เวลาประมาณเที่ยงคืน ภายในซอยหมู่บ้าน ข้างคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา เขตวังทองหลาง แม่ชื่อแดง มีพี่น้อง 7 ตัว ลักษณะพิเศษ คือ สายสร้อยรอบคอครึ่งเส้น ถุงเท้าขาวทั้ง 4 ขา หางม้วน จมูกเด่น หางดอกสีขาว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงรับเป็นสุนัขทรงเลี้ยง ถวายตัวเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2541 ณ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานนามว่าทองแดง ทรงยกย่องว่า ทองแดงเป็นสุนัขที่มีความกตัญญูรู้คุณ มีสัมมาคารวะ กิริยามารยาทเรียบร้อย เจียมเนื้อเจียมตัว รู้จักที่ต่ำที่สูง เวลาเฝ้าจะนั่งต่ำกว่าเสมอ แม้จะทรงดึงตัวขึ้นมากอด ทองแดงก็จะทรุดตัวลงหมอบกับพื้น และทำหูลู่อย่างนอบน้อม คล้ายกับแสดงว่าไม่อาจเอื้อม
จากนั้นได้ทอดพระเนตรบริเวณโดยรอบศูนย์ฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดรับรักษาพยาบาลสัตว์ป่วย, ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และทำหมันให้กับสุนัขภายในศูนย์ รวมถึงสุนัข และแมวของประชาชน ตลอดจนวางแผนจัดตั้งฌาปนสถานสำหรับสุนัข, ผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลสุนัข และจัดตั้งร้านจำหน่ายของที่ระลึก และผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม และสร้างรายได้ให้มูลนิธิฯ เป็นทุนค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากงบประมาณของเทศบาล และการบริจาคของเอกชน และประชาชน โอกาสนี้ ทรงให้อาหารสุนัขบริเวณโซนเลี้ยงและฟื้นฟูสุขภาพสุนัข
ทั้งนี้หลังจากเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ วังไกลกังวล ตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงงานติดตามความก้าวหน้าของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น ทั้งยังมีพระเมตตาเผื่อแผ่แก่สัตว์ เช่น สุนัข สัตว์เลี้ยงที่มีความผูกพันใกล้ชิด เป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ของมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักพระราชวัง และเทศบาลเมืองหัวหินเข้าไปสำรวจ เพื่อปรับปรุงพัฒนาศูนย์รักษ์สุนัขหัวหินที่เปิดดำเนินงานมาแล้วกว่า 10 ปี และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมในวันนี้
ในการนี้ทรงซักถามถึงการดำเนินงานที่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งมักนำสุนัขไปร่วมกิจกรรมธาราบำบัด โดยปัจจุบันศูนย์ฯ เปิดให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวนำสุนัขมาใช้บริการในกิจกรรมกายภาพบำบัด ธาราบำบัด และออกกำลังกายในทุกวันจันทร์ และพุธ พร้อมทั้งมีพระราชดำริให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนสืบไป ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ยังได้ทอดพระเนตรอาคารสำนักงานด้านหน้า ซึ่งเป็นจุดแรกของการรับสุนัขจรจัด เพื่อคัดกรองโรค และเฝ้าสังเกตอาการ หากมีอาการเจ็บป่วย จะทำการรักษา เช่นกรณีสุนัขเป็นต้อหิน ต้องผ่าตัดเอาลูกตาออก และพักฟื้นสักระยะ หลังจากทอดพระเนตรส่วนต่างๆ อย่างทั่วถึงแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับ โดยมีพสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ส่งเสด็จฯ พร้อมเปล่งเสียงทรงพระเจริญตลอดเส้นทางที่รถยนต์พระที่นั่งผ่าน