xs
xsm
sm
md
lg

แลนด์มาร์กเจ้าพระยา 1.4 หมื่นล้าน ติดปัญหาผ่านแนว “แบงก์ชาติ-เขตเมืองเก่า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วงเงิน 14,006 ล้านบาท จะมีการก่อสร้างเส้นทางจักรยานตลอดแนวริมแม่น้ำ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม7-สะพานปิ่นกล้า ทั้งสองฝั่ง โดยรูปแบบการก่อสร้างจะมีการลงเสาเข็มลงไปแม่นำเจ้าพระยา ขนาดความกว้างฝั่งละ 20 เมตร แต่ไม่ได้ทำสะพานข้ามเชื่อมระหว่างกัน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาการก่อสร้างประมาณ 18 เดือน”
“แลนด์มาร์กเจ้าพระยา” ติดปัญหาอนุญาตใช้แนวโครงการผ่านเขตพระราชฐาน ทั้งพื้นที่บริเวณ “ธนาคารแห่งประเทศไทย - เขตเมืองเก่า” กระทบ 8 วัด 19 สถานที่สำคัญ เปิดชื่อ 2 บริษัทที่ปรึกษาออกแบบผ่านคุณสมบัติ กทม. คาด พ.ย. ลงนามจ้างได้ เตรียม 3 แผนช่วยผู้ได้รับผลกระทบ

วันนี้ (7 ต.ค.) มีรายงานว่า ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านการบริหารโครงการ ครั้งที่ 3 เพื่อติดตามความคืบหน้าของคณะ

โดยช่วงเช้า พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า จะติดตามในประเด็นการขออนุญาตให้แนวโครงการผ่านเขตพระราชฐานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ความคืบหน้าในการจ้างที่ปรึกษา และออกแบบรายละเอียด รวมทั้งกรอบแนวความคิดด้านการออกแบบ (Conceptual Design) ในบางพื้นที่ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม อย่างเช่น บริเวณธนาคารแห่งประเทศไทย และเขตเมืองเก่า แล้วนำเสนอคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวภายหลังว่า ที่ประชุมมีการหารือมาตรการเร่งด่วน ในการขับเคลื่อนโคงการ โดยจะเร่งทำแผนการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงเร่งรัดจ้างที่ปรึกษาสำรวจออกแบบ และจัดทำแผนแม่บท เพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งจัดทำกรอบงบประมาณโครงการ ปีงบประมาณ 2559-2561 โดยจะมีการแบ่งช่วงระยะเวลาการดำเนินการ เพื่อประเมินโครงการก่อนดำเนินการในระยะต่อไป ทั้งนี้จะมีการพิจารณาแบบการก่อสร้างในจุดที่มีความพิเศษและละเอียดอ่อน เช่น บริเวณธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ตนขอยืนยันว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการ โครงการ กล่าวภายหลังร่วมประชุม ว่า วันนี้ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงความคืบหน้าและขั้นตอนการจ้างที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อให้ได้ที่ปรึกษาฯออกแบบ และเสนอแนวคิดให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการในการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นสถานที่พักผ่อน ออกกำลังกาย สันทนาการ ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึง และใช้สอยประโยชน์พื้นที่ได้อย่างเท่าเทียม

ในขณะนี้ยังมีประชาชนบางกลุ่มแสดงความกังวลต่อโครงการ ซึ่งคณะอนุกรรมการได้รวบรวมข้อคิดเห็น รวมถึงความต้องการ ผลกระทบ และข้อเสนอจากประชาชน เพื่อเป็นข้อมูลให้บริษัทที่ปรึกษาใช้ประกอบการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด นอกจากนี้ กทม. จะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย

แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานอีไอเอ แต่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อโครงการและให้ใช้เป็นข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ ส่วนการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้มี 3 ทางเลือก ได้แก่ 1. รัฐจัดหาที่พักอาศัยใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียง 2. รัฐจัดหาโครงการที่อยู่อาศัยของรัฐที่มีอยู่แล้วให้ผู้ได้รับผลกระทบ และ 3. รัฐจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

“สำหรับขั้นตอนการจ้างที่ปรึกษานั้น กทม. ได้ออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจแสดงความจำนง และยื่นเอกสารเบื้องต้น และได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นเอกสารเสร็จแล้ว โดยมีผู้มีคุณสมบัติตรงตามประกาศและรายการข้อกำหนดการจ้าง จำนวน 2 ราย ซึ่ง กทม. จะได้ออกหนังสือเชิญบริษัทที่ปรึกษายื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและด้านราคาต่อไป โดยคาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาได้ในเดือนพ.ย. นี้” นพ.พีระพงษ์ กล่าว

มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น มีบริษัทที่ยื่นเเสดงความจำนงจำนวน 3 บริษัท ที่จะมาเป็นที่ปรึกษาโครงการ ประกอบด้วย 1. กลุ่มบริษัท Consultants of Technology จำกัด ร่วมกับ บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ อาร์คิเทคเชอร์ จำกัด และบริษัท ซีโอยู จำกัด 2. บริษัท ฟิวชั่น คอนซัลแตนท์ จำกัด และ 3. กลุ่ม บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท เอฟซิลอน จำกัด และบริษัท Transconsult จำกัด

มีรายงานว่า ในส่วนของความคืบหน้าการดำเนินงาน ได้มีการสำรวจข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ซึ่งพบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ อาทิ วัด 8 แห่ง ท่าเรือเอกชนและสาธารณะ 36 แห่ง โรงเรียนและร้านอาหาร 6 แห่ง สถานที่สำคัญ 19 แห่ง และชุมชนรุกล้ำ 268 หลังคาเรือน

อีกทั้งการออกแบบพร้อมประมาณราคา การรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ รวมถึงการขอกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเงินทั้งสิ้น 14,006 ล้านบาท แบ่งเป็นงบดำเนินการในปี 2558 จำนวน 500 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าชดเชย ค่ารื้อย้าย ค่าจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

ในส่วนของปีงบประมาณ 2558 - 2559 เป็นค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบจำนวน 120 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2559 - 2560 เป็นค่าก่อสร้างโครงการ จำนวน 13,136 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 250 ล้านบาท โดยจะมีการลงนามสัญญาโครงการในเดือน ธ.ค. 58 และก่อสร้างระหว่างเดือน ม.ค. 59 - ก.ค. 60 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 180 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น