xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มอนุรักษ์ฯ บุกค่ายทหารค้านใช้พื้นที่แจงข้อมูลเหมืองโปแตซ ยันผิดหลักมีส่วนร่วมชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานียื่นหนังสือค้านการใช้พื้นที่ค่ายทหารเปิดประชุมชี้แจงข้อมูลเหมืองแร่โปแตซ
อุดรธานี - ชาวบ้านเขตขอประทานบัตรเหมืองแร่โปแตซ อ.ประจักษ์ศิลปาคม 15 หมู่บ้านใช้พื้นที่ทหาร เปิดประชุมรับฟังชี้แจงข้อมูลโครงการทำเหมืองโปแตชจากนายทุนเหมืองเอพีพีซี ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ ร่วม 200 คนบุกถึงหน้าค่ายยื่นหนังสือค้านไม่เห็นด้วยใช้พื้นที่ทหารแจงข้อมูล ย้ำต้องเป็นที่สาธารณะในหมู่บ้านที่มีส่วนได้เสียจากโครงการฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (15 ก.ย.) ที่สโมสรนายทหารค่ายเจ้าพระยาสุนทรธรรมธาดา ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานในการเปิดการประชุมรับฟังการชี้แจงการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปรแตช จังหวัดอุดรธานี โดยมีคณะผู้ใหญ่บ้าน 15 หมู่ ต.นาม่วง ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี จำนวน 750 คน เข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ ทางคณะผู้จัดการประชุมได้เชิญนายอนุวรรณ์ เลิศสุคนธ์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี นายธีระชัย สิงห์พร หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมและพื้นฐานและเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี นายวรวุฒิ หิรัญไพศาลสกุล ผู้จัดการใหญ่บริษัท เอเชีย แปซิฟิคโปแตซ คอร์โปเรชั่น จำกัด นายกมล มหาผล วิศวกรอาวุโส บ.ออตาเลี่ยนไทย จก. เข้าร่วมในการชี้แจงรายละเอียดของการดำเนินการ

นายณรงค์กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการส่งออกที่ดี ซึ่งในจังหวัดอุดรธานีก็มีแร่โปแตซที่ยังอยู่ใต้ดินที่จะเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญและสร้างรายได้เข้าประเทศ เข้าจังหวัดได้ เพราะแร่โปแตซเป็นหัวเชื้อของปุ๋ยที่มีแร่ธาตุที่สำคัญสำหรับผสมทำปุ๋ย นอกจากนี้ก็ยังสามารถนำเอาไปทำอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญอีก เช่น กระจก เซรามิก เครื่องสำอาง ยา และอื่นๆ หากสามารถนำขึ้นมาจากใต้ดินได้ ก็จะเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ สามารถสร้างงาน รายได้เข้ามาสู่จังหวัดได้
วันเดียวกันนี้ภายในค่ายฯกลุ่มชาวบ้านที่หนุนโครงการฯเข้ารับฟังการชี้แจงข้อมูลจากผู้บริหารบริษัทเอพีพีซี.
โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นลูกหลานที่จะมีงานทำในท้องที่ ทั้งนี้ จากข้อมูลของบริษัทฯ ที่แจ้งให้ทราบว่าเกษตรกรก็สามารถที่จะทำการเกษตรเหนือพื้นที่โครงการได้ เพราะตัวโครงการเหมืองนั้นอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 300 เมตร

นายณัฐพงษ์ คำลาภ ประธานจัดการประชุมฯ กล่าวว่า การจัดการประชุมฯ ในค่ายทหารนี้ เพราะต้องการให้ประชาชนใน 15 หมู่บ้าน 2 ตำบล คือ ต.นาม่วง ต.ห้วยสามพาด ซึ่งเป็นประชาชนที่มีส่วนได้เสียโดยตรงได้รับฟังการชี้แจงการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปรแตช จังหวัดอุดรธานี โดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำการคัดค้านขัดขวางเหมือนกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 3 ก.พ. และ 26 พ.ค. 2558 ที่ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียถูกฝ่ายของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานีทำการขัดขวางการจัดประชุม

โดยการประชุมฯ ก็เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินการพิจารณาคำขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี และเป็นปะโยชน์โดยรวมของผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ในพื้นที่ของพื้นที่ดำเนินการโครงการ หลังจากนี้ทางคณะจัดการประชุมฯ ก็จะนำเอาผลการประชุมไปทำรายงานเพื่อเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อไป

ด้านนายณรงค์ พรมเลิศ ผู้ใหญ่บ้าน ม.10 บ้านสะอาดนามูล ต.ห้วยสามพาดฯพร้อมด้วยคณะผู้ใหญ่บ้าน ได้ทำการแถลงเหตุผลที่ต้องมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ทหารครั้งนี้ว่า เนื่องจากที่ผ่านมานั้น หมู่บ้าน ตำบล มีหน้าที่จะต้องจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นทุกหมู่บ้าน แต่เมื่อวันที่ 3 ก.พ.และ 26 พ.ค. 2558 หมู่บ้านได้พยายามจัดการประชุมฯ แต่ปรากฏว่าฝ่ายกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี ทำการขัดขวางการจัดประชุมฯ จนต้องเลื่อนการประชุมฯ มาเรื่อยๆ
ยืนยันหลักการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาใดก็ตามต้องจัดทำภายในชุมชนที่มีส่วนได้เสียจากโครงการเท่านั้น
ดังนั้น ทางคณะผู้ใหญ่บ้านซึ่งมีหน้าที่จัดการประชุมฯ ตามหมู่บ้านต่างๆ ได้ทำหนังสือชี้แจงถึงสาเหตุที่หมู่บ้านไม่สามารถจัดการประชุมฯได้ถึงทางจังหวัด เพื่อขอความร่วมมือในการจัดหาพื้นที่ทหาร เพื่อจัดการประชุมฯ ดังกล่าว

นายวรวุฒิ หิรัญำพศาลสกุล ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอพีพีซี จำกัด กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นขั้นตอนหนึ่งในการขอประทานบัตรของโครงการ โดยหน่วยงานและผู้ขอประทานบัตร ต้องมาทำการชี้แจงขั้นตอนต่างๆ ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียฟัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งเช่นกันที่จะให้กระทรวงอุตสาหกรรมทำการพิจารณาต่อไป ไม่ได้เป็นขั้นตอนจองการอนุมัติ หรือไม่อนุมัติตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ

ทั้งนี้ หลังจากนี้แล้วทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมีหน้าที่จะต้องทำการรวบรวมข้อมูลทั้งหลาย ทั้งมวลนี้ไปเสนอต่อกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งทางกระทรวงฯก็จะต้องพิจารณาว่าทางจังหวัด พื้นที่ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดเอาไว้หมดสิ้นกระบวนการแล้วหรือยัง จากนั้นกระทรวงฯก็จะให้จังหวัดดำเนินการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นทั้งจังหวัดอีกครั้ง

นายวรวุฒฺกล่าวอีกว่า สำหรับการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หริ EIA ของโครงการนั้น ขณะเสร็จเรียบร้อยหมดแล้วเมื่อประมาณ 2 ปีแล้ว ทั้งนี้ทางบริษัทฯได้ตั้งกองทุนให้กับผู้มีส่วนได้เสีย มาทำการจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ ที่ไม่ได้มีส่วนได่เสียกับโครงการ มาทำการอ่านรายละเอียดของ EIA ดังกล่าว เพราะเกรงว่าประชาชนจะไม่สามารถทำความเข้าใจซึ่งก็ได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อปลายปีที่แล้ว

ส่วนหนึ่งทางบริษัทและบริษัทที่ปรึกษาก็ได้นำเอาเล่ม EIA ดังกล่าวไปไว้ที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านทุกแห่งในพื้นที่โครงการ ประชาชนผู้ใดที่สงสัยหรือมีความต้องการจะอ่านก็สามารถไปขออ่านได้ที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านทุกแห่ง

ผู้สื่อข่าวรายเพิ่มเติมว่า ระหว่างการจัดประชุมอยู่นั้น ทางด้านบริเวณหน้าค่าย กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี ประมาณ 200 คน นำโดยนางมณี บุญรอด ได้พาสมาชิกมารอยื่นหนังสือคัดค้านการจัดการประชุมฯ ในพื้นที่ทหาร โดยมีนายกฤษณ์ชานนท์ อุทัยเลี้ยง หน.ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุดรธานี เป็นผู้รับหนังสือแทน ท่ามกลางการักษาความปลอดภัยของทหาร ตำรวจ และอส.กว่า 200 นาย

ทั้งนี้ หนังสือร้องเรียนชี้แจงว่า การจัดประชุมครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เป็นไปตามเจตนารมณ์การมีส่วนร่วมตามวิธีปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากมีการทำกันในค่ายทหาร อีกทั้งจุดที่จัดการประชุมห่างจากหมู่บ้านมากกว่า 10 กิโลเมตรจึงเป็นอุปสรรคต่อผู้ร่วมประชุม จึงทำให้ชาวบ้านอีกหลายคนไม่สามารถเดินทางเข้าประชุมได้ ส่งผลให้การประชุมเป็นไปอย่างไม่ครอบคลุม

ภายหลังจากรับหนังสือแล้วเสร็จ พ.ท.สุภัทร ชูตินันทน์ ผบ.ร.13 พัน.2 กล่าวว่า ชี้แจงต่อกลุ่มอนุรักษ์ว่า การประชุมครั้งนี้ไม่ได้เป็นการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นแต่อย่างใด เป็นเพียงการประชุมเพื่อชี้แจงการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปรแตช จังหวัดอุดรธานีเท่านั้น ขอยืนยันว่า “ความยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”
กำลังโหลดความคิดเห็น