ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กอ.รมน.เสนอแนวทางดับไฟใต้ เตรียมปรับโครงสร้าง ศอ.บต. ให้เล็กลงก่อนยุบทิ้ง หวั่นทำงานซ้ำซ้อน รับต้องฟังความเห็น ปชช.เหตุมีต้นทุนสูงต่อผู้คนในพื้นที่
วันนี้ (18 ส.ค.) ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา ได้มีการประชุมคณะที่ปรึกษาการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ครั้งที่ 7 โดยมี นายวิสุทธ์ สิงห์ขจรวรกุล อดีต ผอ.ศอ.บต. ทำหน้าที่เป็นประธาน มีคณะที่ปรึกษา และหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมประชุม จำนวน 20 คน
โดยในการประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องจาก กอ.รมน.ได้เสนอให้มีการปรับโครงสร้าง ศอ.บต.กับ พ.ร.บ.ศอ.บต.เสียใหม่ ซึ่งมีสาระสำคัญตามที่ กอ.รมน.ได้เสนอไว้ เช่น ปรับโครงสร้าง ศอ.บต.ให้ขึ้นตรงต่อ กอ.รมน. ปรับตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. โดยให้ลดระดับตามความเหมาะสมหรืออาจไม่กำหนดระดับ ยุบเลิกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ให้เป็นอำนาจของ กอ.รมน. ให้สภาความมั่นคงจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
เสนอต่อ ครม. ให้ กอ.รมน.รับผิดชอบในการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแต่เดิมเป็นหน้าที่ของ ศอ.บต. ให้ ศอ.บต. มีหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้คงมีสภาที่ปรึกษาการบริการและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.)โดยให้มีการทบทวนบทบาท โครงสร้าง อำนาจหน้าที่บางประเด็นให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของ พ.ร.บ.ศอ.บต.ที่มีการทับซ้อนกับ พ.ร.บ.ความมั่นคง กอ.รมน. เสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ. ของ ศอ.บต. ทุกมาตราที่มีลักษณะของการทำซ้อนกัน หรือมีอำนาจหน้าที่ที่เหมือนกัน เช่น การเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ให้มีหน้าที่ในการกำกับ เร่งรัด ติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐฝ่ายพลเรือน และอำนาจหน้าที่ในการสั่งย้ายข้าราชการที่ได้ประพฤติปฏิบัติที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่ง กอ.รมน.เห็นว่า มีอยู่ใน พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ.2551 แล้ว ซึ่งในการปรับโครงสร้างครั้งนี้ กอ.รมน. ได้มีแผนระยะยาวคือการพิจารณายุบ หรือปรับปรุงเพื่อมิให้ พ.ร.บ.ศอ.บต. ทับซ้อนต่อภารกิจของ กอ.รมน.
ซึ่งคณะที่ปรึกษาได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางถึงการปรับโครงสร้าง ศอ.บต.เพื่อให้เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ กอ.รมน. หรือการยุบ ศอ.บต. ที่เสนอโดย กอ.รมน.ในครั้งนี้ โดย นายบุญสิทธิ์ สุวรรณรัตน์ อดีตผู้ว่าฯ จ.ยะลา เสนอให้ยุบ ศอ.บต. หาก กอ.รมน. เห็นว่าเป็นหน่วยงานที่ทับซ้อน และเมื่อ กอ.รมน. เชื่อมั่นว่าสามารถที่จะรับผิดชอบในภารกิจที่ ศอ.บต.ทำอยู่ได้ก็ไม่ควรที่จะมี ศอ.บต.อีกต่อไป
ในขณะที่ นายอาซิส เบ็ญหาวัน อดีตประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายพิชัย เรืองเริงกุลฤทธิ์ นายกพุทธสมาคม จ.ยะลา และอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ยังเห็นว่า ศอ.บต. ยังต้องทำหน้าที่ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ต้องการให้มีความชัดเจนของอำนาจหน้าที่ของ ศอ.บต. เพื่อที่จะไม่มีการทับซ้อนกับภารกิจของ กอ.รมน. เพื่อให้ ศอ.บต.ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เพราะประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังต้องการให้มี ศอ.บต. และเห็นว่า ศอ.บต. เป็นหน่วยงานที่มีต้นทุนทางสังคมสูง
ส่วนในเรื่องของสภาที่ปรึกษาฯ เมื่อ กอ.รมน. เห็นว่ามีประโยชน์ และควรจะมีต่อไป โดยให้มีการทบทวนอำนาจหน้าที่ เพื่อให้มีความชัดเจนว่า กรอบของการเป็นสภาที่ปรึกษาฯ ทำหน้าที่ให้การปรึกษาในเรื่องใดบ้าง และมีขอบเขตแค่ไหน เพราะสภาที่ปรึกษา คือ ตัวแทนของประชาชนที่แต่ละสาขาอาชีพเป็นผู้เลือกตั้งมา ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในปัญหาของพื้นที่และปัญหาของผู้คน ไม่เหมือนกับสภาที่ปรึกษาฯ ที่มีการสรรหาจากผู้มีอำนาจ
ในขณะที่ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ได้กล่าวว่า ในอดีต ศอ.บต. ก็เคยเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อ กอ.รมน.มาแล้ว เมื่อครั้งที่ ศอ.บต.ถูกยุบ และตั้งขึ้นมาใหญ่ในครั้งที่ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีสภาเสริมสร้างสันติสุข ทำหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษา มีข้าราชการระดับ 10 เป็น ผอ.ศอ.บต. ซึ่งข้าราชการใน ศอ.บต. และอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาหลายคน ที่เคยเป็นที่ปรึกษา สภาเสริมสร้างสันติสุขมาแล้ว ควรจะทราบดีว่าในยุคที่ ศอ.บต. เปรียบเสมือนนิ้วที่ 11 ขึ้นตรงต่อ กอ.รมน. นั้นทำอะไรได้บ้าง และประชาชนได้ประโยชน์จากการดำรงอยู่ของ ศอ.บต. หรือไม่
เมื่อต้องกลับไปสู่อดีตคือ การขึ้นตรงต่อ กอ.รมน.อีกครั้ง ก็ไม่ใช่ของแปลก เพราะเคยอยู่ในสภาพนี้มาแล้ว ถ้าเห็นว่าการถูกปรับให้ไปขึ้นต่อ กอ.รมน.อีกครั้ง และยังทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง และประชาชนได้บ้างก็ต้องยอมรับที่จะถูกปรับให้เล็กลง และขึ้นตรงต่อ กอ.รมน. แต่ถ้าเห็นว่าเมื่อถูกปรับให้เล็กลง และไม่มีประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็น่าจะยุบ ศอ.บต. และยกภาระหน้าที่ทั้งหมดให้แก่ กอ.รมน. เพื่อที่จะได้ไม่มีการทับซ้อนกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะให้ กอ.รมน.ถามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ด้วย เนื่องจาก ศอ.บต. เป็นหน่วยงานที่มีต้นทุนทางสังคมสูงต่อความรู้สึกของคนในพื้นที่
ในขณะที่ข้าราชการของ ศอ.บต.เองนั้น หลังจากที่ทราบว่าอาจจะต้องมีการปรับให้เล็กลง และอาจจะมีการยุบสำนักต่างๆ หลายสำนัก ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่การทำงาน จึงมีความรู้สึกหวั่นไหว ไม่มั่นใจต่ออนาคตของตนเอง และต้องการที่จะได้คำตอบว่า สุดท้ายแล้ว ศอ.บต. จะเป็นอยู่ในรูปแบบไหน
สุดท้าย นายวิสุทธิ์ สิงห์ขจรวรกุล ประธานที่ประชุมได้สรุปให้ผู้รับผิดชอบ ศอ.บต. ทำการปรับแผนการปฏิบัติหน้าที่ของ ศอ.บต. ตามที่ กอ.รมน. เป็นผู้เสนอ รวมทั้ง พ.ร.บ.ศอ.บต. ในมาตราต่างๆ ที่ กอ.รมน. ชี้ว่า มีการทับซ้อนภารกิจของ พ.ร.บ.ความมั่นคง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และนำเข้ามาเพื่อให้คณะที่ปรึกษาฯ ได้พิจารณาอีกครั้ง