xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยสู่หายนะ (3)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

ท่านผู้อ่านครับ บทความที่เป็นซีรีย์นี้มาถึงบทเกือบจะสุดท้ายแล้วนะครับ และเรื่องที่ผมจะเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบต่อไปนี้คือเรื่องที่การบินไทยมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเป็นงบประมาณรายจ่ายที่สูงมากครับ และมีมากมายประมาณ 21 โครงการครับ

ท่านผู้อ่านก็คงสงสัยเหมือนกระผมว่าจ้างอะไรมากมายถึงเพียงนั้น ผมจะบอกให้ครับว่ามีโครงการใหญ่ๆ ที่มีเงื่อนงำ เช่น โครงการหนึ่งมีงบจ้างเกือบ 300 ล้าน ที่ว่า “เกือบ” ก็เพราะว่าถ้าถึง 300 ล้านเมื่อไรก็ต้องให้บอร์ดอนุมัติ ถ้าไม่ถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็อนุมัติได้เลย

โครงการจ้างที่ปรึกษา 21 โครงการที่ว่านี้มีมูลค่าใช้จ่ายงบประมาณ 500 ล้านบาท แต่โครงการส่วนใหญ่นะครับจะเป็นโครงการค่อนข้างเล็ก และก็มีการว่าจ้างซ้ำซ้อนไม่เกิดประโยชน์

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยกับผมแล้วว่าไอ้ 21 โครงการนั้นการบินไทยมีโครงการมากเกินไป และผมอยากเรียนให้ทราบว่าโครงการจำนวนมากไม่คุ้มค่าจ้างที่ปรึกษา ที่สำคัญก็คือไม่มีผู้ติดตามหรือมาตรวจสอบด้วยครับ

ที่น่าตกใจก็คือการว่าจ้างของการบินไทยนั้นเป็นการกระทำแบบ “ตกลงราคากันเอง”

ถูกแล้วครับ... บางทีไม่มีการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาด้วยซ้ำ ไม่รู้ใครแนะนำเอาเข้ามา หรือบริษัทที่ปรึกษาวิ่งเต้นเข้ามาเองบ้างหรือไม่

การตกลงราคากันเองนี้หมายความว่าโครงการเหล่านี้คือ 21 โครงการ ไม่มีการ Bid หรือไม่มีการประมูลนั่นเองแหละครับ

มันผิดสังเกตและไม่ถูกต้องใช้ไหมครับท่านผู้อ่าน

อีกอย่างที่ว่างบประมาณ 500 ล้านบาทสำหรับว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษานั้น ตัวเลขไม่ได้หยุดแค่นี้นะครับ

เพราะบางโครงการเช่นโครงการให้ที่ปรึกษาไปปรับปรุงบริการของชั้นธุรกิจด้วยงบประมาณ 20 ล้านบาทนั้น

ท่านผู้อ่านคิดว่า 20 ล้านบาท น้อยใช่ไหมครับ

20 ล้านมันแค่การออกแบบถ้วยชาม ผ้าปูโต๊ะ ของจิปาถะเล็กๆ น้อยๆ เช่น พวกมีด ซ่อม ผ้าห่ม เหล่านี้เท่านั้นแหละ

แต่อุปกรณ์การให้บริการประเภท Hardware อีกล่ะ ในรายการเหล่านี้จะมีรายจ่ายตามมาอีก 800 - 1,000 ล้านบาท

เห็นได้ว่ามีการหมกเม็ดไม่ใช่แค่ที่ปรึกษา 500 ล้านบาท แต่ยังมีเม็ดเงินให้ที่ปรึกษาไปใช้เล่นอีกมาก

ผมอยากเรียนท่านผู้อ่านในชั้นแรกนี้ก่อนเพื่อไม่ให้ตกใจว่าที่ปรึกษาไม่ใช่แค่แนะนำเท่านั้น แต่ยังมีอำนาจในการบอกให้การบินไทยลงทุนไปดำเนินงานในเรื่องใหญ่ๆ ที่นอกจากจะไม่เกิดรายได้แล้ว ยังทำให้การบินไทยเจ๊งในโครงการใหญ่ๆ มาแล้วด้วยครับท่านผู้อ่าน

เอาล่ะครับ คราวนี้ท่านผู้อ่านคงคิดใช่ไหมครับว่าบริษัทที่มาเป็นที่ปรึกษาให้การบินไทยนั้น คงมีชื่อเสียงใหญ่โตน่าเชื่อถือใช่ไหมครับ

ถูกและไม่ถูกเสมอไปครับ ที่ว่าถูกนั้นบางทีบริษัทใหญ่ระดับโลก มีพนักงานเป็นแสน แต่ก็มีประวัติที่เคยโดนฟ้องร้องมาแล้ว บางบริษัทมี Profile ที่ไม่เชี่ยวชาญที่จะให้ที่ปรึกษากับการบินไทยได้จริง บางบริษัทก็เป็นบริษัทเล็กๆ ดำเนินการไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไร

เอาละมาดูกัน

บริษัทที่ปรึกษาการบริการจัดการระดับโลกแห่งหนึ่ง ที่ใน Profile ของบริษัทบอกว่าเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และมีประสบการณ์อื่นอีกหลายด้าน

คราวนี้มาถึง Profile สำคัญคืออุตสาหกรรมที่บริษัทดังกล่าวบอกว่าเขามีความถนัดคือการขนส่งและลอจิสติก แต่เป็น Surface คือเขาถนัดด้านขนส่งทางบกเท่านั้น ไม่ใช่การขนส่งสินค้าทางอากาศ

ผมเห็นว่า บริษัทนี้ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญหรือถนัดในการขนส่งสินค้าทางอากาศ จึงเข้าใจได้ว่าขาดความรู้และประสบการณ์ด้านนี้แน่

แต่ในการประชุมบอร์ดการบินไทย ครั้งที่ 3/2554 วันที่ 25 ก.พ. 2554 และครั้งที่ 5/2554 และครั้งที่ 10/2554 วันที่ 9 สิงหาคม 2554

คราวนี้อ่านให้ดีๆ นะครับ

บริษัทที่ปรึกษาที่ว่าและคณะทำงานเป็นฝ่ายเสนอให้มีการดัดแปลงเครื่องบินขนส่งสินค้าโบอิ้ง 747-400 F 2 ลำ โดยคาดการณ์เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2554 ว่าจะมีผลตอบแทนโครงการที่ NPV 1,025 ล้านบาท มี IRR อยู่ที่ 12.7% และจะใช้ระยะเวลาคืนทุน 4 ปี

ฟังดูดีใช่ไหมครับท่านผู้อ่าน

บอร์ดน่ะยิ้มแฉ่งเลย มองเห็นกำไรอยู่รำไร

นอกจากเรื่องคืนทุนแล้วมาดูค่าใช้จ่ายบ้าง

1. ค่าเครื่องบินสองลำ คือ 16.9 ล้านเหรียญต่อลำหรือ 33.8 ล้านเหรียญ สำหรับสองลำ (1,014 ล้านบาท)

2. ค่าดัดแปลงเครื่องบิน 2 ลำ 49.6 ล้านเหรียญ (1,488 ล้านบาท)

3. ค่าจัดหาพัสดุอุปกรณ์เครื่องบิน 2 ลำ 7.414 ล้านเหรียญ (225.979 ล้านบาท)

รวมค่าใช้จ่าย 2,727.979 ล้านบาท

ท่านผู้อ่านครับ หลังจากบริษัทที่ปรึกษาแนะนำว่าเราจะคืนทุน 4 ปี แต่ครั้นบินจริงๆ ไม่ถึง 2 ปี คือ เมษายน - ธันวาคม 2556 เท่านั้นพบว่าผลประกอบการในช่วงดังกล่าวขาดทุนอยู่ถึง 572 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามที่คณะทำงานและบริษัทที่ปรึกษาคาดการณ์ไว้ ดังนั้นบอร์ดที่ประชุมครั้งที่ 2/2557 วันที่ 12 ก.พ. 2557 มีมติให้ปลดเครื่องบินขนส่งสินค้าทั้งสองลำเพื่อรอทำการขาย และสุดท้ายได้หยุดบินจริงเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2558

ครับ ข้อมูลมีว่า เครื่องบินขนส่งสินค้าที่ว่านั้นปลดระวางปีไหนแน่ เมื่อบอร์ดให้ปลดระวางเครื่องบินตามมติเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2557 แต่หยุดบินจริงเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2558 ดังนั้นถ้าบินถึงปี 2558 จริง ก็น่าจะขาดทุนมากกว่า 572 ล้านบาท สรุปได้ว่ารวมค่าใช้จ่ายค่าดัดแปลง ค่าดำเนินการทั้งหมดเท่าไร

ครับท่านผู้อ่าน ผมรวมเอาเอง แค่บินไม่ถึง 2 ปี ขาดทุนไป 3,300 ล้านบาท (รวมค่าใช้จ่ายดัดแปลง)

ผมบอกแล้วว่า บริษัทดังกล่าวนี้ก็เขียนใน Profile แล้วว่าไม่มีประสบการณ์หรือถนัดเรื่องขนส่งทางอากาศ มันเก่งเฉพาะทางบก ไปเชื่อมันเองก็ซวยเสียเงินไปเอง

เรื่องบริษัทที่ปรึกษานี้เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อเครื่องบินบินปลดระวางและรอการขายแล้วจะขายได้หรือไม่ก็เป็นปัญหา เพราะเครื่องบินขนส่งสินค้าทั่วไปเป็นที่นิยมในตลาดนั้นนะครับ จะเป็นเครื่องบินที่เปิดหัวได้ครับ ไม่ใช่เป็นประตูที่ลำตัวแบบที่การบินไทยดัดแปลง ดังนั้นคงขายไปได้ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดมาก

สืบเนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ทางการบินไทย โดยเฉพาะบอร์ดนี่แหละที่ต้องเปิดเผยข้อมูลการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ ตั้งแต่บริษัทนี้เข้ามาจนถึงปัจจุบันว่าได้รับค่าจ้างที่ปรึกษารวมแล้วเท่าไร แล้วมีโครงการอะไรบ้าง

กรณีโครงการดัดแปลงเครื่องบินขนส่งสินค้าดังกล่าวนั้น ทางบริษัทการบินไทยสามารถเรียกค่าเสียหายเอาจากบริษัทที่ปรึกษาได้หรือไม่ เพราะที่ปรึกษาเป็นผู้ระบุว่าจะมีรายได้และผลตอบแทนเท่าไรในระยะเวลาเท่าใด รวมทั้งจะคืนทุนในเวลา 4 ปีด้วย เท่ากับเป็นการคาดการณ์และเป็นการผูกมัดในส่วนการทำงานของบริษัทที่ปรึกษาไม่ใช่หรือ

ถ้าเป็นในต่างประเทศเขาเรียกค่าเสียหายหลายล้านบาทแล้วครับ

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นเหมือนผมอีกละครับว่า นอกจากบริษัทที่ปรึกษาแล้ว ควรจะมีบอร์ดของบริษัทการบินไทยปี 2554 เข้ามารับความรับผิดชอบแทนค่าเสียหายนี้ด้วย ทั้งนี้ก็เพราะเป็นการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของบริษัท และผู้ถือหุ้น

สำหรับซีรีย์ที่ 3 นี้คงมีเท่านี้แหละครับ สำหรับซีรีย์ต่อไปจะมีที่ปรึกษาอีก 2-3 บริษัท ขอบอกพอเรียกน้ำย่อย หนึ่งบริษัทคือบริษัทที่บอร์ดเพิ่งสั่งมิให้มีข้อมูลของบริษัทที่ว่านี้รั่วไหลออกมาภายนอก ซึ่งบริษัทนี้มีประวัติจ่ายค่าคอมมิชชันจนต้องเสียชื่อเสียงทั้งในอเมริกาและในอังกฤษมาแล้ว

อีกบริษัทหนึ่งใหญ่ระดับโลก มีพนักงานหลายพันคนทั่วโลกแต่ก็เคยมีคนของบริษัทรับเงินนับล้านเหรียญและซื้อหุ้นในลอนดอนไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นยังรังแกบริษัทที่ปรึกษาเล็กๆ ที่อิตาลี จนเขาฟ้องร้อง และชนะคดีในสหรัฐฯ มาแล้ว

บริษัทสุดท้ายนี่เล็กครับมารับงานได้ไง ใครสั่งให้มาที่การบินไทย มีประสบการณ์กับสองสายการบินเท่านั้น บริษัทนี้มีพนักงานแค่ 10 คน แต่ก็จะออกแบบเป็นภาพลักษณ์ใหม่โดยจะทิ้งความเป็นไทยเสียหมด

ท่านผู้อ่านครับ ซีรีย์ที่ 4 น่าจะเป็นที่น่าสนใจ

ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้การบินไทยสามารถบินอวดธงชาติไทยอย่างมีศักดิ์ศรีในวงการบินโลกได้อีกครั้งครับ (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น