xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” แทนคุณแผ่นดินยอมนั่งประธาน กรธ. คุย คสช.วาง 5 ประการ ชี้ไม่มาประชามติเป็นโมฆบุรุษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ว่าที่ประธาน กรธ.เผย “ประยุทธ์” ย้ำจำเป็นอย่างมากต้องตั้งตนนั่ง ปธ.กรธ. ลั่นฐานะคนไทยเอาแต่สบายไม่ได้จึงตกปากรับตอบแทนคุณแผ่นดิน ถึงงานไม่ง่าย ย้ำร่าง รธน.เป็นตัวของตัวเองไม่ได้ เพราะใช้กับคนทั้งชาติ คุย คสช.สรุป 5 ประการ รธน.สากลต้องยอมรับ ปรองดอง กันใช้เงินล่อ ขจัดโกง สร้างกลไก ปชช.ป้องกัน เผย รบ.ยอมให้แทรกชื่อ ตอบไม่ได้ยึดตามร่างเก่าหรือไม่ ยันร่างทันแน่ ชี้ไม่มาประชามติถือเป็นโมฆบุรุษ

วันนี้ (5 ต.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงถึงการรับตำแหน่งประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า มีคนถามมากและสงสัยว่าตนจะรับหรือไม่รับด้วยเหตุผลอะไร เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมานายกฯ ได้เชิญตนไปพบและบอกอยากชวนมาทำงานในฐานะเป็นกรรมการ กรธ. ตนเรียนถามนายกฯ ว่ามันมีความจำเป็นขนาดไหนที่จะต้องให้ตนมาทำ ท่านตอบว่ามีความจำเป็นอย่างมากไม่อาจเลี่ยงเลี่ยงได้ ในฐานะนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดและเป็นผู้ที่เสี่ยงเข้ามาเพื่อตั้งใจแก้ปัญหาของบ้านเมืองให้ลุล่วงไป ยืนยันว่ามันมีความจำเป็น ตนก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปซักไซ้ให้มากไปกว่านี้ ก็ต้องเชื่อดุลพินิจของท่าน

“ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือตามกำลังความสามารถ ผมจึงไม่อาจจะเห็นแก่ความสุขความสบายที่ชักจะเริ่มเคยตัว และไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิเสธได้ มิฉะนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รู้จักทดแทนบุญคุณของแผ่นดิน ก็รู้อยู่ว่างานครั้งนี้ไม่ใช่ง่าย และคงมีอุปสรรคไม่น้อย แต่เมื่อนึกว่าทุกคนก็ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือในการทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ผมก็ต้องอดทน และก็ทำ และตั้งใจทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะได้”

นายมีชัยกล่าวว่า เหตุที่ต้องรอถึงวันนี้ถึงจะเปิดเผยเพราะมีขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 57 กำหนด ซึ่งผู้ที่จะแต่งตั้ง คือ คสช. ดังนั้น ต้องรอ คสช. ท่านนายกฯ ก็ดีทำตามพิธีการเมื่อประชุม คสช.ก็ถามอีกครั้งหนึ่งว่า “ผมรับได้ไหม” ตนก็ต้องเรียนกับท่านว่า “ตกลงรับได้”

นายมีชัยกล่าวอีกว่า ปัญหาที่ 2 ที่คนมักจะสงสัยคาดเดากันไปต่างๆนานาว่า ในที่สุด “ผมก็คงไม่เป็นตัวของตัวเอง แล้วก็คงต้องร่างไปตามที่มีผู้สั่ง” เรื่องนี้ต้องเรียนตามตรงว่า “ในการร่างรัฐธรรมนูญมันไม่มีใครร่างตามใจปรารถนาของตัวเองได้ อย่างที่เรียกว่าเป็นตัวของตัวเอง เพราะไม่ได้ร่างเก็บไว้ใช้ในบ้าน แต่เป็นการร่างเพื่อนำไปใช้กับคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นจะต้องมีกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ คือ กรอบที่กำหนดไว้ตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 บังคับอยู่ว่า คณะกรรมการ กรธ.จะต้องร่างให้เป็นไปตามนั้น ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ กรอบที่ 2 คือ คสช.ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ และภารกิจที่สำคัญ คือต้องทำให้มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎกติกาของบ้านเมือง ตนก็ต้องถามไถ่ว่า แล้ว คสช.มีกรอบหรือมีความคิดอย่างไร ซึ่งเมื่อคุยกันแล้วสรุปได้ 5 ประการ

ประการที่ 1 ให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับนับถือของสากล แต่ขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับสภาพปัญหา ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประเทศและคนไทยที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ ประการที่ 2 ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูปและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้ ประการที่ 3 ให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้การเมืองใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้วง โดยใช้เงินแผ่นดินไปอ่อยเหยื่อกับประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรม โดยมิได้มุ่งหมายให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขในระยะยาว จนเกิดความเสียหายแก่ประเทศอย่างร้ายแรง และเกิดวิกฤตที่หาทางออกไม่ได้ ประการที่ 4 มีแนวทางการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างได้ผล ประการที่ 5 ให้สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในอันที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และร่วมกันรับรู้และรับผิดชอบต่อความเจริญและการพัฒนาประเทศและสังคมโดยรวม

สำหรับการคัดเลือกกรรมการ กรธ.ทั้ง 20 คน รัฐบาลและ คสช.ได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือก แล้วให้ตนดู ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาอะไร มีเพียงตนคิดว่าน่ามีคนอื่นเข้ามาแซมเพื่อให้ครบถ้วนทุกองค์ประกอบ ซึ่งทาง คสช.และรัฐบาลก็ไม่ได้ขัดข้อง ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ แต่อย่าถามว่าใคร เพราะจะกระทบกระเทือนกับคนอื่นที่ออกไป ซึ่งไม่ใช่เพราะเขาไม่ดี แต่องค์ประกอบจะซ้ำๆกันเกินไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะนำร่างเดิมมาพิจารณาหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า คงต้องไปหารือกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้งหมดก่อน เพราะถ้าตนตัดสินใจไปก่อนก็จะเป็นการผูกมัด ซึ่งกรรมการร่างฯ แต่ละท่านก็คงจะมีแนวคิดของตัวเองอยู่ ทั้งนี้ตนจะนัดประชุม กรธ.ครั้งแรกในวันที่ 6 ต.ค.เลย เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา และคงจะมีการประชุมกันทุกวัน เนื่องจากระยะเวลามันสั้นมาก และไม่ใช่แค่คิดและร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย เมื่อถามว่าจะร่างตามกำหนดเวลา 180 วันหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ความจริงต้องร่างให้เสร็จก่อน 180 วัน เพราะจะต้องส่งให้เขาดูและรับฟังความคิดเห็นด้วย

นายมีชัยกล่าวด้วยว่า สำหรับความเห็นที่แตกต่างในบางประเด็น ที่เคยมีการถกเถียงกัน โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) นั้น ทาง กรธ.คงจะมีการระดมความเห็นและทำเป็นตุ๊กตาขึ้นมาก่อนจากนั้นจึงจะหาหนทางที่จะไปรับฟังว่าคนอื่นเขาคิดกันอย่างไร แล้วมาหารือใน กรธ.

“การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผมคิดว่าการทำประชามติก็ยังคงต้องมี เพราะเมื่อ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว มันไม่มีองค์กรใดมารองรับ ไม่เหมือนครั้งที่แล้ว เขายังมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โหวตว่าจะรับหรือไม่รับ แต่ 21 คนปัจจุบันนี้ตัดหางปล่อยวัดเลย และถ้าขืนเอามาใช้เลยก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น ผมคิดว่าการทำประชามติยังเป็นของจำเป็นเพื่อที่จะทำให้ประชาชนได้รับรู้เพราะต่อไปนี้รัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งปวงจะต้องปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัด และการที่จะให้คนปฏิบัติตามได้นั้นก็ต้องสร้างความรับรู้ และคนส่วนใหญ่ก็ต้องเห็นดีเห็นงามด้วยถึงจะทำได้ และการทำประชามตินั้น คงต้องใช้คะแนนของคนที่มาออกเสียงเป็นเกณฑ์ ใครที่ไม่มาออกเสียงก็ถือว่าสละสิทธิ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่คนที่ไม่มาออกเสียงหรือไม่กล้าออกเสียง ผมเรียกว่าโมฆบุรุษ คือไม่มาใช้สิทธิเฉยๆ” นายมีชัยกล่าว

เมื่อถามว่าคิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะมีข้อแตกต่างจากของเดิมอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของแรงกดดันต่าง ๆ นายมีชัย กล่าวว่า แนวคิดของประชาชนเปลี่ยนไปมาก ช่องทางการสื่อสารของประชาชนก็เปลี่ยนไปมาก ซึ่งความคิดต่าง ๆ อาจจะหลั่งใหลมาในหลายรูปแบบ ดังนั้นการที่จะร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกใจคนทุกคนนั้นคงยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าในการร่างรัฐธรรมนูญคือทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าไปได้และพอรับกันได้ในทุกฝ่าย

ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ว่า อาจจะมีคนมองว่าท่านเป็นคนรุ่นเก่า แต่แนวทางใหม่นี้ท่านอาจจะไปได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า “ผมเป็นคนรุ่นเก่าที่ค่อนข้างทันสมัย เพราะผมใช้เว็บไซต์มาตั้งแต่พวกคุณยังไม่ใช้กันด้วยซ้ำ ผมว่าคนรุ่นไหนไม่สำคัญหรอก สำคัญที่ว่าคุณเปิดใจกว้างรับฟังคนอื่นหรือไม่ คนบางคนดูเหมือนรุ่นใหม่ ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตย แต่ใครมีความเห็นแย้งหน่อยจะถูกด่าเสียคนเลย แต่ผมไม่เป็นอย่างนั้น ใครจะบอกอะไรก็ได้ ผมก็เอากลับไปคิด ถ้าดีก็เอาไปทำ แต่ถ้าไม่ดี มีช่วงโหว่ช่องว่าง การฟังคนอื่นเสนอแนะไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหาย เป็นเรื่องดี การพูดมากๆ เสียอีกที่ไม่ดี” นายมีชัยกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น