นักกฎหมายมหาชน ชี้ กระบวนการพิจารณาปลด ปธ. ศาลปกครองสูงสุด เสี่ยงขัดต่อหลักการคุ้มครองความเป็นอิสระของตุลาการ โดยเฉพาะการไม่ถือตามมติคณะกรรมการสอบสวนเสียงข้างมาก จี้ ก.ศป. แจงต่อสาธารณะให้กระจ่าง เหตุหวั่นสร้างความไม่มั่นใจของให้สังคมต่อหลักประกันความยุติธรรม ด้าน “หัสวุฒิ” ยันใช้ช่องทาง กม. สู้ถึงที่สุดเพื่อคงหลักใช้ กม. ปกครองบ้านเมือง แต่จะไม่ฟ้องคดีศาลปกครอง เหตุเท่ากับยื่นมีดให้เชือดคอตัวเอง ย้ำ ระบุ ก.ศป. ใช้อำนาจนอกกฎหมาย แฉกำลังถูกเล่นงานละเมิดศาล ท้าสั่งขังได้หากลุแก่อำนาจ
วันนี้ (30 ก.ย.) ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เครือข่ายยุติธรรมภาคประชาชนและข้าราชการได้จัดสัมมนาหัวข้อ “ปลดประธานศาลปกครองสูงสุด ประเด็นร้อนระบบกฎหมายมหาชนของไทย” มีวิทยากรนำอภิปราย ประกอบด้วย นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พ.ต.ท.หญิง ธิฌารัตน์ ณรงค์วิทย์ ที่ปรึกษาสมาพันธ์สหภาพข้าราชการ พลตรีหญิง พูลศรี เปาวรัตน์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ และ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด
นายกิตติศักดิ์ ตั้งคำถามว่า อำนาจหน้าที่ของ ก.ศป. ในการปลดประธานศาลปกครองสูงสุดนั้น ให้ความคุ้มครองต่อหลักความเป็นอิสระของตุลาการศาลปกครองหรือไม่ เพราะกระทบต่อตุลาการศาลปกครองรายอื่น ๆ หากถูกกล่าวหาได้ เช่น หากคณะกรรมการสอบสวนเสียงข้างมาก เห็นว่า ไม่ผิด แต่ ก.ศป. เสียงข้างมากสั่งให้เอาผิดได้ มันชอบด้วยหลักเกณฑ์ทางกฎหมายหรือไม่ อีกปัญหาคือ เมื่อ ก.ศป. พิจารณาว่ามีมูลจะสั่งพักราชการทันที ทำให้ตุลาการคนนั้นจะไม่สามารถพิจารณาคดีหรือไม่ หากไม่มีหลักการที่ชัดเจนจะกระทบต่อความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีสำคัญทันที
“หากตุลาการบางท่านถูกถ่ายภาพว่าใกล้ชิดสตรีบางคน หรือมีผู้เอากระเช้าดอกไม้มามอบโดยซ่อนธนบัตรไว้ข้างใต้ หากมีการอ้างว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือรับสินบนก็จะกลายเป็นเหตุถูกสงสัยแล้วถูกสั่งให้พักราชการได้ทันที ทั้งที่ยังไม่แน่ชัดว่ามีส่วนรู้เห็นในการเรียกรับสินบนหรือไม่ ก็จะทำให้ตุลาการผู้นั้นถูกสลัดพ้นจากการพิจารณาคดีทันที ซึ่งถือว่ากรณีลักษณะนี้ทำให้เกิดการนำมากลั่นแกล้งกันได้” นายกิตติศักดิ์ กล่าว
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าที่โครงสร้างกรรมการ ก.ศป. มี 13 คน แต่เหลือผู้ที่ลงมติกรณีให้ประธานศาลปกครองสูงสุด ออกจากราชการเพียง 6 คน เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่นั้น นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่าปัญหาองค์ประชุมเคยเป็นวิกฤตตุลาการสมัยปี 2534 มาแล้ว โดยหลักผู้มาประชุมต้องมาเกินกึ่งหนึ่ง และหากผู้มาประชุมมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนได้เสียก็ต้องงดการเข้าร่วมประชุม แต่กรณีของ ก.ศป. ไม่มีการกำหนดองค์ประชุมเฉพาะ ซึ่งก็ต้องถือตามหลักปฏิบัติทั่วไป โดยมติเสียงให้ออกจากราชการ เป็น 6 ใน 7 เสียงของผู้ที่ร่วมประชุม ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นเสียงข้างมาก โดยตนก็ไม่ได้ติดใจในประเด็นนี้ แต่เห็นว่า ประเด็นสำคัญของกรณีที่เกิดขึ้น อยู่ที่ตรงที่การมีมติ และเนื้อหาสาระการให้เหตุผลมันหนักแน่นเพียงไอหรือไม่ รวมทั้งหลักประกันให้ตุลาการมีความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีมีเพียงพอแล้วหรือไม่
“ผมโต้แย้งว่าการปลดประธานศาลปกครองสูงสุด มีเหตุไม่ปกติหลายอย่าง เช่น ก.ศป. ถือว่ามีอำนาจพิจารณาโดยไม่ต้องผูกพันกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน ตรงนี้เป็นปัญหา อาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการใช้เสียงข้างมากตามอำเภอใจแทนการตัดสินโดยใช้หลักฐาน หรือหลักเหตุผล ซึ่งจะทำให้ ก.ศป. สามารถเปลี่ยนแปลงผลการพิจารณาคดีได้เสมอ โดยไม่ต้องฟังเสียงข้างมากของคณะกรรมการสอบสวนก็ได้ ทั้งที่ตามระเบียบสอบสวนของ ก.ศป. และสิทธิของตุลาการผู้ถูกกล่าวหา กำหนดไว้ในข้อ 8 วรรคสาม ว่า การลงมติของกรรมการสอบสวนให้ถือเสียงข้างมาก แสดงว่าระเบียบฯมีเจตนาให้ยึดเสียงข้างมากเป็นหลัก แม้กรรรมการเสียงข้างน้อยจะมีความเห็นแย้งก็ไม่ใช่มติของคณะกรรมการสอบสวน และไม่อาจนับเป็นผลการสอบสวนได้ เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งไม่ได้กระทบต่อประธานศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น แต่กระทบต่อตุลาการศาลปกครองทั้งหมด” นายกิตติศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ การกล่าวหาว่า ข้าราชการทำผิดวินัย ใช้ให้ลูกน้องไปทำผิด แปลว่า จะต้องสั่งไว้ก่อน แต่หากลูกน้องทำผิดแล้วมาสารภาพว่าได้ทำผิดแล้ว เจ้านายรับรู้ ตั้งกรรมการสอบสวนแล้วลงโทษตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนไปแล้ว จะมากล่าวหาว่าเจ้านายทำผิดฐานใช้ให้ลูกน้องไปทำ คณะกรรมการสอบสวนสอบสวนแล้วว่าไม่มีหลักฐานว่าได้ใช้ แต่ผู้พิจารณากลับระบุว่า ถึงไม่ได้ใช้ แต่มีส่วนรู้เห็น และลงโทษให้เจ้านายมีความผิดทั้งที่ไม่มีพยานหลักฐานว่ามีส่วนรู้เห็นก่อนซึ่งถือว่าเป็นการใช้ให้ลูกน้องไปทำ ทั้งที่รู้เห็นภายหลัง ตรงนี้ก็เป็นจุดที่ผิดสังเกตอย่างหนึ่ง
“คำสั่ง ก.ศป. ที่ออกมาระบุว่า แม้ไม่ปรากฏชัดว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้มอบหมายให้เลขาธิการไปวิ่งเต้นให้นายตำรวจ แต่อ้างพยานหลักฐาน ซึ่งเห็นว่า มีส่วนรับทราบและรู้เห็นเป็นใจนั้น เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสงสัย มันกลายเป็นตัดสินว่าแม้เขาไม่ได้กระทำผิด แต่เราเชื่อว่า คุณผิด มันจะเข้าข่ายหมาป่ากับลูกแกะ ที่ว่าแม้ลูกแกะไม่ได้ทำให้น้ำขุ่น แต่พ่อของลูกแกะเป็นผู้ที่ทำให้น้ำขุ่น ก็ต้องถือว่าผิด เรื่องนี้หากไม่ทำให้เกิดความกระจ่าง ก็น่าเป็นห่วงว่าจะไปเกิดกับตุลาการที่รักษาความยุติธรรมของประชาชนรายอื่น ๆ ได้ ประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมเรียกร้องให้เกิดความกระจ่างในกรณีนี้” นักกฎหมายมหาชนผู้นี้ กล่าว
นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อ ก.ศป. ไม่ชี้ตามเหตุผลของกรรมการสอบสวนเสียงข้างมาก ก็ต้องมีการชี้แจงหักล้างให้สิ้นสงสัย การอ้างเพียงว่ามติคณะกรรมการสอบสวนไม่ผูกพันกับ ก.ศป. ตรงนี้ก็เป็นปัญหา เพราะไปทำลายน้ำหนักของระเบียบสอบสวนของ ก.ศป. ที่มุ่งคุ้มครองสิทธิ์ของตุลาการที่ถูกร้องเรียน ขัดต่อหลักการคุ้มครองความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ ทั้งที่ศาลปกครองต้ององค์กรที่สำคัญที่สุดในการผู้คุ้มครองและสั่งการให้ทบทวนการใช้อำนาจโดยมิชอบที่ประชาชนตกเป็นผู้ถูกกระทำ
ด้าน พล.ต.หญิง พูนศรี กล่าวว่า ไม่ว่าข้าราชการผู้ใดถูกกระทำอย่างผิดปกติ ทางสมาคมจะมีหน้าที่ทำหนังสือทักท้วง ในกรณีของประธานศาลปกครองสูงสุดนั้น เราพบว่าควรจะต้องสอบสวนว่าท่านเป็นผู้เขียนจดหมายน้อยนั้นจริงหรือไม่ แต่เมื่อมีคนรับผิดไปแล้ว ท่านก็น่าจะพ้นผิด โดยหลักผู้ถูกสั่งพักราชการก็ต้องถูกสอบสวนให้เห็นผลใน 30 วัน แต่ก็ปรากฏว่า มียืดเยื้อถึง 180 วัน ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ และเมื่อพิสูจน์ไม่ได้ว่าเขาผิดก็ไม่น่าจะลงโทษเขาได้ เพราะไม่เป็นธรรมกับข้าราชการผู้นั้น
“ไม่อย่างนั้นใครจะมาแกล้งกันมันจะทำได้ง่าย แล้วมันเป็นธรรมหรือไม่ และความเป็นจริงในสังคมไทยการฝากให้ช่วยดูแลมันหนักถึงขนาดต้องให้ออกจากราชการหรือไม่” พล.ต.หญิง พูนศรี กล่าว
ด้าน นายหัสวุฒิ กล่าวว่า เป็นการใช้อำนาจนอกกฎหมาย เพราะความเห็นของกรรมการเสียงข้างน้อย ไม่ใช่มติของคณะกรรมการสอบสวน แต่ ก.ศป. กลับมีการเปลี่ยนข้อกล่าวหา และพิจารณาความผิดเอง ซึ่งความผิดของตนจึงไม่ได้มีการสอบสวน ถือเป็นการชี้ความผิดตนนอกกฎหมาย และยืนยันว่า จะใช้สิทธิตามช่องทางกฎหมายในการต่อสู้เรื่องนี้ เพื่อเป็นการคงหลักการว่า บ้านเมืองต้องปกครองด้วยกฎหมาย แต่ไม่สามารถจะเปิดเผยว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งคงจะไม่ใช่เป็นการไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพราะเท่ากับว่าจะเป็นการไปยื่นมีดให้เขามาเชือดคอตน
ทั้งนี้ นายหัสวุฒิ ยังได้มีการนำเอกสารบันทึกการให้ถ้อยคำของนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง กับคณะกรรมการสอบสวนมาเปิดเผย เพื่อยืนยันว่า ตามถ้อยคำที่นายดิเรกฤทธิ์ ให้ระบุชัดว่า ตนเองไมได้รู้ก่อนห รือสั่งการให้นายดิเรกฤทธิ์ ทำจดหมาย 2 ฉบับไปสนับสนุนนายตำรวจ รวมทั้งระบุว่า ตอนที่ยังไม่ถูกสั่งพักราชการ มีความพยายามที่จะให้ตนเอานายดิเรกฤทธิ์ ออกจากตำแหน่ง โดยเมื่อคณะกรรมการสอบสวนมีมติว่า นายดิเรกฤทธิ์ ผิดวินัยไม่ร้ายแรง ก็พยายามที่จะเล่นงานนายดิเรกฤทธิ์ เรื่องขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ศป. ที่ไม่บรรจุวาระการประชุม ก.ศป. เพื่อพิจาณาสั่งพักราชการตน
“มีการไปบอกกับนายดิเรกฤทธิ์ ว่า ถ้ายอมลาออกก็จะไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องขัดขวางการปฏิบัติงาน นายดิเรกฤทธิ์ ก็ยอมยื่นหนังสือลาออก แต่มันไม่มีสัจจะ ตอนนี้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยนายดิเรกฤทธิ์ รวมทั้งยังมีการข่มขู่นายดิเรกฤทธิ์ไม่ให้มาช่วยผม ถ้ามาช่วยก็จะเล่นงานในเรื่องอื่น ๆ อีก ที่ผ่านมา ผมแถลงข่าว 2 ครั้ง ที่สำนักงานศาลปกครอง ก็มีคำสั่งห้าม นักข่าว ช่างภาพไปทำข่าว โดยเอาข้อกำหนดประธานศาลปกครองสูงสุดเรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล 2552 มาขู่ จนการแถลงข่าวครั้งที่ 3 ผมต้องไปแถลงข้างนอกเพราะเขาบอกว่าถ้ายังไม่หยุดจะเล่นงานเจ้าหน้าที่ และเวลานี้ก็มีการให้ศาลปกครองชั้นต้นศึกษาว่าที่ผมแถลงนั้น เป็นการละเมิดต่ออำนาจศาลหรือไม่ ซึ่งก็เอาเลยถ้าลุแก่อำนาจพิจารณาแล้วสั่งขังผมเลย แต่กลับไปอาจบทละเมิดอำนาจศาลเสียใหม่ เพราะที่ผมวิจารณ์ไม่ได้การพิจารณาคดีของศาล แต่วิจารณ์การบริหารงานของ ก.ศป. ในฐานะฝ่ายบริหาร” นายหัสวุฒิ กล่าว