ศาลปกครองโต้กลับ “หัสวุฒิ” ชี้ ไม่มีการเมืองแทรก อัดมั่วอ้างขวางตัดสินคดีมั่นคงทำถูกกำจัดพ้นตำแหน่ง โชว์ข้อมูลทั้งคดีแปรรูป กฟผ. - เขาพระวิหาร เจ้าตัวยังไม่ได้เป็นประธาน ซ้ำไม่ได้เป็นองค์คณะที่พิจารณา ขณะที่คดี “ถวิล เปลี่ยนศรี” ยันความเห็นต่างปมระยะเวลาเพิกถอนคำสั่งมีผลไม่ใช่เหตุทำให้ถูกตั้งกรรมการสอบ ระบุ กระบวนการสอบคดีจดหมายน้อยอิงกฎหมายทุกขั้นตอน
วันนี้ (17 ก.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานศาลปกครองเผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจงตอบโต้กรณีการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 15 ก.ย. เกี่ยวกับการถูกพักราชการและการดำเนินการสอบสวนหลายประการ โดยระบุว่า 1. กรณีนายหัสวุฒิอ้างว่าคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ได้ให้คณะกรรมการสอบสวนสอบสวนใหม่ โดยให้มาชี้แจงเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านั้นคณะกรรมการสอบสวนโดยเสียงข้างมากเห็นว่าไม่มีมูลก็ควรให้กลับเข้าปฎิบัติหน้าที่และมีการนำไปเปรียบเทียบกับการตัดสินคดีของศาลชั้นต้น กับศาลสูงว่าหากศาลชั้นต้นตัดสินแล้ว ศาลสูงซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินเสียงข้างมากของศาลชั้นต้น จะสั่งให้ศาลชั้นต้นไปพิจารณาใหม่ตามเสียงข้างน้อยของศาลชั้นต้นได้หรือไม่ ชี้แจงว่า คณะกรรมการสอบสวนแต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยมีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. 2544 เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้วเสร็จ ก็ต้องทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อ ก.ศป. พิจารณาต่อไป ซึ่ง ก.ศป. มีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยว่าตุลาการศาลปกครองผู้ถูกกล่าวหามีความผิดหรือไม่ และมีกรณีต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ รวมทั้งมีอำนาจสั่งให้แก้ไขหรือดำเนินการสอบสวนให้ถูกต้องได้ การทำเสนอความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนจึงไม่อาจเปรียบเทียบได้กับการมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และการพิจารณาของ ก.ศป. ก็ไม่อาจเปรียบเทียบได้กับคำพิพากษาของศาลสูง
ทั้งนี้ ตามระเบียบดังกล่าวกำหนดขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหา 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก ให้คณะกรรมการสอบสวนมีหนังสือส่งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาเมื่อเริ่มการสอบสวน ให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกตุลาการศาลปกครองผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและอธิบายข้อกล่าวหา โดยผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิชี้แจงและให้ถ้อยคำได้ และหลังจากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อแจ้งให้ทราบว่ามีพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาอย่างไร และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานเข้าสืบแก้ข้อกล่าวหาได้ ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ถูกกล่าวหาจะชี้แจงหรือไม่ชี้แจงก็ได้ หรือจะยืนยันตามคำชี้แจงที่ให้ไว้ในครั้งแรกก็ได้ ซึ่งหากชี้แจงว่าไม่มีประเด็นที่ต้องชี้แจงเพิ่มเติม การสอบสวนในขั้นตอนนี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้น การดำเนินการของ ก.ศป. จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
2. กรณีกล่าวอ้างว่า การสอบสวนใช้เวลาถึง 6 เดือน แต่ยังไม่แล้วเสร็จ และสิ้นเดือน ก.ย. นี้ กรรมการสอบสวนท่านหนึ่งจะเกษียณอายุราชการ จะมีการตั้งกรรมการอื่นซึ่งเป็นคนของตนเองและลงมติด้วยเสียงข้างมากว่าประธานศาลปกครองสูงสุดมีความผิด นั้น ขอชี้แจงว่า หลังจาก ก.ศป. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แล้ว ก.ศป. มีความเห็นว่าสมควรหารือไปยัง ก.พ. ว่า กรรมการสอบสวนที่เป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายที่ ก.พ. แต่งตั้งมีคุณสมบัติสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 อันเป็นกรณีที่เข้าข่ายตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 หรือไม่ จึงมีหนังสือขอให้สำนักงาน ก.พ. เสนอเรื่องดังกล่าว ให้ ก.พ. พิจารณา ในที่สุด เมื่อสำนักงาน ก.พ. มีหนังสือแจ้งยืนยันกรรมการข้าราชการพลเรือนผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายเช่นเดิม ก.ศป. จึงมีมติรับทราบและมีหนังสือยืนยันความเห็นเดิมไปยังสำนักงาน ก.พ. และได้มีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการสอบสวนเริ่มดำเนินการสอบสวน ซึ่งในระหว่างการสอบสวน ก.ศป. ได้เห็นชอบและอนุมัติให้คณะกรรมการสอบสวนขยายระยะเวลาการสอบสวนตามระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. 2544 ตลอดมา ส่วนกรณีที่สิ้นเดือน ก.ย. นี้ จะมีกรรมการสอบสวนท่านหนึ่งจะเกษียณอายุราชการนั้น คณะกรรมการสอบสวนได้เสนอรายงานผลการสอบสวนต่อ ก.ศป. โดยปรากฏความเห็นของกรรมการแต่ละท่านมาแล้ว การเกษียณอายุราชการจึงไม่กระทบต่อความเห็นของกรรมการดังกล่าว
3. กรณีกล่าวอ้างว่า ในคดี นายถวิล เปลี่ยนศรี มีตุลาการในศาลปกครองสูงสุดชุดหนึ่ง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล โดยให้การเพิกถอนคำสั่งมีผลเมื่อศาลอ่านคำพิพากษาไปแล้ว 60 วัน ประธานศาลปกครองสูงสุดได้นำคดีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเสียงข้างมากมีมติให้เพิกถอนคำสั่งตั้งแต่วันที่มีคำสั่ง ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นไม่พอใจประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นอย่างยิ่ง อันเป็นที่มาที่จะต้องกำจัดประธานศาลปกครองสูงสุดให้พ้นจากศาลปกครองให้ได้ นั้น ขอชี้แจงว่า ตุลาการศาลปกครองสูงสุดองค์คณะที่พิจารณาคดีดังกล่าวมีความเห็นว่า ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว แต่เห็นว่าคำพิพากษาของศาลอาจมีผลกระทบต่อผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ และไม่ได้เข้ามาในคดีกับกระทบต่อความต่อเนื่องของการปฏิบัติราชการ จึงสมควรเพิกถอนประกาศดังกล่าวให้มีผลเมื่อครบกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา แต่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด มีความเห็นว่า สมควรเพิกถอนประกาศดังกล่าวให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ ดังนั้น ความเห็นขององค์คณะและความเห็นของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จึงมีความเห็นตรงกันว่าประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโยกย้ายนายถวิลเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่ไม่สอดคล้องกันว่าจะให้คำสั่งดังกล่าวมีผลเมื่อใดเท่านั้น ซึ่งผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ประธานศาลปกครองสูงสุดถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแต่อย่างใด
4. กรณีกล่าวอ้างว่า ในคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งห้ามไม่ให้รัฐบาลยินยอมให้ประเทศกัมพูชา นำข้อตกลงไปใช้ในการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว ทำให้รัฐบาลไม่พอใจอย่างยิ่ง และได้ใช้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดชุดหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวจนมีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น ขอชี้แจงว่า คดีดังกล่าวศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยห้ามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรีอ้าง หรือใช้ประโยชน์จากมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทย และรัฐบาลกัมพูชา และการดำเนินการตามมติดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2551 ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ประธานศาลปกครองสูงสุดดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในองค์คณะที่ 4 ซึ่งมิใช่องค์คณะที่มีคำสั่งในคดีดังกล่าว และประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในขณะนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในคดีดังกล่าว และกรณีที่มีผู้นำเรื่องไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ก็ไม่ปรากฏว่ามีกรณีใดเกี่ยวข้องกับประธานศาลปกครองสูงสุด อีกทั้งคดีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ประธานศาลปกครองสูงสุดถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแต่อย่างใด
5. กรณีกล่าวอ้างว่า คดีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำให้ฝ่ายการเมืองในขณะนั้นไม่พอใจอย่างยิ่งนั้น คดีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2549 ซึ่งขณะนั้นประธานศาลปกครองสูงสุดดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในองค์คณะที่ 5 ซึ่งไม่ใช่องค์คณะที่มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว และประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในขณะนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในคดีดังกล่าว อีกทั้งคดีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ประธานศาลปกครองสูงสุดถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแต่อย่างใด 6. ส่วนที่กล่าวอ้างว่า เวลานี้ยังมีคนของฝ่ายการเมืองในทุกองค์กรสำคัญของชาติ รวมถึงในศาลปกครอง กลุ่มตุลาการของฝ่ายการเมืองได้เข้ายึดอำนาจในศาลปกครองได้แล้ว และศาลถูกฝ่ายการเมืองยึดไปโดยกำจัดคนดีออกไปนั้น ขอชี้แจงว่า การสรรหาตุลาการศาลปกครองรวมถึงการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน ที่ได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองทั้งหมด และกรรมการตุลาการ ศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 คน ที่ได้รับเลือกจากวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี อีกทั้งการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองสูงสุดต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา การดำรงตำแหน่ง ตุลาการศาลปกครอง จึงมีกระบวนการที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายการเมือง และการพิจารณาพิพากษา อรรถคดีของศาลปกครอง ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการกระทำโดยองค์คณะและมีกระบวนการและขั้นตอนตามที่กำหนดในกฎหมายและระเบียบวิธีพิจารณา ข้ออ้างของประธานศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจึงไม่มีมูลความจริง