xs
xsm
sm
md
lg

“กิตติศักดิ์” รับปัญหาศาลปกครองกระทบภาพลักษณ์ จี้ ก.ศป.แจงเหตุยืดสอบ “หัสวุฒิ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แฟ้มภาพ)
“อาจารย์กิตติศักดิ์” แนะ ก.ศป.ชี้แจงเหตุขยายเวลาสอบประธานศาลปกครองสูงสุด กันครหาหวังให้ยืดเยื้อ ย้อน คกก.สอบสวนบอกไม่ผิดแล้วแต่ไม่ได้เชิญรับทราบข้อหาแต่ต้น ควรยกประโยชน์ให้ ส่วนสอบเพิ่มปมเบี้ยเลี้ยง ชี้ให้ดูที่เจตนา รับปัญหาในศาลปกครองกระทบภาพลักษณ์ตุลาการ จี้เร่งแก้ไข ปล่อยไปมีแต่ผลลบ

วันนี้ (16 ก.ย.) นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในศาลปกครองจากกรณีการพักราชการและตั้งคณะกรรมการสอบสวนนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ว่าการพักราชการและตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตุลาการนั้นถือเป็นอำนาจของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ที่สามารถทำได้ แต่ในระเบียบ ก.ศป.เองก็ได้กำหนดเวลาเร่งรัดของการดำเนินการสอบสวนของคณะกรรมการฯให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากมีการขยายก็ควรที่จะต้องมีเหตุผลที่สมควร ก.ศป.จึงควรออกมาชี้แจงว่า อุปสรรคบางประการที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินการสอบสวนที่ระบุในแถลงการณ์สำนักงานศาลปกครองเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมานั้นคืออะไร เพราะหากไม่มีความชัดเจนว่าอุปสรรคบางประการนั้นหมายถึงเรื่องใดก็อาจจะถูกตั้งครหาว่าต้องการประวิงเวลาให้การสอบสวนยืดเยื้อได้ เนื่องจากมีการตั้งคณะกรรมการฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และการคัดค้านกรรมการผู้แทนจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็ได้ข้อยุติไปแล้ว แต่ดูเหมือนการสอบสวนไม่ได้เร่งรัดตามที่ระเบียบของ ก.ศป.กำหนดไว้

นายกิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการระบุด้วยว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และมีมติเสียงข้างมากว่าไม่มีมูลความผิดของนายหัสวุฒิ แต่ทาง ก.ศป.กลับมีมติให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ให้นายหัสวุฒิมารับทราบข้อกล่าวหาอีก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความไม่สมบูรณ์ของกระบวนการสอบสวนตามระเบียบ ก.ศป. แต่เมื่อผลการสอบสวนออกมาเป็นคุณกับผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ตามหลักกฎหมายก็ควรที่จะยกประโยชน์ให้แก่นายหัสวุฒิ เพราะถือว่าเป็นความบกพร่องของคณะกรรมการสอบสวนฯเองที่ไม่ได้เชิญนายหัสวุฒิมารับทราบข้อกล่าวหาตั้งแต่ต้น ดังนั้นมติของ ก.ศป.ที่ทำให้การสอบสวนไม่แล้วเสร็จโดยเร็วเช่นนี้ก็อาจถูกตั้งข้อครหาอีกได้เช่นกัน

“การกำหนดระยะเวลาเร่งรัดเกี่ยวกับการสอบสวนบุคคลนั้น แม้จะไม่ได้เป็นการบังคับโดยตรงให้ต้องทำการสอบสวนแล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด แต่ก็ถือเป็นการคุ้มครองผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ต้องตกอยู่กระบวนการสอบสวนนานเกินไป กรณีนี้ในระเบียบ ก.ศป.ก็กำหนดให้ขยายระยะเวลาสอบสวนได้ แต่ก็ต้องมีเหตุผลที่สมควร ดังนั้น ก.ศป.ต้องออกมาชี้แจงว่า อุปสรรคบางประการที่ระบุนั้นหมายถึงเรื่องใด” นายกิตติศักดิ์กล่าว

ส่วนกรณีที่ ก.ศป.มีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนายหัสวุฒิเพิ่มเติมในกรณีเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงในการไปร่วมพิธียกยอดฉัตรทองคำที่ จ.สุโขทัย ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีภารกิจที่ จ.พิษณุโลกนั้น นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า เมื่อมีการร้องเรียนมาก็สามารถสอบสวนได้ โดยเรื่องนี้ควรจะดูข้อเท็จจริงของการเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวว่าเป็นการจงใจหรือเป็นการเข้าใจผิด เนื่องจากตามระบบราชการอาจมีหน่วยงานตั้งเรื่องขึ้นมา แล้วบุคคลนั้นอาจจะลงนามตามเรื่องที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่ได้มีเจตนา แต่หากมีเจตนาก็ถือว่าไม่เหมาะสม

นายกิตติศักดิ์กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในศาลปกครองขณะนี้ ถือว่ากระทบกับภาพลักษณ์ขององค์กรตุลาการอย่างแน่นอน เพราะต้องทำตัวให้เป็นที่น่าเชื่อถือ แต่กลับเกิดความขัดแย้งกันเองภายใน ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องพิจารณาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากเรื่องใด อีกทั้งเมื่อพบว่าเกิดความผิดพลาดไม่ว่าในกระบวนการใดก็ควรที่จะรีบแก้ไขให้ถูกต้อง ที่ผ่านมาก็มีโอกาสหลายครั้งในการแก้ไขแต่ก็ยังปล่อยให้เป็นปัญหาต่อเนื่องมาจนบัดนี้ ก็เหมือนกับรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจที่อาจจะทำผิดพลาดกันได้ แต่เมื่อมีเรื่องผิดพลาดก็ต้องรีบแก้ไข สังคมก็พร้อมที่จะให้โอกาส แต่หากไม่แก้ไขสุดท้ายก็อยู่ไม่ได้

“ผู้ที่เกี่ยวข้องในศาลปกครองทั้งหมด ควรจะทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น หากแก้ไขได้โดยเร็ว สังคมก็พร้อมที่จะเข้าใจและให้ความเชื่อถือต่อไป แต่หากปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไปเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีกับศาลปกครองเอง” นายกิตติศักดิ์ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น