xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.จี้นายกฯ ระงับทูลเกล้าฯ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ชี้ขัด รธน.หลายมาตรา-สนช.ตัด ม.10/1 ผิดข้อบังคับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คปพ.เปิดโต๊ะแถลงเรียกร้องนายกฯ-ประธาน สนช.ระงับการทูลเกล้าฯ ถวายร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ชี้กระบวนการพิจารณา ตัด ม.10/1 ผิดบังคับการประชุม สนช. และขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหลายมาตรา แนะแก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง หรือให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยป้องกันปัญหาตามมา



วันนี้ (25 เม.ย. 2560) เวลาประมาณ 13.00 น. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้จัดงานแถลงข่าว ณ ห้องประชุมใหญ่ มูลนิธิ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินนอก เรื่อง “ขอให้นายกรัฐมนตรี และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ระงับการทูลเกล้าฯ ถวายร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อทบทวนการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยสรุปความว่า

ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 นั้นไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่คำนึงถึงมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ขาดความรอบคอบ ไม่ระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ไม่ยึดถือและไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ไม่มีการวิเคราะห์กฎหมายอย่างรอบด้าน ไม่มีการเปิดเผยผลการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชนในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน และเป็นร่างกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม อันอาจเป็นการกระทำต่อบทบัญญัติหลายมาตราในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ดังนี้

1. ในคราวประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560 พบว่า มีการกระทำผิดข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยตัดมาตรา 10/1 ออก โดยไม่ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ตามข้อบังคับ และไม่ได้มีการลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

2. ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... อาจมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 164 (1) (3) และ (4) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
อันมีสาเหตุมาจากขาดความรอบคอบ และระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประทศและประชาชนส่วนรวม ไม่ยึดถือและไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และไม่สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ผาสุก สามัคคี ปรองดองกัน โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้


2.1 มีการเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิตโดยปราศจากบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยการตัดมาตรา 10/1 ออกไป เพื่ออำพรางทำให้เกิดระบบสัมปทานเหมือนเดิม ทำให้เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนผู้รับสัมปทานเดิมโดยเฉพาะแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งไม่สามารถต่ออายุสัญญาสัมปทานได้แล้วตามกฎหมายปิโตรเลียมเดิม

2.2 ยังไม่ได้แก้ไขความบกพร่องและจุดรั่วไหลให้ครบถ้วนตามรายงานผลการศึกษาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า ร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ยังมีช่องว่างทำให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎรบังหลวงตามที่ระบุเอาไว้ในผลการศึกษาที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเอง


2.3 ขัดแย้งกับผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างสิ้นเชิงตามรายงานของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2558


2.4 ไม่ได้ฟังเสียงทักท้วงจากประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ว่าให้ถอนร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ออกจากการพิจารณาของ สนช.

2.5 ขัดแย้งกับมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ลงมติ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 มีข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี ให้นำร่างกฎหมายของ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย มาประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ด้วย และหากไม่สามารถดำเนินการได้ ควรพิจารณาถอนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวออกจาก สนช. เพื่อนำมาทบทวนใหม่ ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงขัดแย้งกับมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอย่างสิ้นเชิง


3. ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 77 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
บัญญัติว่า : “ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วรัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป”

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู้หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ไว้ ณ วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 รัฐจึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเคร่งครัดโดยทันทีนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 ซึ่งย่อมหมายความรวมถึงการตรา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... จะต้องชอบด้วยมาตรา 77 วรรคสอง ที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ด้วย

ดังนั้นเมื่อ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งยังมิได้มีการลงพระปรมาภิไธย หรือหากชัดเจนกว่านั้นว่านายกรัฐมนตรียังไม่ได้มีการยื่นทูลเกล้าร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ก่อนวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ด้วยแล้ว ย่อมชัดเจนว่ากฎหมายดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอน "ก่อนการตรากฎหมาย"
ซึ่งปรากฏว่ายังไม่ได้มีการดำเนินการตาม มาตรา 77 วรรคสองให้ครบถ้วนในกระบวนการตรากฎหมายในทุกขั้นตอน


4. มีการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ดังนี้

การลงประชามติว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แล้ว คณะรัฐมนตรีจึงย่อมจะทราบว่ามาตรา 77 ในเรื่องที่เกี่ยวกับการตรากฎหมายนั้น มีเจตนารมณ์ต้องการให้รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง แต่กลับไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง

การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตัดสินใจให้มีการลงมติในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560 เป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่ามีเจตนาเพื่อที่จะ “ชิงตัดหน้าลงมติ” พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ให้แล้วเสร็จก่อนการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 เพียงเพื่อหวังที่จะได้หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามขั้นตอนก่อนการตรากฎหมายในมาตรา 77 วรรคสอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช่หรือไม่

โดยร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งส่งกระทบต่อประชาชนและชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 43 (2) ว่าด้วยการจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมนั้น ต้องรับฟังความเห็นประชาชนอย่างกว้างขวางและรอบด้าน กฎหมายปิโตรเลียมเป็นกฎหมายที่สำคัญเป็นกติกาที่ใช้บริหารทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีมูลค่าประมาณปีละ 4-5 แสนล้านบาท เฉพาะมูลค่าปิโตรเลียมจากแหล่งเอราวัณ และ แหล่งบงกช มีมูลค่าปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท ดังนั้นก่อนการตรากฎหมายปิโตรเลียม ยิ่งควรที่จะมีการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง และวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ยังมิได้มีการดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ประการใด

ตามนิติประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในสภานิติบัญญัติ หากร่างกฎหมายใดไม่ผ่านกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติที่ถูกต้อง และมีบทบัญญัติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายนั้นย่อมไม่อาจประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ และไม่สมควรที่จะนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและประธานสภานิติบัญญํติแห่งชาติ พิจารณาระงับการทูลเกล้าร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อมาทบทวนกระบวนการวิธีนิติบัญญัติที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงกระบวนการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และดำเนินการเสียใหม่ให้ถูกต้อง หรือหากมีความเห็นแย้งตามหลักฐานที่เป็นประจักษ์ชัดข้างต้นแล้ว ขอได้โปรดพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเพื่อนำเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยเพื่อให้ได้ข้อยุติดังกล่าวเสียก่อน เพื่อมิให้มีปัญหาในภายภาคหน้าต่อไป


รายละเอียดหนังสือ คปพ.ถึงนายกรัฐมนตรี >> http://www.gasthai.com/1111/ter-102-37-2560.pdf
รายละเอียดหนังสือ คปพ.ถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ >> http://www.gasthai.com/1111/ter-103-38-2560.pdf









กำลังโหลดความคิดเห็น