16 ปี เพิ่งชี้มูล ป.ป.ช.ชี้มูล “เจริญโรจน์ ลั่นทมทอง” อดีต ผช.ผู้พิพากษาฎีการับสินบนช่วยคดีไม่ต้องรับโทษ ส่งสำนวน ให้ อสส.ฟ้องคดีอาญาเหตุปฏิบัติหน้าที่ส่อทุจริต เผยเป็นคดีเก่าตั้งแต่สมัย “สุทัศน์ เงินหมื่น” นั่ง รมว.ยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่มีมติไล่ออกไปตั้งแต่ปี 2542-2543 แล้ว ด้าน “ชวลิต ชูขจร” อดีตปลัดเกษตรฯ (นั่งผู้ตรวจพิเศษทำเนียบ) พ้นมลทิน เหตุถูกโยงเอี่ยวโกงลำไยปี 47 สมัยสมศักดิ์ เทพสุทิน นั่ง รมว.เกษตรฯ เผย ป.ป.ช.-อสส.เห็นพ้อง แค่ขั้นเตรียมการจัดทำข้อมูลเสนอผู้บังคับบัญชา ไม่มีอำนาจตัดสินใจ
วันนี้ (30 ก.ย.) มีรายงานว่า นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหานายเจริญโรจน์ ลั่นทมทอง หรือรัตนวิจัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา เรียกและรับเงินจากจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.244/2543 ของศาลฎีกา และได้เขียนความเห็นช่วยเหลือจำเลยให้ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง แล้วเห็นว่า ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา (ผู้ช่วยใหญ่) มีอำนาจหน้าที่ทางวิชาการในการตรวจสอบความถูกต้องของร่างคำพิพากษาและคำสั่งของศาลฎีกา ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนทำความเห็นช่วยเหลือจำเลยมิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และปฏิบัติหน้าที่ราชการส่อไปในทางทุจริต ไปพบผู้พิพากษาที่รับโอนสำนวนก่อนยกร่างคำพิพากษาและติดตามร่างคำพิพากษาอย่างใกล้ชิดผิดปกติวิสัยของผู้ช่วยผู้พิพากษา (ผู้ช่วยใหญ่) ทำบันทึกทักท้วงผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเพื่อให้ศาลฎีกามีคำพิพากษารอการลงโทษ โดยอ้างอิงคำพิพากษาประกอบบันทึกทักท้วงซึ่งมิได้ มีข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงกับคดีนี้ และแนบคำแถลงขอรอการลงโทษจำคุกพร้อมเอกสารและภาพถ่ายการประกอบคุณงามความดีของจำเลยไปท้ายร่างคำพิพากษาเพื่อช่วยเหลือจำเลย มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง
พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า การกระทำของนายเจริญโรจน์ ลั่นทมทอง หรือรัตนวิจัย ผู้ถูกกล่าวหา เป็นการกระทำความผิดอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาแก่นายเจริญโรจน์ ลั่นทมทอง หรือรัตนวิจัย ผู้ถูกกล่าวหา ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
สำหรับการดำเนินการทางวินัยนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการทางวินัยและได้มีคำสั่ง ที่ 676/2545 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2545 ลงโทษไล่ผู้ถูกกล่าวหาออกจากราชการเสร็จสิ้นและเป็นไปโดยชอบแล้ว และไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่า การดำเนินการนั้นไม่เที่ยงธรรม กรณีจึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาอีกต่อไป
มีรายงานว่า ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหานายเจริญโรจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม กรณีเรียกรับเงินจากนายสุธี สุวิชากรพงศ์ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.244/2543 และได้เขียนความเห็นช่วยเหลือนายสุธี สุวิชากรพงศ์ ให้ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง โดยคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้ว เห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนว่าข้อกล่าวหามีมูลความผิด
โดยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2557 คณะอนุกรรมการไต่สวนได้แจ้งให้นายเจริญโรจน์ ผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหา โดยส่งหนังสือไปยังบ้านเลขที่ที่ปรากฏตามฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ จำนวน 2 ครั้ง แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับหนังสือแจ้งให้มารับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าวแต่อย่างใด
สำหรับคดีนี้เป็นคดีเก่าตั้งแต่สมัยนายสุทัศน์ เงินหมื่น ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และมีมติไล่ออกผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีการายนี้ ไปตั้งแต่ปี 2542-2543 แล้ว
มีรายงานด้วยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาคดีการทุจริตในโครงการรับจำนำลำไย ปี 2547 ในช่วงที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น รมว.เกษตรฯ พรรคไทยรักไทย สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้ส่งผลการพิจารณากลับมายัง ป.ป.ช. กรณีชี้มูลความผิดต่อนายชวลิต ชูขจร อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานแผนงานและโครงการพิเศษ พร้อมพวกอีก 4 คน ในฐาน นะคณะกรรมการเตรียมการโครงการจำนำลำไย ซึ่งล่าสุดถูกโยกกลางอากาศเพื่อมานั่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งมาตรา 44 ของ คสช. โดย ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่าทางคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีพฤติกรรมเข้าข่ายสมยอมราคา และมีการประพฤติมิชอบในการปฎิบัติหน้า
ต่อมา ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องกลับมายังสำนักงานอัยการสูงสุด โดยเห็นว่านายชวลิต และพวก เป็นเพียงคณะกรรมการเตรียมการ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนจัดทำข้อมูลเสนอผู้บังคับบัญชา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ จึงไม่มีความผิดที่เข้าข่ายสมยอมราคา และปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล และมีการส่งกลับผลการพิจารณาต่อ ป.ป.ช.
มีรายงานว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติด้วยคะแนน 5 ต่อ 4 เสียง เห็นชอบตามผลสรุปของสำนักงานอัยการสูงสุด ทำให้นายชวลิตและพวกไม่มีความผิด และไม่ส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจกับโครงการ และไม่มีการทุจริตครั้งนี้ ถือว่าพ้นมลทิน โดยนายชวลิตได้กล่าวขอบคุณอัยการสูงสุด และ ป.ป.ช.ทุกท่านที่ให้ความเป็นธรรม ซึ่งยอมรับว่าข้าราชการต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งในฐานะข้าราชการ ทำให้เห็นว่าระบบยุติธรรมของไทยน่าเชื่อถือ แม้ตนจะถูกโยกย้ายมานั่งตำแหน่งใดก็พร้อมทำหน้าที่ให้ดีที่สุด สมกับเป็นข้าแผ่นดิน