“นพดล” พร้อมทีมงาน เดินทางไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีลงนามในแถลงการณ์ร่วม สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ผ่านสภา เมื่อครั้งเป็น รมช.ต่างประเทศ ปี 51
วันนี้ (4 ก.ย.) เวลา 13.30 น. ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดฟังคำพิพากษาตัดสินคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ผ่านการลงมติรับรองจากรัฐสภา เมื่อปี 2551
เมื่อถึงเวลานัดหมาย นายนพดล ปัทมะ พร้อมทีมงานทนายความ รวมทั้ง นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้เดินทางฟังคำพิพากษาด้วย
คดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายนพดล ในฐานะอดีต รมว.ต่างประเทศ เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
เหตุของคดีก็เป็นเพราะสมัยนายนพดล เป็น รมว.ต่างประเทศ ได้ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย. 51 โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่ง ป.ป.ช. เห็นว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าว เป็นการสนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ข้อกล่าวหาที่ตั้งไว้ตอนไต่สวนคดีมีมูลความผิดจริง จึงส่งเรื่องให้ดำเนินการถอดถอน และดำเนินคดีอาญา
ประเด็นสำคัญที่นำมาสู่การเอาผิดนายนพดล ก็คือ เป็นเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การออกแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว เข้าข่ายเป็นหนังสือสนธิสัญญา ที่จะต้องนำเข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวขออนุมัติต่อรัฐสภา ทำให้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยก่อนจะยื่นฟ้องต่อศาล มีข่าวว่า คดีนี้ ป.ป.ช. มีการอภิปรายกันอย่างหนัก จนสุดท้าย มติป.ป.ช. ออกมาให้ชี้มูลความผิดด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 เมื่อ 29 ก.ย. 52
ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นรัฐมนตรี 26 คน ใน ครม. สมัคร สุนทรเวช และข้าราชการประจำกระทรวงต่างประเทศ และสภาความมั่นคง อีก 6 คน ที่เข้าร่วมประชุม ครม. ด้วยนั้น ป.ป.ช. เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหานี้ไม่มีเจตนากระทำความผิด เพราะมารู้ข้อมูลในวันที่ประชุมเท่านั้น จึงถือว่าไม่มีความผิด
โดยช่วงจากนั้น หลัง ป.ป.ช. ชี้มูลดังกล่าว ตัว นายนพดล ปัทมะ ได้เปิดแถลงข่าวพร้อมแจกแถลงการณ์ถึงมติของ ป.ป.ช. ที่พรรคเพื่อไทย ในวันรุ่งขึ้น หลัง ป.ป.ช. มีมติ คือ 30 ก.ย. 52 โดยยืนยันว่า ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ได้ปกป้องแผ่นดินไทย และพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นผลสำเร็จ แต่ได้รับสิ่งนี้ตอบแทนในการทำงานเพื่อชาติ ซึ่งจะเป็นตำนานของการทำคุณบูชาโทษไปอีกนาน การชี้มูลความผิดว่าเหมือนจะจงใจเอาผิดกับตัวเอง ทั้งที่ระเบียบกำหนดว่า เมื่อมีมติ ครม. ทั้งหมดต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ในส่วนของสำนวนการถอดถอนที่ไปเร็วกว่าคดีอาญาหลายปี ก็ปรากฏว่า มติของวุฒิสภา ชุดที่แล้ว เมื่อ 12 มี.ค. 53 ไม่ได้ถอดถอนนายนพดล ออกจากตำแหน่ง เพราะคะแนนเสียงถอดถอนไม่ถึง
ขณะที่คดีอาญา คดีดำเนินไปอย่างล่าช้า ยื้อกันอยู่นาน ระหว่างอัยการ กับ ป.ป.ช. จนคดีล่าช้าหลายปี สุดท้ายในปี 2556 หลังมีการตั้งคณะทำงานร่วม ป.ป.ช. กับอัยการ แต่ไม่สามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ ทำให้ ป.ป.ช. ต้องดึงสำนวนมาฟ้องเอง และเมื่อมีการยื่นฟ้องแล้ว ต่อมาศาลฎีกาฯ ก็ได้รับฟ้องคดีไว้ เมื่อ 26 เม.ย. 56 และมีการนัดพิจารณาคดีครั้งแรก เพื่อสอบคำให้การจำเลยไปเมื่อ 5 ก.ค. 56
ล่าสุด ศาลฯ มีคำพิพากษายกฟ้องด้วยมติ 6 ต่อ 3 โดยเห็นว่า นายนพดล ได้ปรึกษาหารือกับฝายต่าง ๆ ก่อนที่จะลงนาม และข้อกล่าวหาที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายนพดล ได้รับผลประโยชน์จากการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวก็ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน
หลังจากฟังคำพิพากษานายนพดลถึงกับหลั่งน้ำตา และบอกว่าจะไม่ฟ้องกลับ ป.ป.ช. หรืออดีต ส.ว. ที่ยื่นคำร้องให้สอบสวนคดีนี้