xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกานัดพิพากษาคดี “นพดล ปัทมะ” ลงนามปราสาทเขาพระวิหารไม่ผ่านสภา 4 ก.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ
ศาลฎีกานักการเมืองนัดพิพากษา คดี ป.ป.ช.ฟ้อง “นพดล ปัทมะ” อดีต รมว.ต่างประเทศ ลงนามแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร ปี 51 ไม่ผ่านรัฐสภา 4 ก.ย. นี้

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ วันนี้ (21 ส.ค.) นายประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีหมายเลขดำ อม.3/2556 พร้อมองค์คณะผู้พิพากษา รวม 9 คน ไต่สวนพยานจำเลย นัดสุดท้ายในคดี ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ สมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551 และที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีที่ นายนพดล ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย. 2551 ที่สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทย

โดย นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ทนายความของ ป.ป.ช. โจทก์ เปิดเผยภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ว่า วันนี้ นายกฤต ไกรจิตติ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ มาเป็นพยานฝ่ายจำเลยเข้าไต่สวนเพียงปากเดียว เมื่อไต่สวนพยานครบทุกประเด็นแล้ว ศาลได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 4 ก.ย. นี้ เวลา 13.30 น. โดยให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ยื่นคำแถลงปิดคดี ภายในวันที่ 28 ส.ค. นี้ ซึ่งปลายสัปดาห์ทีมทนายความของ ป.ป.ช. ก็จะประชุมหารือกันเพื่อร่างคำแถลงปิดคดี ส่งต่อศาลให้ทันภายในกำหนดดังกล่าว

นายสิทธิโชค ทนายความ ป.ป.ช. โจทก์ กล่าวอีกว่า คดีนี้ฝ่าย ป.ป.ช. นำพยานเข้าไต่สวนกว่า 10 ปาก โดยมีทั้งพยานในกลุ่มของข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งพยานปากสำคัญที่นำเข้าไต่สวนเป็นปากแรก คือ นายวีรชัย พลาศรัย ที่ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เมื่อปี 2551 ได้บอกเล่าความเป็นมาเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทเขาพระวิหารและการดำเนินการต่าง ๆ ซึ่ง นายวีรชัย ได้เข้าไปเกี่ยวข้องและรับรู้ ตั้งแต่ในช่วงแรก และพยานในกลุ่มของนักวิชาการที่ได้มีการติดตามปัญหาข้อพิพาทเขาพระวิหาร โดย ป.ป.ช. โจทก์ ก็ได้พยายามนำสืบให้ศาลเห็นว่าการกระทำของ นายนพดล ที่เสนอแถลงการณ์ไทย - กัมพูชา นั้น มีลักษณะที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ประเทศกัมพูชา ขอจดทะเบียนขึ้นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว โดยที่ยังมีปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนโดยรอบเขาพระวิหาร ซึ่งเคยมีการเสนอให้ไทย - กัมพูชา ร่วมกันบริหารจัดการนั้น เป็นการกระทำโดยชอบหรือไม่ ขณะที่การเสนอประเด็นข้อพิพาทเขาพระวิหารที่สุ่มเสี่ยงกับเขตแดนนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีคำวินิจฉัยว่าจะต้องมีการเสนอให้รัฐสภามีความเห็นชอบ ขณะที่การต่อสู้คดีฝ่ายของนายนพดล ก็นำพยานเข้าสืบกว่า 10 ปาก

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่าคดีนี้ ป.ป.ช. ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2556 โดยศาลฎีกาฯ มีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2556 ซึ่ง นายนพดล อดีต รมว.ต่างประเทศ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยชั้นพิจารณา ศาลฎีกาฯ ให้ นายนพดล จำเลย ได้ประกันตัวไปโดยตีราคาประกัน 2 ล้านบาท

ขณะที่คดีนี้ ป.ป.ช. โจทก์ ได้บรรยายเหตุการณ์ที่มีการกล่าวหานายนพดล กระทำผิดว่า เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช รับหน้าที่นายกรัฐมนตรีแล้ว วันที่ 3 - 4 มี.ค. 2551 นายสมัครไปพบผู้นำกัมพูชาเรื่องขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และนายนพดล รมว.ต่างประเทศ ขณะนั้น จำเลยไปหารือกับนายสก อาน รองนายกฯ และ รมต.ประจำสำนักนายกฯกัมพูชา ที่ทางกัมพูชาของให้ไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร จากนั้นจำเลยได้นำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ให้ข้าราชการกระทรวงต่างประเทศพิจารณา ทาง นายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในขณะนั้น มีบันทึกช่วยจำคัดค้านเรื่องดังกล่าว แต่จำเลยไม่เห็นด้วยจึงเสนอ ครม. ให้นายวีรชัย พลาศรัย พ้นจากตำแหน่ง ทั้งที่ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงทักท้วง แต่จำเลยยังยืนยันว่าไม่สามารถรวมงานกับอธิบดีที่มีความคิดเช่นนี้ได้ ต่อมาจำเลยยังเดินทางไปเขมรอีกหารือกับนายสก อาน เรื่องปราสาทพระวิหาร รวมไปถึงการกำหนดเขตทางทะเลระหว่างประเทศ และจะทำแถลงการณ์ร่วม โดยนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ แบบปิดบังอำพราง และมีเหตุจูงใจแอบแฝงอยู่ และเมื่อนำเข้าที่ประชุม ครม. โดยไม่มีเอกสารแจกให้ที่ประชุมพิจารณาล่วงหน้า เพียงแต่แสดงแผนที่บนจอภาพ ใช้เวลา 15 นาที ซึ่งโจทก์เห็นว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา นี้เป็นหนังสือสัญญาซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ต้องขออนุมัติจากรัฐสภา และจะต้องออกเป็น พ.ร.บ. เพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา และรับฟังความเห็นจากประชาชน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น