นายกรัฐมนตรีพบหารือผู้แทนสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน บริษัทชั้นนำในอเมริกา ระหว่างร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่สหรัฐฯ ยืนยันเลือกตั้งได้ปี 2560 ตามโรดแมป เวลาที่เหลือจะวางรากฐานการปฏิรูปประเทศทุกด้าน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน วางระบบโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ และอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน
วันที่ 25 ก.ย. เวลา 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ Governor’s The Metropolitan Club นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบปะหารือกับผู้แทนระดับสูงจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council :USABC) และบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70
ภายหลังการหารือ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวยินดีกับ USABC ที่ครบรอบ 10 ปีของการก่อตั้งสำนักงานในกรุงเทพฯ ในปีนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา USABC ได้นำคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ เยือนประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีให้กับประเทศไทย และความสำคัญของไทยในสายตาของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ได้พบคณะนักธุรกิจสมาชิก USABC แล้วสองครั้งติดต่อกัน ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับทั้งสองฝ่าย
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมาว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้การบริหารประเทศ ต้องหยุดชะงัก ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาสร้างความสงบเรียบร้อย ทำให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพ สร้างความปรองดองในชาติเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และขอยืนยันเดินหน้าตาม Roadmap และการปฏิรูปตามที่รัฐบาลได้เคยประกาศไว้ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าโดยยึดถือหลักนิติธรรม วางรากฐานความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ และการต่างประเทศ เพื่อให้รัฐบาลต่อไปสามารถดำเนินนโยบายได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งใจแก้ไขปัญหาที่สะสมไว้มานาน ซึ่งที่ผ่านมาถูกละเลย เช่น การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการทำประมงผิดกฎหมาย โดยได้ดำเนินการออกกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมการต่อต้านการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในการจัดการกับผู้กระทำผิด ที่เกี่ยวข้องกับสื่อลามกอนาจารเด็ก รวมไปถึงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมาย รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างจริงจังกับผู้ใช้แรงงานทาส การค้ามนุษย์ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติ
สำหรับเรื่องของ IUU รัฐบาลยืนยันเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะจัดการกับการประมงผิดกฎหมาย และจะทำอย่างเต็มที่เพื่อให้สินค้าประมงจากประเทศไทยปราศจากกระบวนการที่ผิดกฎหมาย ซึ่งหวังว่า USABC และสภาหอการค้าสหรัฐฯ จะช่วยให้ข้อมูลทำความเข้าใจกับบริษัทนำเข้าสินค้าประมงสหรัฐ ฯ เล็งเห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทย
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2560 ตามขั้นตอนของ Roadmap ดังนั้น รัฐบาลจะใช้เวลาที่มีอยู่นี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศด้วยการวางรากฐานการปฏิรูปประเทศในทุกด้านให้มีความเป็นสากล พัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน วางระบบโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ และอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการปรับกฎระเบียบและข้อตกลงให้มีมาตรฐานสากล การเตรียมความพร้อมไปสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งในด้านการผลิตสินค้า การให้บริการ และการส่งเสริมการลงทุน รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากร/แรงงานฝีมือให้มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการคมนาคมขนส่งและลอจิสติกส์ให้ทันสมัย
ทั้งนี้ การปฏิรูปประเทศและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้น จะดำเนินการควบคู่ไปกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งรัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาการคอร์รัปชันอย่างจริงจังเร่งด่วน โดยรัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีตัวแทนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และ NGO เข้ามาร่วมดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง
นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายโครงการของรัฐ (คตร.) เพื่อดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้เป็นไปอย่างโปร่งใส โดยทำงานควบคู่ไปกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นอกจากนี้ รัฐบาลได้ริเริ่มนำสัญญาคุณธรรมมาใช้ในการประมูล จัดซื้อจัดจ้างโครงการของภาครัฐ เพื่อเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญภาคประชาสังคมสามารถตรวจสอบความโปร่งใส รวมทั้งการนำระบบการลงทุนการก่อสร้างภาครัฐ (CoST : Construction Sector Transparency) เข้ามาใช้ในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ให้มีการเปิดเผยข้อมูลการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ขอให้มั่นใจได้ว่าหากเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทยแล้ว การลงทุนนั้นจะมีมาตรฐาน เป็นไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
สำหรับการพัฒนาการศึกษา อันจะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีคุณภาพ สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศที่ก้าวไปข้างหน้า รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษามาร่วมกันคิด เสนอแนะแนวทางการปฏิรูปเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาในทุกระดับชั้น นับตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงอุดมศึกษา รวมทั้งระดับอาชีวะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานนอกเหนือจากการพัฒนามาตรฐานฝีมือโดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพแรงงานในภูมิภาคและในเขตเศรษฐกิจพิเศษให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจที่เข้ามาลงทุน ซึ่งหากบริษัทใดมีการฝึกอบรมและส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงสถาบันการศึกษาต่างประเทศ ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การลดหย่อนทางภาษี หรือการได้รับความอำนวยความสะดวกเป็นกรณีพิเศษซึ่งรัฐบาลจะแจ้งให้ทุกท่านรับทราบต่อไป
ทั้งนี้ หวังว่าจะมีบริษัทสหรัฐฯ และสถาบันการศึกษาสนใจเข้ามาร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มากยิ่งขึ้น เช่น บริษัท Chevron ที่ได้จัดทำโครงการ Thailand Partnership Initiative เพื่อส่งเสริมการศึกษาด้าน สะเต็ม (STEM) และอาชีวศึกษา สำหรับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจถือเป็นหัวใจสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ภาครัฐจะส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งในทุกภูมิภาค ผ่านการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) การลงทุนใน Super Cluster และการลงทุนด้านนวัตกรรม ซึ่งจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเชื่อมโยงกันในแต่ละพื้นที่ การให้สิทธิประโยชน์ในการเข้ามาลงทุนเป็นพิเศษ และการส่งเสริมให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และง่ายต่อการที่ภาคธุรกิจจะเข้ามาลงทุน
การดำเนินการดังกล่าวนี้จะควบคู่ไปกับการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่น ผสมผสานความเข้มแข็งจากภายในด้วยการสนับสนุนและพัฒนาจากภายนอกในการส่งเสริมความเข้มแข็งจากภายนอกสู่ภายใน รัฐบาลจะสร้าง Cluster ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและ Super Cluster ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีสูง เพื่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ด้านในของประเทศส่งเสริมการกระจายตัวของเขตอุตสาหกรรมและการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยกำหนดพื้นที่ภายในประเทศ 9 แห่ง (กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคใต้) เพื่อเป็นที่ตั้งของ Cluster ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น ธุรกิจการแพทย์เครื่องมือแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์โทรคมนาคม และอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอยู่เป็นทุนเดิม เช่น เกษตรแปรรูป สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ทั้งนี้ จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำที่เข้ามาทำงานในประเทศ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร) และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีกับผู้ลงทุน (เช่น พิจารณาให้ถิ่นที่อยู่ถาวรสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ) รวมถึงการพิจารณายืดอายุการเช่าที่ดิน และคิดค่าเช่าในพื้นที่ราคาพิเศษ
ขณะเดียวกัน เพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กภายในประเทศ (SMEs) สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือในเรื่องของแหล่งเงินทุน โดยมีการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ SMEs ในวงเงิน 100,000 ล้านบาท และลดภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับ SMEs จากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 รวมถึงการสนับสนุนการสร้างนักธุรกิจหน้าใหม่ผ่านกองทุนร่วมทุน และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับธุรกิจที่ตั้งใหม่ที่เป็นธุรกิจที่ใช้นวัตกรรม (มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม) เป็นระยะเวลา 5 ปี
นอกจากนี้ ภาครัฐยังให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และเกษตรกรในท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญของภาคการผลิตของไทย และเป็นแหล่งสนับสนุนในเรื่องของปัจจัยการผลิตหลักให้แก่ภาคธุรกิจ โดยได้มีการดำเนินมาตรการทั้งในเรื่องการส่งเสริมแหล่งเงินทุนและการจัดทำโครงการขนาดเล็ก ส่งเสริมธุรกิจชุมชนต่างๆ ซึ่งหากชุมชนเข้มแข็งแล้ว ก็จะเป็นกำลังสำคัญในเรื่องของ Value Chain ให้แก่ภาคธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศ ล่าสุด ธนาคารโลกจัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ของโลกในเรื่องความสะดวกในการทำธุรกิจเพื่อให้การทำธุรกิจสะดวกยิ่งขึ้นอีก รัฐบาลจึงได้กำหนดแนวทางเพื่อลดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติต่างๆ ของส่วนราชการให้ใช้ระยะเวลาสั้นลง และเป็นภาระกับผู้ประกอบการน้อยที่สุด ดังเช่น ในเรื่องการขอใบอนุญาตประกอบการ และการติดต่อกับหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ต้องผ่านหลายหน่วยงาน ภาครัฐจึงมีมาตรการที่จะปรับ One Stop Service ให้สามารถลดระยะเวลา ลดการใช้ดุลยพินิจและขั้นตอนในการต้องไปติดต่อกับหน่วยราชการหลายแห่ง ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการขณะนี้ ผลพลอยได้ด้านหนึ่งที่สำคัญในนโยบายและมาตรการของการปรับปรุงปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบให้เป็นสากลยิ่งขึ้น การยกระดับมาตรฐานแรงงาน การเอื้อประโยชน์ต่อการค้าการลงทุน ก็เพื่อเตรียมประเทศไทยให้พร้อมในกรณีที่รัฐบาลในวันข้างหน้าจะมีการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ด้วย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลยังคงเดินหน้ามุ่งสู่การเลือกตั้งและการเป็นประชาธิปไตยตามที่ได้ตั้งใจไว้ ประเทศจะขับเคลื่อนและเป็นประชาธิปไตยได้พร้อมๆ กับบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพ มีการพัฒนาคน สังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
อนึ่ง USABC เป็นองค์กรธุรกิจที่มีสมาชิกเป็นบริษัทชั้นนำที่เข้ามาลงทุนหรือทำธุรกิจกับประเทศไทยและในอาเซียน มีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และยังมีส่วนช่วยผลักดันให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ ให้ความสนใจไทยและอาเซียนอย่างสม่ำเสมอ สมาชิก USABC ครอบคลุมอุตสาหกรรมสำคัญ กลุ่มยา/เวชภัณฑ์ อาทิ Abbott, GlaxoSmithKline, Merck และ Pfizer กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/เครื่องดื่มน้ำอัดลมและอื่นๆ ได้แก่ - Brown-Forman, Diageo และ Coca-Cola กลุ่มยาสูบ - Philip Morris กลุ่มอุตสาหกรรม - Caterpillar (ก่อสร้าง), Ford Motor (รถยนต์), Guardian (กระจก) กลุ่มพลังงาน - Chevron, Conoco Phillips, General Electric และ Westinghouse กลุ่มจัดส่งด่วน (Express Delivery Service - EDS) - FedEx และ UPS กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ - Google, IBM, Oracle และ Time Warner กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา - Deloitte and Touche (ด้านภาษี การเงิน และการประกอบธุรกิจ) กลุ่มประกันภัย - Chartise (AIG) และกลุ่มบริษัทบัตรเครดิต อาทิ-Visa และ Mastercard เป็นต้น