xs
xsm
sm
md
lg

Michael Dell ซื้อ EMC ทำไม? (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไมเคิล เดลล์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเดลล์คอมพิวเตอร์
"ไมเคิล เดลล์" กลายเป็นชื่อที่โลกไอทีต้องจารึกไว้ในฐานะผู้ขับเคลื่อนดีลซื้อขายบริษัทมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำไมมหาเศรษฐีรายนี้จึงยอมจ่ายเงินและหุ้นมูลค่ามากกว่า 6.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.1 ล้านล้านบาทเพื่อควบรวมบริษัทอีเอ็มซีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทเดลล์ ทั้งที่นักวิเคราะห์ตราหน้าว่าดีลนี้จะไม่ได้มีความสำคัญถึงขนาดปฏิวัติตลาดเทคโนโลยีโลก

คำตอบที่ชัดเจนที่สุดคือความมั่นใจ อีเอ็มซีนั้นเป็นผู้ให้บริการระบบซอฟต์แวร์ด้านการจัดเก็บข้อมูลสำหรับองค์กรธุรกิจรายใหญ่ ขณะที่เดลล์เป็นแบรนด์ไอทีรายใหญ่ในตลาด ในภาพรวม ซีอีโอเดลล์ระบุในแถลงการณ์ว่าการรวมกันของเดลล์และอีเอ็มซีจะสร้างสุดยอดระบบงานไอทีสำหรับองค์กรที่จะนำพาทุกบริษัทให้เติบโตท่ามกลางโลกดิจิตอลในปัจจุบัน โดยมั่นใจว่าบริษัทใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะสามารถเจริญเติบโตในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของโลกไอทียุคหน้า ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือทั้งด้านซอฟต์แวร์ ศูนย์ข้อมูล ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบประมวลผลกลุ่มเมฆ อุปกรณ์พกพา และการรักษาความปลอดภัย

ความมั่นใจนี้ทำให้เดลล์ยอมเล่นแร่แปรธาตุ ดึงเงินจากกลุ่มทุนมากมายมาซื้อบริษัทอีเอ็มซีจนอาจทำให้เดลล์มีหนี้สินเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายรายฟันธงว่าดีลราคามหาศาลนี้จะไม่มีผลทำให้วงการไอทีเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และจะไม่ต่างอะไรกับการที่บริษัทซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลอย่างออราเคิล (Oracle) ซื้อคู่แข่งอย่างซันไมโครซิสเต็มส์ (Sun Microsystems) หรือเอชพี (Hewlett-Packard) ที่ซื้อกิจการบริษัทไอทีรายอื่นเพื่อนำเทคโนโลยีของบริษัทนั้นมาเสริมความแข็งแกร่งให้ตัวเอง

กรณีของเดลล์ นักวิเคราะห์ชี้ว่าลูกค้าเดลล์นั้นซื้อสินค้าของอีเอ็มซีอยู่แล้ว และแม้ว่าทั้งคู่จะเป็นคู่แข่งกันในตลาดระบบเก็บข้อมูลหรือสตอเรจ แต่เดลล์ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้ารายหลักหรือเมเจอร์รีเซลเลอร์ของอีเอ็มซี ทั้งหมดทั้งมวล การตัดสินใจครั้งนี้ของเดลล์ย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อคู่แข่งไม่น้อย ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยหนึ่งที่ชัดเจนของไมเคิล เดลล์

***ไมเคิล เดลล์ คือใคร?

ไมเคิล เดลล์ เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเดลล์คอมพิวเตอร์ โดยนำนามสกุลของตัวเองไปตั้งเป็นชื่อบริษัทเมื่อครั้งอายุ 31 ปี ที่หอพักในมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเท็กซัส (University of Texas) เดลล์ลาออกจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสกลางครันเพื่อทำธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์อย่างเต็มตัว

ยุครุ่งโรจน์ของเดลล์คือช่วงปี 90 แม้เดลล์จะไม่ใช่บริษัทผู้ค้าคอมพิวเตอร์พีซีรายใหญ่ที่สุด แต่ก็ถือเป็นบริษัทที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด ยอดจำหน่ายของเดลล์เพิ่มขึ้นมากกว่า 67% ในไตรมาส 2 ปี 1997 ถือเป็นตัวเลขที่เหนือกว่าคอมแพก (Compaq Computer Corporation) ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีอันดับ 1 ในยุคนั้นที่มีอัตราเติบโตเพียง 25%

บทสัมภาษณ์จากปากไมเคิล เดลล์ที่เป็นเรื่องเล่าขานมาถึงวันนี้คือถ้อยคำที่เดลล์ให้สัมภาษณ์นักข่าวในงานประชุม Gartner Symposium and ITxpo97 ครั้งนั้นนักข่าวถามเดลล์ว่าเขาจะทำอย่างไรหากต้องบริหารบริษัทแอปเปิล (Apple ) ที่มีผลประกอบการขาดทุนหลายพันล้านเหรียญ ซีอีโอเดลล์ตอบอย่างทีเล่นทีจริงว่า เขาจะปิดบริษัททิ้ง แล้วคืนเงินให้ผู้ถือหุ้นทั้งหมด

คำให้สัมภาษณ์ในวันที่เดลล์รุ่งโรจน์กว่าแอปเปิลนี้ถูกนำมารายงานผ่านสื่ออีกครั้งในปี 2011 ปีที่บริษัทเดลล์เข้าสู่ยุคตกต่ำและมีกำไรลดลง 79% ในปีเดียว บริษัทมีหนี้สูงถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงเวลานั้น ทำให้ไมเคิล เดลล์ ตัดสินใจทำตามสิ่งที่ตัวเองเคยกล่าวไว้ ด้วยการซื้อคืนหุ้นซึ่งถือเป็นการคืนเงินให้ผู้ถือหุ้น แล้วเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทตัวเองให้เป็นบริษัทเอกชน

ครั้งนั้น เดลล์ถูกรายงานว่ามีเงินสดในมือ 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนจะไปกู้เงินมาซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นด้วยราคา 2.4 หมื่นล้านเหรียญ การตัดสินใจซื้อคืนหุ้นทำให้เดลล์สามารถบริหารบริษัทได้อย่างยืดหยุ่น และยืนหยัดในวงการซอฟต์แวร์ระบบงานไอทีองค์กรได้จนมีตัวเลขหนี้สินลดลง

สำหรับครั้งนี้ มีรายงานว่าเดลล์ต้องใช้เงินจากสถาบันการเงินมากกว่า 8 แห่ง แถมยังต้องแบกรับภาระหนี้สินของทั้งอีเอ็มซีและบริษัทลูก ทั้งหมดนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่าไมเคิล เดลล์ต้องการเสริมแกร่งให้เดลล์เป็นผู้นำในตลาดซอฟต์แวร์ประมวลผลสำหรับองค์กรธุรกิจ ดังนั้น การควบรวมกับอีเอ็มซีจึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ขณะเดียวกัน ซีอีโอเดลล์ยังขึ้นชื่อเรื่องการเป็นผู้บริหารที่กล้าได้กล้าเสีย และมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการผลักดันให้เดลล์เติบโต จุดนี้ทำให้การเสนอซื้ออีเอ็มซีของเดลล์ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเมื่อเป็นการเดินหน้าลุยของไมเคิล เดลล์

***กระทบใครบ้าง

นักวิเคราะห์เชื่อว่าการตัดสินใจซื้ออีเอ็มซีของเดลล์จะมีผลกระทบ 4 ด้าน นั่นคือด้านวงการสตอเรจ ด้านการปลดพนักงาน ด้านลูกค้าของทั้ง 2 บริษัท และที่สำคัญคือด้านคู่แข่ง

ผลกระทบในวงการสตอเรจนั้นมีแนวโน้มว่าเดลล์จะมีอิทธิพลในวงการยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา เดลล์และอีเอ็มซีมีความสัมพันธ์แนบแน่นอยู่แล้ว โดยอีเอ็มซีมีรายได้จากการเป็นพันธมิตรกับเดลล์ราว 8-9% ต่อปี สำหรับเดลล์ การเป็นพันธมิตรกับอีเอ็มซีสร้างรายได้ให้เดลล์มากกว่า 50% ของรายได้จากธุรกิจสตอเรจ ทั้งหมดนี้คาดว่าเดลล์จะสามารถตัดค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสินค้ากลุ่มนี้ได้โดยที่สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น

แต่พนักงานตัวเล็กๆคาดว่าจะเป็นผู้ที่เดือดร้อนที่สุดเมื่อยักษ์ใหญ่ไอทีรวมตัวกัน อีเอ็มซีมีพนักงานมากกว่า 7 หมื่นคน ขณะที่เดลล์มีพนักงานมากกว่า 1.1 แสนคน (ตัวเลขก่อนที่เดลล์จะเปลี่ยนโครงสร้างเป็นบริษัทเอกชนในปี 2013)

ลูกค้าเดลล์และอีเอ็มซีจะมีตัวเลือกสำหรับใช้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนระบบงานของบริษัทสู่เทคโนโลยีคลาวด์ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่าการควบรวมกิจการนี้จะไม่ทำให้บริษัทใดเสียลูกค้าไป ตรงกันข้าม เดลล์จะสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ราคาจำหน่ายระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคย

จุดนี้ทำให้การควบรวมนี้มีผลต่อคู่แข่งอย่างเอชพีและไอบีเอ็ม (IBM) นักวิเคราะห์เชื่อว่าการควบรวมนี้เป็นข่าวร้ายของทั้ง 2 บริษัทเนื่องจากอีเอ็มซีจะทำให้เดลล์ขยายตัวไกลเกินกว่าตลาดธุรกิจรายย่อยหรือเอสเอ็มบี สู่ตลาดองค์กรรายใหญ่ที่เอชพีเป็นเจ้าตลาดอยู่

นอกจากเอชพีและไอบีเอ็ม ซิสโก้ก็เป็นอีกรายที่เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากการรวมตัวของเดลล์และอีเอ็มซี รวมถึงผู้ค้าที่เน้นองค์กรรายเล็กกว่าอย่างหัวเว่ย (Huawei) ก็จะได้ลิ้มรสการแข่งขันที่สูงขึ้นเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น