ตามดู 6 มติ ป.ป.ช.ฟันข้าราชการ-ตำรวจ-ทหาร-นักการเมืองท้องถิ่น-ผู้พิพากษา-พนักงานแบงก์รัฐ ทั้งร่ำรวยผิดปกติ-ผิดมาตรา 157 สั่งปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหามิชอบ-ซ้อมผู้ต้องสงสัยจนตาย-ใช้อำนาจบาตรใหญ่กักขังผู้ใต้บังคับบัญชา-ทุจริตยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินเท็จ -เบียดบังเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว
วันนี้ (21 ก.ย.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการประชุมครั้งที่ 545 - 13/2557 เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 57 มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายสามารถ ใจสมุทร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 สงขลา ร่ำรวยผิดปกติ และมีคำสั่งให้นายสามารถ ใจสมุทร แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตามแบบแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 79 รวมทั้งมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 นั้น
คณะอนุกรรมการไต่สวนได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นายสามารถ ใจสมุทร มีทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 4 รายการ รวมมูลค่า 113,311,730 บาท ประกอบด้วย
1.หุ้นกู้ด้อยสิทธิธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นเงินจำนวน 700,000 บาท
2.สลากออมสินพิเศษ ธนาคารออมสิน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 107,772,000 บาท
3.ที่ดิน โรงเรือน และสิ่งปลูกสร้างอื่น รวมมูลค่า 3,549,730 บาท
4.ยานพาหนะ จำนวน 1 คัน มูลค่า 1,290,000 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 650 - 22/2558 เมื่อวันที่ 26 มี.ค.58 แล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 9 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของอนุกรรมการไต่สวนฝ่ายเสียงข้างมากว่า นายสามารถ ใจสมุทร ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ รวมมูลค่า 113,311,730 บาท
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินของ นายสามารถ ใจสมุทร ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งปัจจุบันอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งให้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสงขลา และสำนักงานอัยการจังหวัดสงขลาได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลดังกล่าวแล้ว
นายสรรเสริญกล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูล นายเตชชยันตี มีเพชรอัฐมงคล หรือนายโชติกะ เพชรเลื่อน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดชลบุรี โดย นายเตชชยันตีมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง กรณีนำเอกสารคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งแรกที่มีคำสั่งไม่อนุญาตมาพิจารณา และมีคำสั่งใหม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ต้องหา แต่ปรากฏว่าสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากการเป็นข้าราชการตุลาการในการกระทำความผิดนี้แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องส่งเรื่องให้ประธานคณะกรรมการตุลาการพิจารณาดำเนินการลงโทษซ้ำอีก แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ประธานคณะกรรมการตุลาการทราบแล้ว และมีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 158 และ 185 จึงได้ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาแล้วต่อไปแล้ว
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูล ร.ต.สิริเขตต์ วาณิชบำรุง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยนายทหารกิจการพลเรือน หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ร่วมกันทำร้ายร่างกาย ผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อความไม่สงบ ที่อยู่ในความควบคุมจนเสียชีวิต โดย ร.ต.สิริเขตต์ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง จึงได้ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยแล้ว และมีมูลความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123 จึงได้ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไปยัง อสส.เพื่อดำเนินคดีอาญาแล้วต่อไปแล้ว
ส่วนความคืบหน้าคดีทุจริต และความผิดในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีทุจริตและความผิดในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดและได้ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อลงโทษทางวินัย หรือส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีทางอาญา หรือเสนอคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อวินิจฉัยแล้วแต่กรณี ดังนี้
1. ที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกกล่าวหา พ.ต.ท.เสน่ห์ เสถียรพงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ มีข้อกล่าวหาเรื่องลงโทษกักขังผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดวินัย โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามระเบียบฯ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. : พันตำรวจโท เสน่ห์ เสถียรพงศ์ มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง จึงได้ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไปยัง ผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยต่อไปแล้ว
2. ที่ จ.ราชบุรี ผู้ถูกกล่าวหา นางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฎ นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี มีข้อกล่าวหาเรื่อง จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ กรณีเข้ารับตำแหน่ง ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. : ให้เสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย ให้นางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฎ พ้นจากตำแหน่งและห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยและขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119 ซึ่งได้เสนอคำร้องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยต่อไปแล้ว
3. ที่ จ.มหาสารคาม ผู้ถูกกล่าวหา นางนวลจันทร์ วิไลแก้ว หรือวงษาสืบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพนักงานการเงิน 7 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขากุดรัง มีข้อกล่าวหาเรื่อง อาศัยโอกาสที่ปฏิบัติหน้าที่กรรมการตรวจนับเงินเบียดบังเงินของธนาคารฯ ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. : นางนวลจันทร์ วิไลแก้ว หรือวงษาสืบ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง จึงได้ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยแล้วและมีมูลความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และมาตรา 11 และฐานปลอมเอกสารสิทธิ ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และ 268 จึงได้ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไปแล้ว