xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ปัดกลืนน้ำลาย ชี้ สปท.ไร้อำนาจผ่าน รธน.จึงร่วม ดักอย่าร่างแบบเดิม-กปปส.เก่าเอาด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” เผย สปท.ใครร่วมก็ได้ เหตุไม่มีอำนาจอนุมัติ รธน. ปัดเปลี่ยนจุดยืน ดักไม่เชื่อว่าพรรคส่งคนเข้าไปจะเป็นข้ออ้างห้ามวิจารณ์ ย้ำต้องมีเสรีภาพที่สุจริต ชี้โรดแมปช้าเร็วขึ้นอยู่ กรธ.ใหม่ แนะคงสิ่งดีในร่างเก่า แก้สิ่งที่มีปัญหากฎหมายลูกต้องมีความพอดี เลี่ยงเขียนสิ่งที่เป็นดุลอำนาจหลัก ฝากคำนึงถึง ปชช.ที่จะให้ผ่านไม่ผ่าน มูลนิธิมวลมหา ปชช.หนุน ส่งคนร่วม สปท. ลั่นเดินหน้าปฏิรูปต่อ

วันนี้ (16 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีจะให้มีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าไปร่วมเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศว่า การทำหน้าที่ของสภาขับเคลื่อนฯแตกต่างจาก สปช. เพราะไม่มีอำนาจในเรื่องการอนุมัติรัฐธรรมนูญ เป็นแค่การขับเคลื่อนการปฏิรูป มีบทบาทในการรวบรวมคัดกรองความคิดที่เสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปเพื่อส่งต่อให้ผู้มีอำนาจ เช่น จัดลำดับความสำคัญว่าต้องปรับปรุงกฎหมายอะไรบ้าง ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่ว่าใครก็เข้าไปร่วมได้ เพราะต้องการให้สังคมต้องการมีส่วนร่วมอยู่แล้ว อีกทั้งในแง่การเมืองไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

“ผมไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน เพราะตอนที่ไม่ให้นักการเมืองไปร่วมเป็น สปช.ก็พูดขัดว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากมีอำนาจในการอนุมัติรัฐธรรมนูญ เท่ากับผู้เล่นจะเป็นผู้ไปอนุมัติกติกาเอง เป็นเรื่องไม่สมควร แต่กรณีสภาขับเคลื่อนฯ แตกต่างกัน อีกทั้งคนที่จะเข้าไปก็ไม่ใช่ตัวแทนพรรค เนื่องจากพรรคไม่สามารถประชุมได้ แต่ถ้ามีการถามความเห็นผมว่ามีสมาชิกคนไหนสนใจประเด็นปฏิรูปผมก็ให้ชื่อได้ ส่วนจะได้รับการแต่งตั้งหรือไม่ผมไม่ทราบ และคนที่ได้รับการแต่งตั้งจะรับหรือไม่ อยู่ที่การตัดสินใจของบุคคลนั้น ทั้งนี้ไม่เชื่อว่าหากพรรคการเมืองเข้าสู่กระบวนการนี้แล้วจะทำให้ถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อห้ามวิจารณ์ เพราะประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิ์มีส่วนร่วมในเรื่องรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป จะผูกขาดที่สภาขับเคลื่อนฯ หรือกรรมการยกร่างฯ ไม่ได้ ดังนั้น การที่จะมาบอกว่าเข้ามาแล้วห้ามพูด หรือถ้าไม่มาก็ห้ามพูดคงไม่ได้ เพียงแต่การแสดงความเห็นต้องอยู่บนพื้นฐานความสุจริตใจ และสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำลายความมั่นคง” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า แม้จะมีสมาชิกของพรรคเข้าไปเป็นกรรมการในสภาขับเคลื่อนก็ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะแสดงความคิดเห็นไม่ได้ เพราะถ้าจะมีการหาข้ออ้างเพื่อปิดปากจริงๆ ก็อ้างได้อีกว่าไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการไม่มีสิทธิ์พูด แต่ตนถือหลักเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิของทุกคน แต่ต้องไม่ใช่เพื่อบ่อนทำลายหรือใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น ส่วนการที่คนของพรรคไปอยู่ร่วมในสภาขับเคลื่อนฯ ที่ไม่มีอำนาจจะมีประโยชน์อะไรนั้น ตนเห็นว่าเป็นเวทีในการแสดงความเห็น และถ้าเป็นสมาชิกพรรคเข้าไปก็ต้องยืนยันเรื่องการกระจายอำนาจ การปฏิรูปตำรวจ แต่คงคาดหวังว่าจะได้เป็นเสียงข้างมากไม่ได้เพราะไม่ทราบ แต่สามารถใช้เวทีดังกล่าวแสดงจุดยืนในฐานะนักการเมืองได้ แม้ว่าที่ผ่านมาข้อเสนของ สปช.หลายเรื่องจะไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลก็ตาม คนที่มีอำนาจต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเอง แต่คนที่ไปแสดงความเห็นไม่ว่าจะในหรือนอกสภาล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น เพราะการระดมความเห็นจากสังคมล้วนเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปสำเร็จ ตนไม่คิดว่าการที่นักการเมืองเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการจะกลายเป็นเพียงแต่ไม้ประดับ หรือความชอบธรรมให้ คสช. เพราะความรับผิดชอบในการปฏิรูปกฎหมายเป็นของ สนช. ส่วนอะไรที่เกี่ยวกับการบริหารก็เป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี แต่สิ่งที่สมาชิกสภาขับเคลื่อนต้องรับผิดชอบคือจุดยืนของตัวเอง

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะมีการปรับระยะเวลาในแผนโรดแมปจาก 20 เดือนให้เร็วขึ้นนั้น นายอภิสิทธิ์เห็นว่า การพูดเรื่อง 20 เดือนก็จะเอามาจากบทบัญญัติในกฎหมาย ที่เขียนระยะเวลาว่าไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ จึงเป็นกรอบเวลาสูงสุด แต่เราไม่ควรพูดล่วงหน้า เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับ 21 คนที่กำลังจะเข้ามาว่าจะวางกรอบการทำงานอย่างไร เช่น จะหยิบร่างเดิมมาพิจารณาเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหาก็ใช้เวลาไม่นาน ทั้งหมดต้องดูตามสาระเป็นตัวตั้ง โดยตนสนับสนุนให้คงบทบัญญัติที่ดีในร่างรัฐธรรมนูญเดิมไว้ แต่บทบัญญัติใดที่เป็นปัญหาก็ต้องนำมาปรับปรุง ทั้งนี้ที่ผ่านมากรรมาธิการยกร่างฯชุดก่อนก็วางแนวทางที่จะเขียนรัฐธรรมนูญไปพร้อมกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องมีความพอดี เพราะกฎหมายลูก ถ้าไปทำก่อนหรือทำพร้อมกับรัฐธรรมนูญ โดยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเขียนอะไร ก็เป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกัน คนที่ร่างรัฐธรรมนูญอาจเห็นว่าไม่สามารถเขียนทุกอย่างในรัฐธรรมนูญได้ จึงกังวลว่าถ้าไม่มีส่วนในการเขียนกฎหมายลูก คนที่มาทำต่ออาจไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น 21 คนต้องกำหนดแนวทางการทำงานและเปิดกว้างให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพราะในที่สุดต้องผ่านประชามติจากประชาชน

“ผมคิดว่า 21 คน ควรคิดถึงผู้ที่จะเป็นผู้อนุมัติรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะไปฟังใครถ้าประชาชนไม่อนุมัติก็ไม่มีประโยชน์ จึงของฝากทั้ง 21 คนว่าต้องร่างรัฐธรรมนูญบนความรับชอบต่อประชาชน ทั้งนี้ผมเห็นว่าบางครั้งการถามเรื่องการเขียนกฎหมายลูกแบบลอยๆ โดยยังไม่เห็นเรื่องหาสาระ เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ แต่ในรัฐธรรมนูญต้องเขียนให้ชัดเจนในเรื่องที่จำเป็น เช่น อำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ต้องระบุให้ชัดในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ไปใส่ไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าคิดง่ายๆ ว่าเป็นรายละเอียด กลัวรัฐธรรมนูญยาวไปจึงไม่เขียน ต้องคำนึงด้วยว่าสถานะของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีความแตกต่างกัน เพราะรัฐธรรมนูญแก้ยากกว่า แต่ถ้าเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญรัฐบาลที่เข้ามาสามารถแก้ไขได้ง่าย ดังนั้น สิ่งที่เป็นดุลอำนาจต้องหลักเลี่ยง อย่าไปกำหนดในกฎหมายลูกเพราะจะทำให้รัฐบาลใช้อำนาจเพื่อเปลี่ยนดุลอำนาจ เช่น คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง ผมคิดว่าอยากให้รัฐธรรมนูญสั้น แต่อย่าเอามาเหนืออะไรที่เป็นสาระสำคัญต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ส่วนกรณีคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ ครม.ส่วนใหญ่จะให้ไปบัญญัติในกฎหมายลูกจะเป็นแนวทางที่ถูกนำมาใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนั้นจบไปแล้ว และร่างฯที่แล้วก็ไม่ผ่าน จึงเป็นบทเรียนให้กับทุกฝ่าย ถ้าหากยังทำเหมือนเดิมจะผ่านได้อย่างไร จึงขอให้ไปดูในส่วนที่มีปัญหาและเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดการยอมรับ แต่ถ้าคิดว่าจะเอาให้เหมือนเดิมแล้วให้ผ่าน จะยิ่งเกิดความยุ่งยากมากขึ้น

ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ ให้พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ทุกภาคส่วนร่วมเป็น สปท.ได้ว่า ยังไม่ทราบท่าทีของ คสช. แต่ถ้าเป็นจริงตามข่าวคงเป็นความหวังดีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ที่จะให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างมีความรับผิดชอบ มูลนิธิฯ สนับสนุนแนวทางนี้ เห็นว่าทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือ ในส่วนของมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นตัวแทน กปปส.คงจะพิจารณาถ้ามีการติดต่อมา ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกันถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด ขอยืนยันว่ามูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ จะเดินหน้าสานต่อการปฏิรูปตามเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชน และจะให้ความร่วมมือสนับสนุนรัฐบาล องค์กรต่างๆ ร่วมไปถึงประชาชนคนไทย ผลักดันการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งวันนี้ก็ทำหน้าที่ในฐานะองค์กรที่เป็นตัวแทนประชาชนนำเสนอแนวทางการปฏิรูป รวมไปถึงดำเนินการจัดโครงการที่เป็นรูปธรรมตัวอย่างของการปฏิรูปตามเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชนอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น