xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปต้องเดินไป... ด้วยหัวใจที่ปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์รวยด้วยรัก...รวยด้วยหุ้น …
โดย มนตรี ศรไพศาล

เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 135 เสียง ต่อ 105 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง โดยเมื่อสมาชิกมีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หลังจากนี้จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการ 21 คนมาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 180 วัน ก่อนการนำเสนอประชาชนเพื่อทำประชามติต่อไป

ผมได้รับฟังความเห็นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงความเป็นห่วงจากพรรคการเมืองใหญ่ๆ ทั้ง 2 พรรค ว่ามีบางประเด็นที่อาจจะทำให้เป็นประชาธิปไตยไม่พอเพียง และ ดุลอำนาจอาจไม่เหมาะสม

เมื่อมีการชี้แจงว่ามีข้อจำกัดหลายเรื่องที่ทำให้เชื่อว่า “การลงประชามติ” จะไม่ผ่าน

... ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต้องใช้เสียงประชามติกึ่งหนึ่งของ “ผู้มีสิทธิออกเสียง” ไม่ใช่ “ผู้ใช้สิทธิออกเสียง” ก็ทำให้จำนวนที่ต้องได้รับสูงมากๆ

... เมื่อ 2 พรรคการเมืองใหญ่ส่งสัญญาณว่า จะไม่สนับสนุน โอกาสจะผ่านก็น้อยมากๆ

จึงเข้าใจได้ว่า การมีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ใน สปช.นั้น จะช่วยประหยัดเวลา และประหยัดงบประมาณเพิ่มเติมไปได้

อย่างไรก็ตาม ในฐานะของผู้ชอบเสียดายของ ก็จะเสียดายหากร่างที่ผ่านไปจะทิ้งเสียเปล่า แต่ผมเชื่อว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้นได้รวบรวมความคิด หาทางออกมามากพอสมควร จึงควรที่จะได้หาส่วนที่ดีเพื่อใช้เดินหน้าต่อ และหาส่วนที่เป็นอุปสรรคเพื่อหาหนทางแก้ไขต่อไป

เรื่องรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่จะให้ “ทุกข้อ” ถูกใจ “ทุกคน” เราจึงต้องมองจากภาพรวมเสมอว่ามีถูกใจมากกว่าไม่ถูกใจพอสมควร ก็ควรเดินหน้าได้

ที่สำคัญ พี่น้องไทยควรกลับมาย้อนนึกว่า ทำไมเราจึงแสวงหาการ “ปฏิรูป”?

เพราะเราเบื่อ และ ทนไม่ได้กับ การทุจริต คอร์รัปชัน ใช้การเมืองเป็นการทำธุรกิจ มิใช่หรือ?

ดังนั้น เรื่องการปฏิรูปนั้นคงจะได้ผลน้อย หากเราไม่ปฏิรูปที่หัวใจคนไทยทั้งชาติ

1. เราต้องไม่ยอมรับ “การทุจริต” ต้องให้ผู้มีอำนาจ ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้องรู้จักอับอาย ตระหนักว่า “การโกง เป็น ความบาป” สังคมต้องไม่ยอมรับ

สื่อมวลชนต้องร่วมกันปกป้องความชอบธรรมในสังคม ช่วยต่อต้านการโกงเพื่อทดแทนบุญคุณแผ่นดินแม่ของเรา

ค่านิยมอันตรายที่ว่า “การทุจริตยอมรับได้ ถ้าประชาชนได้ประโยชน์” ต้องลดลง จนหมดไป เพราะเป็นความเท็จ

คล้ายกับจะบอกว่า “วัยรุ่นเสพยาเสพติดยอมรับได้ ถ้าวัยรุ่นเติบโต” ก็เป็นเท็จ

... เพราะวัยรุ่นย่อมเติบโตตามวัย แต่ยาเสพติดทำให้โตช้าลง และโตอย่างเป็นภัยต่อสังคมได้

... เช่นกัน ประชาชนย่อมได้ประโยชน์จากภาษีของประชาชนที่ช่วยกันจ่ายอยู่แล้ว แต่การทุจริตทำให้ประโยชน์น้อยลง หรือทำให้รั่วไหล จนไม่มีเงินทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่างหาก

2. เราต้องไม่ยอมรับว่า “โกงยอมรับได้ ถ้าแบ่งด้วย” เพราะเมื่อเรารู้ว่า “การโกง” เป็นความบาป

ทางพุทธ ก็ผิดศีลข้อ 2 “อทินาทานา เวรมณี” ห้ามลักขโมย

ทางคริสต์ ก็ผิดบัญญัติ 10 ประการ ห้ามลักขโมย

การโกง จึงเป็นความบาปอย่างชัดเจน และการ “โกงแล้วแบ่ง” ก็คือการ “บาปแล้วแบ่งบาป” ด้วย

3. เราต้องตัดสินความถูกผิดอย่างถูกต้อง จริงจัง ตาม “หลักฐาน” และ “เหตุผล” จริงๆ แล้ว การปฏิรูปเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน อาจไม่ใช่เป็นการแก้ไขกติกา แต่เป็นการบังคับใช้กติกาต่างหาก

ในคดีต่างๆ ที่นักการเมืองใช้อำนาจโดยมิชอบเอื้อประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้องก็เห็นการเอาผิดได้เป็นระยะๆ ถึงขั้นความผิดอาญาต้องจำจองก็มี การยึดทรัพย์ก็มี

การยกฟ้องคดีเขาพระวิหารก็สะท้อนการให้ความยุติธรรม เพราะในช่วงนั้นสภาผู้แทนฯ ก็ได้ทำหน้าที่โดยฝ่ายค้านที่เข้มแข็งทักท้วงเรื่องนี้ไว้อย่างหนักแน่น นำไปสู่การแก้ไขการทำงานให้ถูกต้องดีขึ้นแล้ว และไทยจึงไม่ได้เสียอธิปไตยบนแผ่นดินไทยไป

ดังนั้น การตัดสินคดีต่างๆ ที่ให้ความเป็นธรรม พิจารณารอบคอบทั้ง “หลักฐาน” และ “เหตุผล” ก็จึงทำให้ และจะทำให้การตัดสินคดีเป็นไปด้วยความถูกต้องชอบธรรม ยุติธรรม และเมตตาธรรมด้วย

ระหว่างนี้ ในทางเทคนิคก็น่าจะได้แก้ไขไปด้วยว่า การทำประชามติต้องได้รับเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิออกเสียง และถ้าจะให้ชัดก็น่าจะระบุไว้เลยว่า ผู้ใช้สิทธิออกเสียง ไม่นับรวมผู้ลงคะแนนงดออกเสียงด้วย จะได้ไม่เป็นอุปสรรคในการทำประชามติในขั้นต่อไป

ผมหวังว่า การปฏิรูปจะเดินหน้าไป ทั้งในสภาฯ และในหัวใจคนไทยทั้งแผ่นดินครับ

มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)


กำลังโหลดความคิดเห็น