xs
xsm
sm
md
lg

สนช.พร้อมร่วมร่าง รธน. - “จ้อน” แนะ พท.-ปชป.-กปปส.-นปช.เป็น “สปท.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพีระศักดิ์ พอจิต
“พีระศักดิ์” เห็นด้วย ส่ง สนช.ร่วมทีมร่าง รธน. ติงเปิดทางนักการเมืองไม่เหมาะ “อลงกรณ์” โพสต์จี้ พท.-ปชป.-กปปส.-นปช.ร่วมคณะ สปท. ด้านทีมกฎหมาย ปชป.เชื่อนักการเมืองไม่ร่วม สปท.แน่ ส่วนโฆษกมูลนิธิเทือกแนะ กรธ.ยึดหลักปฏิรูป-สปท.ต้องกล้าตัดสินใจ ย้ำโรดแมป 20 เดือนเพียงพอ

วันนี้ (14 ก.ย.) นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)คนที่ 2 กล่าวถึงกระแสข่าวมีข้อเสนอให้สมาชิก สนช.1-2 คนเข้าไปร่วมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าคงต้องหารือกับคณะรัฐมนตรี หากมีการร้องขอให้ สนช.เข้าไปทำหน้าที่มากกว่าจำนวนดังกล่าวก็มีความพร้อมที่จะส่ง สนช.เข้าไปทำหน้าที่ เนื่องจากสมาชิก สนช.ล้วนมีความสามารถ ขณะที่คุณสมบัติของ กรธ.นั้น ตนคิดว่าไม่ควรมีนักการเมือง เพราะจะทำให้เกิดข้อครหาได้ ดังนั้นนักการเมืองควรให้ความเห็นจะเหมาะสมกว่า

ขณะเดียวกัน การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ควรนำข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานมาเป็นที่ตั้ง เพราะระยะเวลาในการทำงานมีเพียง 6 เดือนเท่านั้น ส่วนประเด็นที่มีข้อครหาในประเด็นทางการเมืองก็ควรรับฟังความเห็นของประชาชนมาเป็นตัดสินใจก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี ขณะที่คุณสมบัติของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็อยากให้คัดสรรบุคคลที่มีความสามารถด้านการปฏิรูปเป็นที่ตั้ง อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมร่วม คสช. ครม.และสนช.ในวันที่ 15 กันยายนนี้ คิดว่าน่าจะมีการหารือถึงการตั้งแต่งบุคคลเข้าไปเป็น กรธ.กับ สปท.ด้วย

อีกด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ถึงเวลาที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย กับ 2 กลุ่ม คือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ควรมาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ และขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ ประชาชนคงอยากเห็นพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองใหญ่ หันหน้ามาร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญและปฏิรูปประเทศมากกว่าการหันหลังเหมือนที่ผ่านมา ดังนั้นการที่พรรคการเมืองปฏิเสธการเข้ามาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่านักกีฬาไม่ควรเขียนกติกาเอง เพราะเกรงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน คงฟังไม่ขึ้น เพราะในอดีตทั้ง 2 พรรคเคยจัดทำรัฐธรรมนูญและลงมติรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ ปี 50 ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการบัญญัติให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) นั้น ตนเคยพูดว่าที่ผ่านมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในมาตรา 181-182 มีการเอาการเลือกตั้งแบบโอเพนลิสต์ออกแล้ว และยังเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญน่าจะผ่านการลงมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และผ่านการประชามติได้ แต่พอมาบัญญัติเอา คปป.เข้ามา ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ เห็นได้จากกระบวนการของกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นลักษณะลักหลับ เพราะประกาศในช่วงโค้งสุดท้าย และประกาศโดยไม่มีสัญญาณใดๆ แทน ถ้าหากมีการบัญญัติกันก่อนหน้านี้นั้นก็คงจะมีการวิจารณ์กันว่าเรื่องนี้จะมีผลได้หรือผลเสียอย่างไร ดังนั้นก็ควรนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกคว่ำมาปรับแก้ให้เหมาะสม โดยแก้ในส่วนของ คปป.ออกไป และแก้ไขในมาตราที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ตามหลักการยึดรัฐธรรมนูญปี 2550 เชื่อว่าวันเดียวก็เสร็จ แล้ว ก็ดึงข้อดีของรัฐธรรมนูญ 40-50 มา เอามาผนวกเท่าที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557

ส่วนกรณีนายกฯ พร้อมที่จะให้นักการเมืองเข้าร่วม สปท.ด้วยนั้น นายวิรัตน์กล่าวว่า ตนไม่รู้ว่านักการเมืองคิดอย่างไร แต่เท่าที่ดูกระแสของพรรคหลัก คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย นั้น ก็เลือกจะอยู่ในตำแหน่งของผู้ชมที่คอยติติงสิ่งต่างๆ แต่จะไม่เข้าไปเป็นผู้เล่นในกรณีนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ตนเชื่อว่าจะไม่มีใครรับการทาบทามแน่

ด้าน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการมูลนิธิมวลมหาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนของ กรธ.21 คนนั้น ไม่ควรให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าเนื้อหา เพราะที่ผ่านมาทุกคนเข้าใจปัญหาดีอยู่แล้ว

ในส่วนของมูลนิธิฯ เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ควรด้อยไปกว่าร่างรัฐธรรมนูญเดิม และควรมี 2 หลักสำคัญ คือ 1. การมีหลักประกันการปฏิรูปประเทศที่ควรมีช่องทางสำหรับการปฏิรูป และ 2. ควรมีกลไกสำหรับการแก้ปัญหาในอนาคต เพื่อไม่ให้ประเทศกลับมาสู่วังวนเดิมๆ อีก

“สปท.ต้องเป็นบุคคลที่มีความกล้าตัดสินใจ เพราะที่ผ่านมา สปช.ก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ แต่ยังไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นใจในการปฏิรูปได้ เชื่อว่าเวลา 20 เดือนตามโรดแมปของ คสช.จะเพียงพอสำหรับการปฏิรูปในระยะสั้น โดยก่อนที่จะมีการเลือกตั้งก็ควรจะมีการเริ่มต้นปฏิรูปในเรื่องสำคัญที่ประชาชนคาดหวัง”

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.)ในฐานะอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระบวนการสรรหา สปท. ว่าการสานต่อการปฏิรูปตามที่ สปช.ได้วางแผนไว้นั้น ควรให้ทุกฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่เฉพาะแต่ข้าราชการเท่านั้น ถึงแม้ว่าข้าราชการจะมีส่วนที่จะช่วยงานปฏิรูปได้ แต่บางครั้งความเป็นราชการ หรือรัฐ ที่ยังมีแนวคิดแบบเก่า ไม่สามารถจะขับเคลื่อนแผนงานปฏิรูปได้ ส่วนตัวมองว่าแนวคิดที่จะสานต่อการปฏิรูปต้องประกอบด้วยประชาชนหลากหลายภาคส่วน เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมช่วยสนับสนุนงานปฏิรูปให้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ตนไม่คิดว่าการสรรหาสมาชิก สปท.ที่มาจากฝั่งราชการ จะเป็นความพยายามค้ำอำนาจ หรือสถานภาพของ คสช.ให้มั่นคง แข็งแรง แต่ถ้าเป็นจริงตามนี้ก็เชื่อว่าจะไม่มีส่วนใดที่สามารถสร้างสมดุลของอำนาจได้อย่างแน่นอน เพราะจะเกิดความขัดแย้ง

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าอดีต สปช.บางคนวิ่งเต้นของตำแหน่ง สปท.นั้น ตนไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่หากเป็นข้อเท็จจริง อดีต สปช.จะต่างอะไรกับนักการเมืองที่ถูก สปช.วิจารณ์ว่ามีแต่เรื่องของการวิ่งเต้นเพื่อหาประโยชน์ให้ตัวเอง ทั้งนี้การวิ่งเต้นของอดีต สปช.บางคนนั้น จะเป็นผลสะท้อนไปยังผู้ที่เลือกบุคคลผู้นั้นเข้าทำหน้าที่ด้วยเช่นกัน และในปัจจุบันบ้านเมืองอยู่ในภาวะลำบาก ไม่อยากให้บ้านเมืองเดินไปในทางที่แย่ ดังนั้นการแก้ปัญหาที่เผชิญเราต้องการคนที่มีวิสัยทัศน์ คนจริงจัง คนที่แก้ปัญหาได้ มองประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่มองเรื่องขอตำแหน่ง หรือคิดถึงพวกพ้องตนเองเท่านั้น ซึ่งยังเชื่อว่า คสช.จะพิจารณาเลือกบุคคลที่เมื่อเปิดชื่อแล้วจะได้รับเสียงชื่นชมจากสังคมเพื่อเข้ามาทำหน้าที่


ทวิตเตอร์ นายอลงกรณ์ พลบุตร
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว
กำลังโหลดความคิดเห็น